วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จะทำธุรกิจอะไรดี

คนหลายคนพอนึกอยากจะทำธุรกิจ หรือ คิดถึงธุรกิจ ก็มักจะคิดตามกระแสคนอื่น มีอยู่ยุคหนึ่งคนนิยมกินชามุก ก็มีคนแห่ไปเปิดชามุกกันเต็มไปหมด เมื่อเร็วๆนี้คนสนใจเรื่องสปา ก็มีคนแห่เปิดสปากันมากมาย สุดท้ายหากไม่แน่จริงก็เจ๊งกันเห็นๆ


เมื่อถามพนักงานบริษัทที่อยากออกมาทำธุรกิจส่วนตัว มีไม่น้อยที่มักจะตอบว่า อยากเปิดร้านอาหาร หรือ อยากเปิดร้านกาแฟ หรืออยากเปิดร้านเสื้อผ้า เป็นต้น โดยมักจะคิดอ่านเอาจากความรู้สึกว่า เคยเห็นร้านอาหารที่ทานประจำขายดี คิดอะไรไม่ออกก็เอาอย่างเขาบ้างง่ายดี ครั้นพอเปิดขึ้นมาต้องทำอะไรต่อมิอะไรมากมายชนิดที่คิดไม่ถึง เช่น ต้องตื่นแต่เช้าตรู่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเพื่อไปซื้ออาหารสด ผักสด หมูสด เพื่อให้ได้ราคาถูก เพราะเป็นเวลาที่ของสดมาส่งหน้าตลาดสด อีกทั้งต้องกลับมาเตรียมล้างหั่น ตุ๋น กว่าจะเสร็จก็สายๆเข้าไปแล้วเกือบหมดแรง ขายเสร็จก็ต้องเก็บกวาด เช็ดล้าง หมดแรงพอดี นอนได้ไม่นานก็ต้องตื่นแต่เช้าอีก เปิดร้านอีก ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง อาหารที่ต้องต้มตลอดเวลาเตาแก๊สก็ต้องเปิดทิ้งไว้อุ่นอาหารตลอดวันเงินทั้งนั้น ที่ขายได้ก็ต้องเป็นภาระเก็บกวาดล้างจานทำความสะอาดร้าน ที่ขายไม่ได้หลายวันก็บูดเน่าต้องทิ้งไปให้เสียดาย วันไหนขายไม่ดีก็ต้องกลุ้มใจกับลูกจ้างที่นั่งเฉยๆแต่ค่าจ้างต้องจ่ายทุกวัน วันไหนขายดีก็เหนื่อยจนขาเป็นตะคริว ครั้นพอทำไปได้สักพักก็เซ้งต่อแบบขาดทุนไปเพราะบอกว่า ขายไม่ดี หรือ ขายดีพอควรแต่ไม่ไหว เหนื่อย ไม่ชอบ เป็นต้น

ผมจึงอยากแนะนำให้กับนักธุรกิจ หรือ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวว่า การเลือกธุรกิจที่จะทำควรมีกลยุทธ์หรือมีหลักการ จะได้ไม่สะเปะสะปะ ซึ่งหลักการที่ดีควรเป็นดังนี้

1. คนหาความรัก ความชอบของตัวเอง

เริ่มต้นจากการค้นหาตัวเองว่าตัวเองนั้นมีความรักความชอบในกิจกรรมประเภทใดเป็นพิเศษ ซึ่งความรักหรือความชอบเป็นพิเศษนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณอยากทำสิ่งที่ชอบได้ยาวนานเหมือนไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่รู้เบื่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกธุรกิจที่จะทำเพราะหากคุณได้ทำในสิ่งที่คุณชอบเป็นหลัก คุณก็จะมีความสุขในทุกวันที่ทำ มีความใส่ใจในทุกรายละเอียด และยินดีทำต่อไปแม้ว่าในบางช่วงจะไม่มีกำไร แต่เมื่อทำไปด้วยใจรัก ก็จะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในที่สุด

ถามตนเองว่า “มีงานอะไรบ้างที่คุณรัก และยินดีที่จะทำแม้ว่าจะไม่มีรายได้ตอบแทนก็ตาม คุณก็มีความสุขและยินดีที่ได้ทำ”

ในขั้นตอนนี้อย่าเพิ่งไปกังวลว่าสิ่งที่คุณชอบ หรือ กิจกรรมที่คุณชอบมันจะเป็นธุรกิจได้หรือไม่ได้ หรือ หากเป็นได้จะมีเงินไปทำหรือไม่มี เรื่องนี้บางครั้งคุณอาจจะมองยังไม่ออกว่าจะเป็นธุรกิจได้อย่างไร แต่มีทางเป็นไปได้ครับ คิดและเขียนสิ่งที่รักที่ชอบออกมาหลายๆอย่างก่อน เช่น

คุณสมหญิงมีลูกเล็ก 2 คน เป็นคนใจเย็น ชอบออกสังคมเป็นพิเศษ พอส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จก็มักจะไปอยู่ที่สโมสร ไปร้านเสริมสวย ไปพูดคุยกับเพื่อนฝูง มีความสุขกับการดูแลลูกเป็นพิเศษ ลูกจะไปไหนต้องไปส่งเองรับเอง จึงสรุปเรื่องความชอบ หรือคุณสมบัติส่วนตัวออกมาได้ว่า

• ใจเย็น ชอบสังคม คุยสนุก เป็นที่ชื่นชอบของคู่สนทนา

• ติดลูก ชอบที่จะได้ดูแลในทุกรายละเอียดของลูก รักเด็ก

• รักสวยรักงามชอบการแต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดีสวยงาม


2. ค้นหาธุรกิจที่อยู่ในความสนใจ

มองหาธุรกิจที่ตนเองคิดว่าน่าสนใจ ในขั้นตอนนี้อาจเขียนตัวเลือกออกมาก่อนทั้งธุรกิจที่อยู่ในกระแส และ ไม่อยู่ในกระแสแต่ตนเองสนใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าเพิ่งไปกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ได้ในตอนนี้ คิดแค่ว่าสนใจธุรกิจอะไรบ้างเป็นพอ เขียนออกมาหลายๆธุรกิจ

อย่างในกรณีตัวอย่างคุณสมหญิง อาจมีความสนใจธุรกิจต่อไปนี้

• สปา

• ร้านเสริมสวย ทำผม แต่งหน้า

• โรงเรียนอนุบาล

• ธุรกิจขายตรง


3. จับคู่ระหว่างความชอบส่วนตัว และ ธุรกิจ

ทำการลงรายละเอียดว่าในธุรกิจที่ตนเองสนใจนั้น จะใช้ความชอบ ทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัวที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจที่สนใจแต่ละอย่างได้หรือไม่ อย่างไร

ตัวอย่าง คุณสมหญิง ทำการจับคู่ดังนี้

ลำดับ ธุรกิจ ความชอบ ความสามารถพิเศษ

ลำดับ 1: สปา ชอบความสวยความงาม

ลำดับ 2: ร้านเสริมสวย ชอบความสวยความงาม ได้พูดคุยกับคน

ลำดับ 3: โรงเรียนอนุบาล ชอบดูแลเด็ก ใจเย็นกับเด็ก

ลำดับ 4: ธุรกิจขายตรง ใจเย็น ชอบคุยกับคน อิสระไม่ต้องเฝ้าร้าน


4. ลงรายละเอียดเพื่อคัดเลือกธุรกิจที่ไม่ใช่ออกไปก่อน

ขั้นตอนนี้ก็คือการลงในรายละเอียดของแต่ละธุรกิจเพื่อคัดธุรกิจที่ “ไม่ใช่” ออกไปก่อน การลงรายละเอียด ประกอบด้วย L + 5 M + Oในทุกธุรกิจ คือ

Location: ทำเลที่ตั้ง

Money : เงินทุน

Man : บุคลากร

Machine : เครื่องจักรหรืออุปกรณ์

Material : วัตถุดิบ

Marketing : การตลาด

Others : อื่นๆ เช่น ค่าภาษีป้าย ค่าขออนุญาต ค่าเก็บขยะ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ

Location: เรื่องทำเลที่ตั้ง ผมให้เป็นอันดับแรก เพราะส่วนใหญ่แล้วมักเป็นต้นทุนสูงที่สุดในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องอาศัยหน้าร้านในการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ให้คิดดูว่าจะใช้ที่ไหนเป็นร้านค้า หรือสำนักงาน หากว่าเริ่มธุรกิจโดยใช้ที่บ้านได้จะดีที่สุดเพราะประหยัดเรื่องค่าเช่าได้ส่วนหนึ่ง แต่หากใช้ที่บ้านไม่ได้ เช่น อยู่คอนโด หรือ บ้านอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องหาเช่าที่ทำธุรกิจ หรือจะไปเช่าพื้นที่ห้าง มีค่าเช่าเท่าไหร่

หากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยหน้าร้าน คือมีหน้าร้านเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับลูกค้าด้วยแล้ว ค่าใช้จ่ายเรื่องทำเลที่ตั้งของร้านค้าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในธุรกิจ จนอาจเป็นตัวตัดสินได้เลยว่าธุรกิจนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หรือไม่สำหรับคุณ หากเฉพาะค่าเช่าร้าน ค่าตกแต่งก็เกิน 50%-60% ของงบลงทุน ก็ทำใจเถอะว่าไม่เหมาะตัดออกจากรายการซะ

Money: เรื่องเงินทุนนั้น ให้เปิดสมุดบัญชีทุกเล่มดู ว่าคุณมีเงินสำหรับลงทุนได้สักกี่มากน้อย โดยกันเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในครอบครัวไว้ก่อนให้เพียงพอสำหรับ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจส่วนใหญ่แล้ว 6 เดือนแรกยังล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าหากว่าพอกันเงินสำรองของครอบครัวไว้แล้วก็ไม่มีเหลือทำธุรกิจได้เลย แสดงว่า คุณอาจยังไม่เหมาะกับการออกจากงานประจำมาทำธุรกิจ หากอยากทำควรทำควบคู่กับงานประจำไปก่อน ต่อให้มีเงินทุนมากพอผมก็ยังแนะนำว่าทำควบคู่กับงานประจำไปก่อนดีที่สุด เพราะการเริ่มต้นธุรกิจมีความเสี่ยงสูง มีงานประจำไว้จะได้อุ่นใจ หากธุรกิจไม่เป็นไปดังหวัง

เมื่อตรวจสอบเงินทุนแล้ว หากคิดว่าไม่เพียงพอ ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะไปหาเงินทุนเพิ่มได้จากที่ใด แต่ให้คิดในขนาดของธุรกิจที่เล็กที่สุดก่อนนะครับ ไม่ใช่คิดจะลงทุนแบบอลังการงานสร้างทั้งๆที่เงินไม่มีหรือเป็นเงินกู้ เพราะจะหมดตัวเสียก่อน ตัดธุรกิจที่กำลังเงินไม่เพียงพอที่จะทำได้อย่างแน่นอนออกไปก่อน


Man: เรื่องบุคลากร หรือ พนักงาน ควรดูว่าการเริ่มต้นธุรกิจสามารถเริ่มด้วยตัวคนเดียวหรือ ให้เฉพาะคนในครอบครัวช่วยได้หรือไม่ หากไม่ได้ ต้องจ้างคนเพิ่มกี่คน เงินเดือนเท่าไหร่ หากต้องจ่ายเงินเดือน 6-12 เดือน โดยยังไม่มีรายได้เข้ามามากพอ ธุรกิจจะอยู่ได้ไหม หากคำนวณดูแล้วว่าอยู่ไม่ได้ก็ตัดธุรกิจนั้นออกไปจากรายการ


Machine: เรื่องเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ก็ควรประเมินดูว่าจะต้องลงทุนด้านเครื่องจักร เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ประมาณเท่าใด หากมากกว่าเงินทุนที่มีก็ตัดออกไป


Material: เรื่องวัตถุดิบ ประเมินว่าจะหาวัตถุดิบมาผลิตได้ง่ายหรือยาก ต้องสำรองเงินทุนหมุนเวียนค่าซื้อวัตถุดิบมากแค่ไหนในแต่ละเดือน


Marketing: การลงทุนด้านการตลาด ก็เป็นงบลงทุนที่ต้องกันไว้ส่วนหนึ่งครับ ผมเห็นนักธุรกิจมือใหม่หลายๆราย ลงครบทุกอย่างแต่ไม่ได้สำรองเงินทุนไว้มากเพียงพอสำหรับการทำตลาด แล้วลูกค้าที่ไหนจะรู้จัก สุดท้ายก็นั่งตบยุงไปวันๆ ไม่เกินปีก็ต้องเลิกกิจการกันไป การสำรองเงินไว้สำหรับทำกิจกรรมทางการตลาดจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่เพิ่มเริ่มต้น ยังไม่มีใครรู้จัก การทำตลาดก็ต้องใช้เงินทุนสูงไปด้วย เมื่อลูกค้ารู้จักดีแล้วงบการตลาดจึงจะค่อยๆลดลง

ในกรณีตัวอย่างคุณสมหญิง เมื่อกันเงินสำรอง 6 เดือนแล้ว สมมติว่ามีเงินเก็บพร้อมลงทุนอยู่ประมาณ 2 ล้านบาท

พิจารณาดูแล้วว่าการเปิดโรงเรียนอนุบาลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเฉพาะแค่ค่าอาคารกับอุปกรณ์ก็เกิน 2 ล้านเข้าไปแล้ว อีกทั้งชอบดูแลลูกตนเองแต่ไม่ใช่ลูกของคนอื่นทุกๆคน จึงตัดทางเลือกนี้ออกไปก่อนได้เลย

คุณสมหญิง ได้คิดต่อมาเรื่องการเปิดสปา คิดดูแล้วมีบ้านเดี่ยวติดถนนใหญ่แห่งหนึ่ง เจ้าของให้เช่าในราคาเดือนละ 2 หมื่นบาท จ่ายค่าประกันการชำรุด 3 เดือน รวม 4 เดือน คือ 80,000 บาท ในครั้งแรก

สำรองค่าเช่าไว้ล่วงหน้าอีก 3 เดือนหลังจากเริ่มกิจการ คือ 60,000 บาท ค่าตกแต่งคาดว่าประมาณ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 640,000 บาท

เรื่องบุคลากรต้องใช้คนอย่างน้อย 3 คน ตนเองเป็นผู้จัดการ มีพนักงานนวดสปา 2 คน โดยสลับกันเป็นพนักงานต้อนรับไปด้วยในตัว

เงินเดือนคนละ 8,000 บาท x 3 คน = 24,000 บาท

สำรองเงินเดือน 6 เดือน = 144,000 บาท

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ คาดว่าจะมีเตียงนวด 3 เตียง เครื่องพ่นไอน้ำ 3 ตัว และอุปกรณ์อื่นๆ รวมแล้วประมาณ 50,000 บาท

วัตถุดิบ คือ ครีมนวดตัว สบู่ ลูกประคบ และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 20,000 บาท ในการเริ่มต้น

เมื่อรวมเงินทั้งหมดแล้ว คาดว่าเบื้องต้นต้องใช้เงิน ดังนี้

บุคลากร = 144,000 บาท

อุปกรณ์ = 50,000 บาท

วัตถุดิบ = 20,000 บาท

ค่าเช่าเดือนแรกและค่าตกแต่ง= 640,000 บาท

ค่าการตลาด = 100,000 บาท

อื่นๆ = 100,000 บาท

รวมเงิน 1,054,000 บาท

ในเมื่อคุณสมหญิงมีเงินสำรองสำหรับลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 1 ล้านบาท อย่างนี้การเปิดสปานั้นพอมีทางเป็นไปได้ จึงเก็บทางเลือกนี้ไว้ก่อน

คุณสมหญิงก็คิดต่อเรื่อง ร้านเสริมสวย ซึ่งตนเองสามารถทำได้เองโดยอาจไปเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรระยะสั้น แล้วจ้างพนักงานมาช่วยงาน 1 คน ค่าใช้จ่ายอื่นๆรวมแล้วก็ถูกว่าการเปิดสปา จึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อีกทางเลือกหนึ่ง

คิดเรื่องสุดท้ายคือ ธุรกิจขายตรง ซึ่งไม่ต้องใช้ทำเล เริ่มจากตัวคนเดียวไม่ต้องมีลูกจ้าง เครื่องมือก็ไม่มาก สินค้าหรือวัตถุดิบสามารถเริ่มจากสินค้าที่ซื้อใช้เอง การตลาดก็ใช้วิธีปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆก็มีแต่ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่าบัตรเข้างานประชุม แล้วก็ยังไม่ต้องนั่งเฝ้าร้าน หรือ สามารถทำควบคู่กับงานหลักได้ ว่าแล้วคุณสมหญิงก็บรรจุทางเลือกที่จะทำธุรกิจขายตรงไว้ในแผนด้วย

5. สำรวจตลาด กลั่นกรอง และคัดเลือก

เมื่อเลือกพิจารณาแล้วก็เห็นว่าน่าจะเหลือธุรกิจที่เป็นไปได้จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆแล้ว ก็มาถึงการกลั่นกรองขั้นสุดท้าย คือ สำรวจตลาดหรือวิจัยว่า ธุรกิจที่ตนเองเลือกไว้ไม่กี่รายการนั้น มีตัวใดที่มีตลาดรองรับอยู่อย่างแน่นอนที่สุด

ไม่ควรทำธุรกิจที่สำรวจตลาดแล้วไม่มีตลาดรองรับที่มากเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะชอบเป็นพิเศษก็ตาม เพราะ หากคุณชอบ แต่ไม่มีลูกค้าที่ชอบซื้อของคุณ คุณก็ไปไม่รอดในธุรกิจอยู่ดี เอาที่คุณชอบรองๆลงมา แต่มีลูกค้าแน่ๆดีกว่า

อย่าคิดว่าจะทำแต่เฉพาะธุรกิจที่ตนเองชอบที่สุดเท่านั้น เพราะในความเป็นธุรกิจนั้นมันมีความแตกต่างจากการทำงานอดิเรกมากมายนัก งานอดิเรกทำเล่นๆพอรู้สึกเหนื่อยก็หยุด อยากทำก็ทำ อยากพักก็พัก การลงทุนก็น้อย กำหนดเส้นตายสำหรับส่งของก็ไม่มี

แต่การที่จะทำธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเลือกที่ชอบอย่างไรก็ตาม คุณก็จะไม่ได้ทำเฉพาะส่วนที่ชอบเท่านั้น คุณยังจะต้องทำในส่วนที่ไม่ชอบด้วย เช่น การหาเงินทุนหมุนเวียน การคอยดูแลพนักงานไม่ให้อู้งาน การหาวัตถุดิบ การออกหาตลาดหาลูกค้า การผลิตให้ทันกำหนดส่ง มิฉะนั้นจะถูกปรับ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญและชี้เป็นชี้ตายในธุรกิจได้พอๆกัน แต่อย่างน้อยคุณก็ได้พบธุรกิจที่มีส่วนที่คุณชอบ แล้วส่วนนั้นก็เป็น Major key success factor หรือ ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จทางธุรกิจด้วย ก็ถือว่ามาถูกทางแล้วครับ

กลับมาที่ตัวอย่างของคุณสมหญิง หลังจากกลั่นกรองแล้วพบว่ามีธุรกิจที่เป็นไปได้สำหรับเธออยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ธุรกิจสปา ร้านเสริมสวย และ ธุรกิจขายตรง เธอจึงจัดการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะทำอะไรดี เพราะเงินทุน และ เวลาของเธอมีจำกัด เธอคงไม่สามารถเลือกทำทั้งสปา และร้านเสริมสวยได้

เธอเริ่มทำวิจัยตลาดง่ายๆด้วยการไปเที่ยวสอบถามคนที่อยู่บนถนนสายที่เธอจะเปิดร้าน และในเขตอำเภอของเธอ ว่า หากมีร้านสปา หรือ ร้านเสริมสวย มาเปิดบริเวณนี้คนเหล่านั้นจะมาใช้บริการหรือไม่ และ พร้อมที่จะจ่ายที่ราคาประมาณเท่าไหร่ หลังจากถามอยู่หลายสัปดาห์ ได้ความว่า หากเปิดร้านเสริมสวยไปใช้บริการแน่นอน มีแนวโน้มมากกว่าการมาใช้บริการสปา

เธอจึงไปค้นคว้าต่อที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโดยดูจากการวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัย ในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจสปา พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของธุรกิจสปานั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไม่ใช่คนไทย อีกทั้งนักท่องเที่ยวนั้นจะมีจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ตามฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งในภาษาท่องเที่ยวเขาเรียกว่า High Season และ Low Season แม้ว่าในช่วง High จะมีลูกค้ามากจนอาจเต็มตลอดทั้งวัน แต่ช่วง Low นั้นก็จะมีลูกค้าน้อยมาก อีกทั้งเธอยังมีลูกเล็กอีก 2 คนต้องดูแล จะทำธุรกิจที่ยอดขายขึ้นๆลงๆมากเกินไปคงไม่เหมาะ สมหญิงจึงตัดสินใจว่าจะตัดธุรกิจสปาออกจากทางเลือกของเธอ เหลือเพียง “ธุรกิจเสริมสวย” ที่เธอคิดว่าน่าจะทำมาหากินได้กับคนไทยที่อยู่ตลอดแนวถนนที่เธอเปิดร้านและในพื้นที่อำเภอของเธอ และเธอก็มีความสุขกับการแต่งหน้าแต่งตาให้ตัวเอง และผู้อื่นอยู่แล้ว อีกทั้งยังจะเลือกเปิดร้านหลังจากส่งลูกไปโรงเรียน ตอนเย็นก็ยังสามารถแวะไปรับลูกได้

เหลืออีกหนึ่งธุรกิจ คือ “ธุรกิจขายตรง” สมหญิงถูกญาติชักชวนให้ลองศึกษาธุรกิจขายตรงรายใหญ่แห่งหนึ่งดู เนื่องจากเธอไม่ใช่คนที่ปิดกั้นตัวเองและไม่ด่วนสรุปในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จึงยินดีไปศึกษา แล้วพบว่าบริษัทมีความเชื่อถือได้ เปิดมานาน สินค้ามีคุณภาพดี รับประกันความพอใจ ไม่พอใจสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ ไม่มีความเสี่ยง ธุรกิจนี้มีผู้คนทำประสบความสำเร็จมากมาย มีมูลค่าธุรกิจนับหมื่นล้านบาท แสดงว่ามีตลาดรองรับแน่นอน

แต่เธอก็ติดว่าจะต้องไปง้อคนหรือเปล่า กลัวว่าคนอื่นจะรำคาญ แล้วธุรกิจนี้อิ่มตัวหรือยัง แต่ก็คิดได้ว่าธุรกิจอื่นๆก็ต้องง้อลูกค้าทุกธุรกิจนั่นแหละ อีกทั้งธุรกิจขายตรงผู้มุ่งหวังที่มีอัธยาศัยแย่มากก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เราเลือกทำงานและบริการเฉพาะกับคนที่มีอัธยาศัยดีกับเราก็ได้ ไม่สร้างความรำคาญให้ใคร ใครสนใจก็เป็นลูกค้า ใครไม่สนใจก็ปล่อยเขาไป อีกทั้งยังมีเวลายืดหยุ่นในการทำงานแล้วแต่สะดวก จึงเหมาะกับคนที่มีงานประจำทำอยู่หรือมีธุรกิจอยู่แล้วอย่างสมหญิง

ส่วนเรื่องอิ่มตัวหรือยังพบว่าธุรกิจนี้มีคนสมัครแล้วแต่ไม่ได้จริงจังกับธุรกิจหรือเป็นเพียงลูกค้าซึ่งมีหมดอายุสมาชิกทุกวัน และมีคนที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าอีกมากมาย มองจากอัตราการเติบโตของธุรกิจก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแสดงว่าตลาดยังมีอยู่อีกมาก การเริ่มต้นก็ใช้เงินทุนไม่มากนัก ความเสี่ยงจึงต่ำ และมีคนเต็มใจสอนให้เธอ ในขณะที่ธุรกิจอื่นหาคนสอนให้นั้นยากเต็มที ทำให้สมหญิงเข้าใจมากขึ้น

เธอจึงเลือกไว้เป็นหนึ่งทางเลือกสำรองไว้ อย่างน้อยหากธุรกิจหลักที่เธอเลือกไปได้ไม่ถึงฝันก็ยังมีธุรกิจที่สองรองรับ อีกทั้งทักษะในด้านการตลาดธุรกิจขายตรง ยังสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจหลักของเธอได้

สรุปสุดท้าย คุณสมหญิง จึงตัดสินใจเปิดร้านเสริมสวย และ ทำธุรกิจขายตรงควบคู่กันไปด้วย อย่างมุ่งมั่นตั้งใจและมีความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ คือ แต่งหน้า แต่งตัวสวยๆ พบปะ พูดคุยกับผู้คน มีโอกาสได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด โดยมีพนักงานช่วยดูแลร้านในเวลาที่คุณสมหญิงไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ธุรกิจขายตรงก็ใช้เวลาช่วงหัวค่ำ 1-2 ชั่วโมงไปพบลูกค้า เธอจัดให้วันพุธเป็นวันหยุดเพื่อที่เธอจะได้ไปฟิตเนสตอนบ่าย และตอนเย็นก็พาครอบครัวไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

คุณสมหญิง ได้พบธุรกิจที่ทำให้เธอมีความสุข สนุกกับการทำงาน อย่างที่เธอต้องการ และธุรกิจของเธอก็เติบโตไปได้ดี

ตัวอย่างของคุณสมหญิงที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้คุณเลือกตามอย่างคุณสมหญิงทุกคนนะครับ ผมเพียงแต่ต้องการจะยกตัวอย่างวิธีการเลือกธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีหลักการให้เห็นเป็นรูปธรรม


มาถึงตอนนี้ อาจมีคนสงสัยว่า แล้วถ้าใจรักแต่ไม่ชำนาญ ทำไม่เป็น จะนำมาจับคู่ได้ไหม เช่น บางคนชอบสังสรรค์ พูดคุย เรียกว่าวงสนทนาไม่เคยเงียบหากมีคุณอยู่ อีกทั้งผู้ฟังก็สนุกสนานไปกับเรื่องราวที่คุณพูด การศึกษาก็ดี จึงอยากเปิดสถาบันกวดวิชา แต่ไม่เคยพูดในที่สาธารณะกับคนจำนวนมากๆซักที

ขอแนะนำว่า อย่าคิดว่าทำไม่ได้ครับ ไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด ขอเพียงแต่คุณชอบงานด้านนี้ ก็ไปเรียนไปฝึกฝนเพิ่มเติม เรียนให้รู้ทักษะที่จำเป็นทุกด้านแม้จะไม่รู้มากก่อนแต่เชื่อมั่นว่าทำได้ แล้วก็ลุย

ผู้หญิงบางคนชอบให้คนอื่นแต่งหน้าเสริมสวยให้ หรือแต่งหน้าตัวเองเก่ง ใจชอบด้านนี้ แต่ยังไม่เคยแต่งให้คนอื่น จึงไม่มั่นใจว่าจะเปิดร้านเสริมสวยได้หรือไม่ ผมก็อยากแนะนำว่า ถ้ามันเป็นสิ่งที่คุณแน่ใจว่าคุณมีความสุข และมีตลาดรองรับ คุณก็เพียงแต่ไปเติมเต็มทักษะที่ขาดไปให้สมบูรณ์ขึ้นแค่นั้นเอง หาหลักสูตรของโรงเรียนสอนเสริมสวย แต่งหน้า ทำผม ดีๆสักแห่ง แล้วก็ไปตั้งใจเรียนอย่างมีความสุข จบมาก็มาทำธุรกิจที่ตนเองชอบ บางเรื่องยังทำไม่เป็นก็ขยันทำฝึกฝนบ่อยๆ เดี๋ยวก็เป็นเอง

จำไว้ครับ เริ่มจากสิ่งที่ตนเองรัก

แต่สำหรับบางคนเป็นไปไม่ได้เพราะต้องดูแลธุรกิจที่มีอยู่แล้วตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ หรือ เป็นผู้บริหารในธุรกิจของคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว จะเลือกจากสิ่งที่ตนชอบก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ทีทางเลือก

ผมอยากจะแนะนำว่า “ก็ชอบสิ่งที่คุณเป็น”

หมายความว่าให้ลองมองหาดูซิว่าในธุรกิจที่คุณทำอยู่แล้วนั้น มีกิจกรรมใดบ้างในธุรกิจที่คุณชอบเป็นพิเศษจากหลายๆกิจกรรมที่มีอยู่ เช่น การขาย การตลาด การเงิน การจัดการ การผลิต คุณก็เพียงแต่ให้น้ำหนักไปยังกิจกรรมที่คุณมีความสุขมากเป็นพิเศษ แล้วทำงานส่วนนั้นให้ดีที่สุด งานส่วนอื่นๆก็หาคนที่มีความชำนาญมาดูแลแทน

ยกตัวอย่าง บริษัทไมโครซอร์ฟ คุณบิล เกตต์ เริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบคือการพัฒนาซอร์ฟแวร์ ทำไปนานวัน กิจการใหญ่โต ตนเองเป็นเจ้าของก็ต้องเป็นประธานกรรมการบริหาร ต้องไปทำงานบริหารมากกว่าการนั่งเขียนโปรแกรมพัฒนาซอร์ฟแวร์ ทำแล้วรู้สึกไม่มีความสุข อยากกลับไปหาสิ่งที่ชอบคือการพัฒนาโปรแกรม จึงวางมือด้านบริหารโดยหามืออาชีพด้านการบริหารมาทำงานแทน ส่วนตัวเองกลับไปทำงานพัฒนาโปรแกรมซึ่งเป็นงานที่ตัวเองชอบ ตัวเองก็รอรับรายงานจากผู้บริหารก็พอ ตนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่แล้ว ธุรกิจก็ไม่หายไปไหน มีแต่จะโตวันโตคืน เพราะทุกคนได้ทำในส่วนงานที่ตนเองมีความสุขนั่นเอง

อีกแนวคิดหนึ่ง คือ อยากให้คุณเริ่มมองกว้างออกไปกว่าเฉพาะธุรกิจที่ตนเองชอบเท่านั้นนะครับ ธุรกิจที่คุณมองด้วยวิสัยทัศน์อันแหลมคมว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตไกล แม้ไม่ชอบ ก็อย่าละเลยหรือมองข้ามครับ บางคนเคยทำแต่สิ่งที่ตนเองชอบๆแต่ไม่เคยรวยกับเขาซักที ก็ลองมาทำธุรกิจที่ตนเองอาจไม่ชอบในตอนแรกอาจทำให้คุณร่ำรวยขึ้นมาก็ได้นะครับ เพราะทำไปทำมาเกิดชอบขึ้นมาก็เห็นบ่อย เพราะตอนแรกพิจารณาเพียงผิวเผินแล้วไม่สนใน แต่ด้วยเห็นเป็นโอกาสดี พอศึกษาเจาะลึก ได้ลองทำจริงๆจังๆเกิดชอบมากจนถอนตัวไม่ขึ้นก็มี นักธุรกิจชั้นนำเขาจะพัฒนาไปถึงขั้นมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่จำเป็นต้องชอบมาก่อน แต่มีศักยภาพสูง แล้วเข้าไปเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ โดยอาจดูแลเฉพาะส่วนงานที่ตัวเองชอบ หามืออาชีพมาทำงานแทนในแต่ละส่วนงาน แล้วตนเองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่ำรวยสบายไป

ไม่ว่าคุณจะเลือกธุรกิจด้วยหลักการของความชอบเป็นหลัก หรือ ดูศักยภาพของธุรกิจเป็นหลักก็ตาม ผมยังอยากแนะนำว่า ให้เริ่มทำทีละ 1- 2 ธุรกิจพอ อย่าใจใหญ่ทำทุกอย่าง มิฉะนั้น อาจเจ๊งทุกอย่าง

คนเราส่วนใหญ่แล้ว ไม่สามารถทำทุกเรื่องในเวลาเดียวกันให้ดีได้ เนื่องจากทรัพยากรเงินทอง แรงงาน และเวลามีจำกัด จึงควรให้ความสนใจจดจ่อกับธุรกิจหลักเพียง 1 – 2 ธุรกิจก็พอ อย่าได้อยากทำทุกอย่างแล้วทำไม่ได้ดีซักอย่าง เพราะเวลาก็ถูกกระจาย พลังงานก็ถูกกระจาย สุดท้ายไม่เกิดผลดี เสียเวลา เสียพลังงานเปล่าๆ

การกระจายความเสี่ยงนั้นทำได้ครับ คือ ทำ 2 ธุรกิจควบคู่กันไป โดยทั้งสองธุรกิจควรเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมกันได้ในตัว หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นธุรกิจที่ขัดกันเอง

อย่าไปนึกเปรียบเทียบกับนักธุรกิจใหญ่ที่มีธุรกิจในเครือเป็นสิบเป็นร้อยบริษัท ทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบนะครับ เขาขยายสู่ธุรกิจอื่นๆตอนธุรกิจแรกเริ่มได้เติบใหญ่แล้ว มีเงินทุนมหาศาล มีคนเก่งในสังกัดมากมายจึงทำได้ แต่ในตอนเริ่มต้นทำธุรกิจทุกคนเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆเพียง 1 หรือ 2 อย่างแค่นั้นเองครับ

ตัวอย่างคุณสมหญิงข้างต้นที่เลือกทำธุรกิจร้านเสริมสวย กับธุรกิจขายตรง ก็เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมกันในตัว ร้านเสริมสวยทำให้รู้จักคนมากขึ้น ธุรกิจขายตรงบริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ก็มีเครื่องสำอางเป็นสินค้าหลักและมีกิจกรรมแต่งหน้าเสริมสวยด้วยเพียงแต่ห้ามวางขายหน้าร้าน แต่ต้องแนะนำแบบบุคคลต่อบุคคล เวลากลางวันก็เปิดร้านเสริมสวย เวลาหัวค่ำก็ไปหาลูกค้าถึงบ้าน ได้ทั้งตั้งรับ ทั้งรุก ส่งเสริมกันเองทั้งสองธุรกิจ อีกทั้งมีสินค้าอื่นๆนอกจากเครื่องสำอางให้ทำตลาดได้กว้างขึ้นไป เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น