วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการพูดต่อหน้าชุมชน


ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล

                ในสังคมไทย หลายคนมีบุคลิกขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น ทำให้ไม่เคยได้มีโอกาสฝึกหัด ส่งผลต่อมาในอาชีพการงาน เมื่อมีโอกาสสัมภาษณ์งานก็ไม่กล้าพูด อธิบายไม่เป็น แม้แต่เรื่องประวัติของตนเอง ทำให้พลาดงานดีๆไป เมื่อได้งานจากบางแห่งทำ ก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก อธิบายไม่เป็น ส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานอีก
                บางคนเป็นคนที่ทำงานภาคปฏิบัติเก่งมาก แต่ไม่มีความสามารถในการอธิบายความให้คนอื่นเข้าใจ ทำให้เจ้านายไม่ทราบ หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ทำ มองไม่เห็นผลงาน เพราะฟังการนำเสนองานแล้วไม่รู้เรื่อง บางคนไม่กล้านำเสนอเอง แต่ให้เพื่อนนำเสนอแทน จึงเป็นเหตุให้การงานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
                ผมพบเจอคนแบบที่กล่าวมาข้างต้นเยอะมาก บ้างก็ตัดพ้อต่อว่าชะตาชีวิตที่ทำดีแต่ไม่มีใครเห็น ผมว่าทำดีแต่อธิบายให้เจ้านายเข้าใจงานที่ทำไม่เป็นมากกว่า บ้างก็เหน็บแนมเพื่อนร่วมงานว่าทำงานไม่เก่งแต่ประจบเจ้านายเก่งจึงเลื่อนขั้นเร็ว ผมว่าเขาอาจจะอธิบายให้เจ้านายเข้าใจเรื่องราวต่างๆในการงานได้เก่งกว่าเขาจึงก้าวหน้าได้เร็วกว่า บางคนทำธุรกิจส่วนตัวแต่หาลูกค้าไม่ค่อยได้ เพราะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจไม่ได้ว่า เพราะอะไรจึงควรมาซื้อหรือใช้บริการของคุณแทนที่จะไปหาคู่แข่ง
                หลายคนเมื่อมีโอกาสพูดต่อหน้าชุมชนเพื่อแสดงความสามารถ เพื่ออธิบายความ เพื่อนำเสนอความคิด หรือ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ กลับปรากฏอาการมือเย็น ตัวสั่น เสียงสั่น ลืมเรื่องที่เตรียมมาพูดจนหมด หรือ พูดตะกุกตะกัก ไม่เป็นเรื่องเป็นราว คนฟังฟังไม่รู้เรื่อง บางคนอาการเหมือนยืนบ่นกับตัวเองอยู่หน้าเวทีซะงั้น
                ผมจึงอยากแนะนำสำหรับผู้มีปัญหาดังกล่าวข้างต้น และอยากพัฒนาตนเองให้ เป็นผู้พูดที่มีความสามารถในการพูดหน้าที่ชุมชน ดังนี้
1.       ฝึกพูดเล่าเรื่องประวัติของตนเอง เพราะเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนย่อมรู้ตัวเองดี น่าจะเล่าได้ดีที่สุด อีกทั้งเวลาสัมภาษณ์งานทุกที่ต้องถาม เวลาเริ่มงานหรือเข้าสังคม เพื่อนใหม่ต้องถาม การฝึกไว้ก่อนย่อมจะดีที่สุด ใหม่ๆก็เขียนเรื่องราวประวัติชีวิตคุณลงกระดาษหนึ่งหน้า A4 โดยสรุปให้ได้ภายใน 1 หน้ากระดาษ เพราะจะใช้เวลาพูดได้ประมาณ 5 นาที กำลังดี จากนั้น อ่านดูดังๆ อัดเสียงไว้ก็ได้ แล้วลองเปิดฟังเสียงตัวเองดู หลายๆครั้ง จนแน่ใจว่าจำได้ ก็ลองยืนพูดหน้ากระจกที่เห็นตัวเองเต็มตัวดู อยู่คนเดียวไม่ต้องอายใคร ซ้อมให้เต็มที่
2.       เมื่อฝึกส่วนตัวจนคล่องแล้วก็ลองเล่าให้คนในครอบครัวฟังดู เพราะคุณคุ้นเคยกันดีจะได้ไม่เขินอายจนเกินไป พูดโดยไม่ต้องอ่านโพยนะครับ เพราะเป็นการฝึกให้ประติดประต่อเรื่องราวได้เองจากความจำโดยไม่ต้องอ่าน ซึ่งจะดูเป็นธรรมชาติ แล้วให้คนในครอบครัวช่วยวิจารณ์ ชี้แนะ เพราะจะได้ไม่โกรธกัน นำไปปรับปรุงแก้ไข
3.       เมื่อเล่าเรื่องตนเองได้แล้ว ก็ไปฝึกเล่าเรื่องอื่นๆที่ตนเองสนใจ ซึ่งอาจเป็นเนื้อหาในหนังสือที่อ่านมาแล้วชอบ หรือ ภาพยนตร์ที่ดูมาแล้วชอบ ก็นำมาเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ พ่อแม่อาจลองเล่านิทานให้ลูกเล็กฟัง  เด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจลองเล่าเรื่องการงาน หรือ หนังสนุก ให้พ่อแม่ หรือ เพื่อนๆในกลุ่มฟัง เป็นการฝึกหัด ทำบ่อยๆเดี๋ยวชินเอง
4.       ท่ายืนที่ถูกต้องคือ อย่ายืนขาถ่าง โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะจะดูไม่สวย แต่ก็ไม่เท้าชิดแถวตรงแบบทหาร เพราะจะดูแข็งกระด้างเกินไปในการพูด ผู้หญิงยืนส้นเท้าชิดให้ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย เท้าซ้ายขยับไปด้านหลังเล็กน้อย  ผู้ชายยืนให้ปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย ส้นเท้าห่างกันเล็กน้อย
5.       มือเป็นอวัยวะที่ผู้ฝึกพูดมือใหม่มักมีปัญหา เพราะรู้สึกเกะกะไปหมดไม่รู้จะไว้ตรงไหนเวลาอยู่หน้าผู้คน ผมแนะนำว่าให้ห้อยแขนส่วนบนสบายๆอย่าเกรง แล้วยกแขนส่วนล่างขึ้นให้มืออยู่ระดับสะดือ ทำท่าเหมือนถือลูกบอลที่มองไม่เห็นอยู่กลางอากาศ บริเวณหน้าท้อง เพื่อจะได้ขยับมือประกอบการพูดได้ถนัด
6.       ตามองตรงไปยังผู้ฟัง แต่ไม่จับจ้องอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ควรมองไปกว้างๆให้ทั่ว ซ้ายที ขวาที ตรงกลางที แถวหน้าที แถวหลังที เป็นต้น ใหม่ๆอาจรู้สึกสะดูดและดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวชินเอง
7.       ในความคิดของนักพูดต่อหน้าชุมชน อย่าคิดว่าผู้ฟังจะพอใจเราไหมหนอ หรือ กังวลว่าจะพูดได้ดีไหม อย่าให้มีความคิดกังวลในด้านลบอยู่ในสมอง เพราะจะทำให้ประหม่า พูดไม่ออก ให้คิดเสียว่า เมื่อเขาให้เรามาพูด ก็ต้องฟัง เรามีหน้าที่พูดถ่ายทอดความคิด ถ่ายทอดข้อมูล ให้ดีที่สุด ผู้ฟังจะตัดสินอย่างไรเป็นเรื่องของเขา อย่ากังวลไปเกินกว่าเหตุ
8.       อย่ามองและกังวลไปมากสำหรับผู้ฟังบางคนที่ไม่สนใจฟังและมัวกระซิบกระซาบคุยกันเอง เพราะจะทำให้เราในฐานะผู้ที่กำลังยืนพูดอยู่หน้ากลุ่มเกิดความสับสนกังวล ให้เน้นมองไปยังผู้ฟังที่กำลังแสดงความสนใจตั้งใจฟัง จะทำให้มีกำลังใจมากกว่า
9.       พูดด้วยเสียงดังฟังชัด แต่ไม่ถึงกับตะโกน เพียงแต่ให้แน่ใจว่าผู้ที่ฟังอยู่หลังสุดได้ยินชัดเจนดีก็พอ หากกลุ่มใหญ่ก็ต้องใช้เครื่องขยายเสียงช่วย
10.   ใช้น้ำเสียงสูงบ้างต่ำบ้าง ตามเนื้อหาที่พูด ไม่ควรเป็นเสียงโทนเดียว เพราะจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อได้ง่าย การใช้น้ำเสียงแปรเปลี่ยนไปตามเนื้อหาและให้เป็นธรรมชาติ จะทำให้การฟังสนุก
11.    ยกไม้ยกมือประกอบการพูดบ้างตามความเหมาะสม ไม่ยืนมือแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ ขยับมือและแขนไปตามเนื้อหา เช่น ใหญ่ก็ทำมือเหมือนยกของใหญ่ เล็กก็ทำมือเหมือนหยิบของเล็ก สูงก็ยกมือขึ้นสูง ต่ำก็กดมือลงต่ำ เป็นต้น แต่ผมจะยังไม่อธิบายละเอียดในส่วนนี้ เพราะเนื้อหาแต่ละเรื่องก็อาจใช้ท่าทางประกอบแตกต่างกันออกไป ต้องอยู่ในสถานการณ์ฝึกหัดพูดในเรื่องต่างๆ จึงจะได้แนะนำให้ปรับใช้ตามความเหมาะสมกับเรื่องราวที่พูด
12.   ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระตุ้นผู้ฟัง การจูงใจผู้ฟัง การสังเกตผู้ฟัง การสร้างโครงเรื่อง เป็นต้น ซึ่งเป็นศิลปะการพูดในชั้นที่สูงขึ้นไป แต่สำหรับมือใหม่ ทำให้ได้ตามที่อธิบายมาข้างต้นให้ได้ก่อน โดยหาโอกาสขึ้นพูดบ่อยๆ เช่น งานวันเกิดเพื่อน ก็ลุกขึ้นยืนกล่าวอวยพรดู งานแต่งงานหากได้รับการเชิญก็อย่าปฏิเสธให้ขึ้นไปพูดดู ไปดูหนังมาสนุกมากก็เล่าเรื่องราวให้กลุ่มเพื่อนร่วมงานฟังดูตอนพักเที่ยง ถือว่าเป็นสนามฝึกของจริง เมื่อซ้อมจนชิน ไม่สั่น ไม่เขิน ไม่ลืมเรื่องแล้ว เมื่อถึงโอกาสที่ต้องแสดงฝีมือในการพูดต่อหน้าชุมชนเรื่องการงาน อันส่งผลต่อความก้าวหน้า ก็จะทำได้อย่างเต็มที่ สุดฝีมือ เพราะซ้อมมาดีแล้วนั่นเอง แล้วอย่างนี้ตำแหน่งดีๆจะไปไหนเสีย จริงไหม