วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

7 ELEVEN ร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งที่ยังไร้คู่แข่ง


กล้าพูดได้เต็มปากว่าจนถึงวันนี้เมื่อพูดถึงธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ที่ประสบความสำเร็จ ในไทย ไม่มีใครมองข้ามชื่อ “เซเว่นอีเลฟเว่น”อย่างแน่นอน เซเว่นอีเฟลเว่น ที่กลายเป็นปรากฎการณ์หน้าหนี่งของธุรกิจค้าปลีกไทย ที่ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนคนเฒ่าคนแก่ ไม่มีใครไม่รู้จักร้านค้าปลีกที่เปิดขายตลอด24 ชั่วโมงที่มีอยู่ทุกมุมเมือง ซึ่งมีสาขาปัจจุบันรวมกันถึง3000 สาขาและมีเป้าหมายในการขยายสาขาอีกปีละ 300 สาขา


แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะเป็น ..กว่าจะถึงซึ่งความสำเร็จในวันนี้ มีที่มาอย่างไร

แท้จริงแล้ว “เซเว่นอีเลฟเว่น” เป็นธุรกิจแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจในเมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2470 ในชื่อ บริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์(เซาแลนด์ คอร์ปอเรชั่น) ก่อนหน้าที่จะดำเนินธุรกิจค้าปลีก บริษัทแห่งนี้เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆที่จำหน่ายน้ำแข็งในพ.ศ.2470 ก่อนที่จะขยายกิจการโดยนำสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภท นม ขนมปังและไข่ เข้ามาจำหน่ายในร้านด้วย โดยเปลี่ยนชื่อร้านเป็น โทเท็ม สโตร์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกอย่างแท้จริง


เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ทั่วโลกจาก โทเท็ม สโตร์ ในปี2489 ร้านจำหน่ายของอุปโภคบริโภคแห่งนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น เซเว่นอีเลฟเว่น เป็น เซเว่นอีเฟลเว่นเดียวกับที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันในปัจจุบัน อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อร้าน


“จริงๆแล้วเซเว่นอีเลฟเว่นสื่อความหมายถึงเวลาปิดเปิดในขณะนั้น ที่สื่อความหมายถึงเวลาปิด-เปิด คือ 7.00am-11.00pmทุกวันตลอดสัปดาห์ และจนกลายเป็นที่ติดปากและใช้มาจนปัจจุบันทั้งๆที่ร้านได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นร้านค้าที่เปิดให้บริการถึง24 ชั่วโมงต่อวันแต่ก็ยังคงใช้ชื่อนี้อยู่”


หากจะพูดถึงเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนที่ทำให้ “เซเว่นอีเฟเว่น” ได้รับความนิยม ที่โดเด่นที่สุดน่าจะเป็นการเปิดให้24 ชั่วโมงที่ทำให้ ร้านสะดวกซื้อรายนี้ แตกต่างและโดดเด่นเหนือคู่แข่งอื่นๆในขณะนั้น และกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่เหมือนๆกันทั้ง24,000สาขาทั่วโลก และกลายเป็นสัญลักษณ์และความเฉพาะตัวของร้านสะดวกซื้อที่มีมาตรฐานทั้งในเรื่องสินค้า บริการและอาหาร ที่สอดคล้องและตรงตามความต้องการของวิถีชีวิตผู้บริโภค เช่นเดียวกับในไทยที่หลังจาก “เครือเจริญโภคภัณท์” ได้เริ่มต้นตำนานเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย เป็นครั้งแรกในปี2532 เมื่อเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาแรกของประเทศไทยบนถนนพัฒนพงศ์ กรุงเทพ เมื่อวันที่1 มิถุนายน2532 ภายหลังจากเซ็นสัญญาซื้อสิทธิประกอบกิจการค้าปลีกมาจากบริษัทเซาแลนด์คอร์เปอเรชั่นหรือ เซเว่นอิงค์ในปัจจุบัน


กว่า 17 ปี เซเว่นอีเลฟเว่นในไทยได้ขยายสาขาแบบก้าวกระโดดไปสู่ทั่วทุกชุมชนในประเทศไทย โดยมีรูปแบบการลงทุนทั้งในรูปแบบ บริษัทลงทุนเองและการขยายการลงทุนด้วย ระบบแฟรนไชส์โดยการลงทุนอย่างหลังบริษัทจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิดภายใต้ระบบการบริหารที่ทันสมัย

ด้วยความสำเร็จอาจจะทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่าการลงทุนในธุรกิจนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่ในความเป็นจริงการลงทุนของ เซเว่นอีเฟเว่น นั้นใช่เงินลงทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับแฟรนไชส์แบรนด์ดังอื่นๆ


รูปแบบของแฟรนไชส์ที่ผู้สนใจสามารถลงทุนแบ่งออกเป็น TYPE B และTYPE C โดย TYPE B ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เพียง1.5ล้านบาทโดยเสียค่าสิทธิแรกเข้า ค่าดำเนินการโอนร้าน และค่าดำเนินการอื่นๆรวม 500,000บาท และเงินสดค้ำประกันซึ่งจะได้รับคืนพร้อมดอกเบี้ย จำนวน1 ล้านบาท และTYPE C ใช้เงินลงทุนรวม 2,400,000บาท ค่าสิทธิแรกเข้า ค่าสิทธิในการบริหารร้านและค่าดำเนินการอื่นๆรวม1.5ล้านบาทและเงินสดค้ำประกันอีก900,000บาท สำหรับผลตอบแทนนั้นจะแตกต่างกันตรงที่ ประเภทแรก แฟรนไชส์ซีจะได้

ผลตอบแทนจากการบริหารร้าน รายได้จากผลกำไรของงานในร้านและหากสามารถเพิ่มผลกำไรจากที่บริษัทเป้าที่บริษัทเคยทำไว้จะได้รับเงินพิเศษเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเภทที่2 จะได้รับผลตอบแทนจากกำไร ในสัดส่วนระหว่างแฟรนไชส์ซีกับบริษัทในสัดส่วน54%และ46% อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของ “เซเว่นอีเลฟเว่น”ไม่ได้อยู่แต่เพียงการลงทุนที่ไม่สูงนัก ทิศทางการขยายงานและก้าวต่อไปยังน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยมีความพยายามในการปรับและพัฒนารูปแบบร้านสะดวกซื้อในแบบฉบับเซ่เว่นฯ ให้สามารถสนองตอบไลฟสไตล์คนได้มากขึ้น โดยขยายพื้นที่รูปแบบร้านเดิมที่มีอยู่ออกไปทั้งในส่วนของร้านหนังสือ และเบเกอรี่


ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ปรากฎให้เห็นในหลายสาขามีร้านหนังสือ Book Smile ที่อยู่ติดกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเป็นอีกธุรกิจ ที่สามารถต่อเชื่อมการลงทุนเข้าด้วยกันได้ นอกจากนี้แผนในอนาคตเตรียมต่อเชื่อมห้องที่ 3 สำหรับธุรกิจเบเกอรี่เต็มรูปแบบ หลังได้วางสินค้าชิมลางยอดขายในร้านสาขาสร้างรายได้อย่างดีมาแล้ว จากแนวทางการขยายธุรกิจดังกล่าว มาจากการสำรวจพฤติกรรม โดยเฉพาะคนเมือง พบว่าสินค้าที่เป็นที่ต้องการในร้านสะดวกซื้อคืออาหาร เบเกอรี่และหนังสือ และนี่เป็นกรณีศึกษาของธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในห้วงเวลานี้และเชื่อเหลือเกินว่า เซเว่นอีเลฟเว่น ก็ยังจะคงความเป็นเบอร์หนึ่ง ที่ยังไร้คู่แข่งอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน


เงื่อนไขการลงทุนเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

แฟรนไชส์ TYPE B

ส่วนที่ 1

- ค่าสิทธิแรกเข้า 350,000 บาท

- ค่าดำเนินการโอนร้าน 100,000 บาท

- ค่าดำเนินการอื่น ๆ 50,000 บาท

รวม 500,000 บาท

ส่วนที่ 2

- เงินสดค้ำประกัน 1,000,000 บาท

ได้รับคืนพร้อมดอกเบี้ย (ตามอัจราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ณ วันที่ 1 ม.ค. ทุกปี)

รวมเงินลงทุน 1,500,000 บาท



แฟรนไชส์ TYPE C

ส่วนที่ 1

- ค่าสิทธิแรกเข้า 500,000 บาท

- ค่าดำเนินการโอนร้าน 900,000 บาท

- ค่าดำเนินการอื่น ๆ 100,000 บาท

รวม 1,500,000 บาท

ส่วนที่ 2

- เงินสดค้ำประกัน 900,000 บาท

ได้รับคืนพร้อมดอกเบี้ย (ตามอัจราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ณ วันที่ 1 ม.ค. ทุกปี)

รวมเงินลงทุน 2,400,000 บาท


อ้างอิงจาก: Franchise Vision เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ


วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวิทยากร อ.มงคล

ประวัติวิทยากร
มงคล ตันติสุขุมาล
วิทยากรฝึกอบรม ธุรกิจ การเจรจาต่อรอง 
การตลาด การขาย การพูดในที่ชุมชน กฎหมาย

การศึกษา
  • บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA.)
  • ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) 
  • ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต 
  • ปริญญาตรี บริหารธุรกิจ (การตลาด)
  • ประกาศนียบัตร วิชาภาษาอังกฤษเฉพาะอาชีพ (ธุรกิจ)
  • ประกาศนียบัตร Micro-MBA: ยุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ
  • ประกาศนียบัตร นักพัฒนาเว็บไซต์ (Web Builder and Design)
  • ประกาศนียบัตร การตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecommerce)
  • ประกาศนียบัตร มัคคุเทศก์ทั่วไป (ภาษาอังกฤษ)
  • ประกาศนียบัตร ผู้ให้บริการสปาเพื่อสุขภาพ (Spa Therapist)
  • ประกาศนียบัตร การฝึกพูดตามหลักสูตรและแนวการฝึกพูดสากล Toastmaster International, USA. (12 รางวัลนักพูดดีเด่น)

คุณวุฒิ อื่นๆ
  • ใบอนุญาตเป็น “ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ก.ว.)
  • ใบอนุญาตเป็น "ทนายความ
  • ใบรับรอง “ผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพ (Spa Manager)”
  • ใบอนุญาตเป็น “มัคคุเทศก์ทั่วไป” 
  • ขึ้นทะเบียนเป็น "ที่ปรึกษาอิสระ"

ประสบการณ์ทำงาน
  • General Manager 
  • อาจารย์พิเศษ/ภาควิชาการตลาด
  • อาจารย์พิเศษ/ภาควิชาวิทยาการจัดการ 
  • Marketing Specialist 
  • Project Engineer 
  • System Engineer 

* ประสบการณ์การเป็นวิทยากรฝึกอบรมกว่า 20 ปี ให้องค์กรต่างๆ (ดูท้ายรายการ)

ปัจจุบัน:  วิทยากร, ทนายความ

หัวข้อบรรยาย ฝึกอบรม
  • การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ (Business Negotiation)
  • ศิลปะการพูดในที่ชุมชน (Art of Public Speaking)
  • การทำงานเป็นทีมและการจัดการความขัดแย้ง (Teamwork and Conflict Management)
  • กลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ (Modern Marketing Strategies)
  • พื้นฐานธุรกิจ SMEs อยากรวยต้องรู้ (Basic Business Concept for SMEs)
  • การจัดทำแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Business Plan)
  • พัฒนาศักยภาพ ปลุกพลังสู่จุดสูงสุดด้วย NLP (Neuro-Linguistic Programming)
  • การคิดเชิงบวก (Positive Thinking)
  • ศิลปะการขาย (Art of Selling)
  • การสร้างแรงจูงใจเพื่อความสำเร็จในงานขาย (Motivation for Sales)
  • การพูดจูงใจสำหรับผู้นำ (Convincing Techniques for Leadership)
  • เทคนิคการนำเสนออย่างมืออาชีพ (Professional Presentation Technique)
  • เทคนิคการเป็นวิทยากร (Train the Trainer)
  • ศิลปะการเขียนและการตอบคำถามในสื่อออนไลน์ (Art of Online Media Writing and Answer)
  • กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA: Personal Data Protection Acts)

ประสบการณ์การเป็นวิทยากรฝึกอบรมกว่า 20 ปี ให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และ เอกชน

* ให้บริการ วิทยากร ฝึกอบรมสัมมนา ที่ปรึกษาธุรกิจ และกฎหมาย ทั่วประเทศไทย

* ติดต่อวิทยากรฝึกอบรมสัมมนา: LineOA= @zru5884r 


***************

วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหารจัดการองค์กร

ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล

      องค์กรที่ดีควรจะมี โครงสร้างที่ชัดเจนว่ามีตำแหน่งอะไรบ้าง มีสายการบังคับบัญชากันอย่างไร มี Job Description หรือคำบรรยายลักษณะงานในแต่ละตำแหน่งอย่างไร มีอำนาจหน้าที่ และ ความรับผิดชอบอะไรบ้าง


ในองค์กรขนาดเล็กหลายแห่งมักจะมีการแบ่งหน้าที่ไม่ชัดเจนโดยเจ้าของกิจการมักบอกว่า “ให้ช่วยๆกัน” หลักการนี้ดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจง เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายผลิต เป็นต้น หากคนที่จัดซื้อ ไปช่วยๆกันทำบัญชีเอง อาจมีการหมกเม็ดปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้นได้ หรือ ให้ฝ่ายขายทำหน้าที่จัดซื้อซะเอง อาจทำให้รู้ราคาต้นทุน แล้วมีการตั้งราคาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น


งานส่วนสำคัญเฉพาะทางจึงต้องมีการระบุหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจน ส่วนงานที่ทับซ้อนกัน จึงค่อยขอให้ช่วยๆกันดูแล เช่น งานเกี่ยวกับการดูแลความสะอาดทั่วไปในพื้นที่ต้อนรับลูกค้า ใครเห็นเศษขยะตกอยู่ ก็น่าจะช่วยๆกันเก็บทิ้ง อย่าหาว่าธุระไม่ใช่ ปล่อยเป็นหน้าที่ของคนทำความสะอาด หรือ เห็นลูกค้าเดินเข้ามา แต่พนักงานต้อนรับไม่อยู่ ฝ่ายอื่นๆที่อยู่ในสำนักงานก็ควรเข้าไปทักทายถามไถ่ลูกค้า ไม่ใช่คิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายต้อนรับไม่ใช่ฉันซึ่งอยู่ฝ่ายบัญชี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น 3-4 ครั้งแล้ว ไม่มีผู้รับสาย แสดงว่า พนักงานโอเปอเรเตอร์ ไม่อยู่ คนอื่นๆที่ได้ยินเสียงก็ควรรับสาย และรับเรื่องที่โทรมาแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป เป็นต้น อย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่า “ช่วยๆกัน” ในเรื่องที่ควรช่วย


แต่งานในหน้าที่หลักภายในต้อง “ของใครของมัน” แยกแยะให้ชัดเจนว่า งานใดเป็นงานจำเพาะต้องรับผิดชอบเอง งานใดเป็นงานทั่วไปที่ควรช่วยกัน อย่างนี้ พนักงานก็จะไม่สับสน มิฉะนั้น บางคนจะคิดไปว่า “ไม่ช่วยก็หาว่าแล้งน้ำใจ เข้าไปช่วยทำก็หาว่าก้าวก่าย” จนขัดแย้งกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายอึดอัดอยู่ไม่ได้ลาออกไป ทำให้สูญเสียบุคลากรไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น


เมื่อโครงสร้างองค์กรมีความชัดเจน มีหน้าที่ระบุไว้ว่าแต่ละตำแหน่งทำอะไร รับผิดชอบอะไร แล้วเรื่องอะไรที่ควรช่วยๆกันทำ แล้วก็จะต้องให้ “อำนาจ” ด้วยครับ เพราะอำนาจคู่กับหน้าที่ ถ้าให้หน้าที่ แต่ไม่ให้ “อำนาจ” ที่เหมาะสมแก่หน้าที่นั้นๆ การทำงานก็เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายจัดซื้อมีหน้าที่ต้องจัดซื้อวัตถุดิบ สินค้า และบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง กำหนดขั้นตอนว่าระเบียบการจัดซื้อมีอย่างไร แล้วให้อำนาจว่า สามารถตัดสินใจสั่งซื้อได้ด้วยตนเองภายในวงเงินเท่าไหร่ เมื่อเกินวงเงินในอำนาจจึงค่อยส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาในองค์กรทำการอนุมัติ อย่างนี้เป็นต้น หรือ หากจ้างผู้จัดการฝ่ายเข้ามาให้ทำ “หน้าที่” บริหารจัดการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องให้ “อำนาจ” ในการตัดสินใจ รื้อ ลด ปลด ย้าย ประเมินผล ให้คุณให้โทษพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้จัดการฝ่ายคนนั้นอย่างเต็มที่ด้วย ไม่ใช่ให้หน้าที่ แต่ห้ามให้คุณให้โทษใครในสายงานบังคับบัญชา แบบนี้จะไปทำงานกันได้อย่างไรกัน เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาก็รู้ว่าผู้จัดการฝ่ายคนนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ จึงไม่เชื่อฟัง การงานก็จะติดขัด ไม่ราบรื่น ทำงานไม่ได้ แบบนี้จะโทษว่าผู้จัดการฝ่ายคนนั้นไม่เก่งก็ไม่ได้ เพราะดันมอบหน้าที่ให้ทำ แต่ไม่ให้อำนาจใดๆ ผมจึงต้องเน้นย้ำครับว่า เมื่อมอบหมาย “หน้าที่” ก็ต้องให้ “อำนาจ” ที่เหมาะสมด้วยงานจึงจะเดินไปได้อย่างราบรื่น


อำนาจในการบริหาร และ อำนาจในการตัดสินใจ จึงต้องระบุให้ชัดเจน มิฉะนั้น จะเกิดปัญหาลักษณะที่ว่า “รอรับคำสั่งก็หาว่าไม่มีสมองคิดเอง เมื่อคิดเองทำเองก็หาว่าอวดดีทำเกินอำนาจหน้าที่” สุดท้ายสับสน ลาออกดีกว่า บริษัทก็สูญเสียคนไปเพราะระบบไม่ดี ไม่ใช่คนไม่ดี


เมื่อให้ “อำนาจ และ หน้าที่” แก่ตำแหน่งต่างๆแล้ว สำคัญคือ เจ้าของกิจการ หรือ ผู้บริหารสูงสุด ต้องไม่เข้าไปแทรกแทรง ล้วงลูก หรือสั่งงานข้ามหัว การทำงานในสายงานบังคับบัญชาโดยไม่จำเป็นอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความสับสนของผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ให้ฟังใครกันแน่ ยิ่งหากแนวทางของเจ้าของกิจการ กับของผู้จัดการฝ่ายไม่ชัดเจน หรือต่างกัน ผู้ปฏิบัติงานจะยิ่งงงกันว่าทำตามใครดี อีกทั้งหากสั่งข้ามหัว ผู้จัดการฝ่ายอาจไม่ได้รับรู้และไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพราะไม่รู้มาก่อนว่าลูกน้องของตนเองถูกสั่งงานอะไรมา จึงไม่สามารถจัดสรรระยะเวลาทำงาน เป้าหมาย และการคาดหวังผลลัพธ์ ดีไม่ดีจะพาลโกรธคนที่สั่งงานข้ามหัวกันไปมา สุดท้ายเมื่อตนเองไม่ได้รับความสำคัญตามลำดับที่เหมาะสมก็ต้องลาออกไป บริษัทก็สูญเสียผู้จัดการฝ่ายคนเก่งไปโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การสั่งงานควรสั่งงานลงมาตามลำดับการบังคับบัญชา โดยมีการพูดจาตกลงกันให้เรียบร้อยในระดับบริหารตามลำดับ ก่อนส่งคำสั่งมาสู่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง แล้วให้หัวหน้าของแต่ละลำดับ ดูแลงานตาม อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบครับ


เว้นแต่หากเป็นกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ไม่เจอตัวผู้จัดการฝ่าย ทำให้เจ้าของต้องสั่งงานผู้ปฏิบัติงานโดยตรง แบบนี้เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องหาโอกาสแจ้งให้หัวหน้าเขาทราบเรื่องด้วย จึงจะดีที่สุดครับ


เรื่องของคนในองค์กรธุรกิจ มักมีเรื่องวุ่นๆไม่รู้จบ เนื่องจากแต่ละคนก็มาจากคนละแห่ง พื้นเพแตกต่างกัน ความคิด ทัศนคติแตกต่างกัน จึงมีปัญหาการเมืองในองค์กรตามมาได้ แต่เจ้าของกิจการจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้มีน้อยที่สุด


ผมแนะนำครับว่า ตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้าทำงานแล้ว ว่านอกเหนือจากความสามารถตามหน้าที่แล้ว ต้องวัดที่เรื่องทัศนคติด้วย หาคนที่พื้นฐานมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน แต่ถึงกระนั้นเมื่อทำงานแล้วความขัดแย้งก็อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เจ้าของกิจการควรจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันนอกจากเรื่องงาน เช่น งานเลี้ยงวันเกิดให้แก่พนักงานทุกคน เดือนละครั้งตามเดือนเกิดของพนักงาน ให้เพื่อนพนักงานกล่าวอวยพรเพื่อนด้วยกัน หรือ รวมกันไปเยี่ยมไข้พนักงานที่เจ็บป่วยเกิน 3 วันติดกัน หรือ รวมเงินลงขันกันเป็นเจ้าภาพจัดงานศพให้พนักงานที่มีญาติสนิทเสียชีวิต เป็นต้น พนักงานก็จะรู้สึกผูกพันกัน แสดงความปรารถนาดีต่อกันและกัน เป็นต้น คือ หาโอกาสให้พนักงานได้ผูกพัน พูดคุย เห็นใจ ชื่นชม ยินดี ยกย่อง ซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ใช่เน้นแต่ ทำงาน ทำงาน เอาผลงาน ไม่สนใจมิตรภาพ


บรรยากาศของสถานที่ทำงานก็เช่นกัน ต้องเย็นสบาย สว่าง สงบ เหมาะสมกับประเภทของงาน ทำให้อารมณ์ไม่ตึงเครียดจากสิ่งแวดล้อม การทำงานก็จะราบรื่นขึ้น อย่าเห็นว่าเป็นพนักงาน ไม่สำคัญเท่าลูกค้า พื้นที่ของลูกค้าทำซะหรูหราอลังการ แต่ส่วนของพนักงานปล่อยตามมีตามเกิด คับแคบ อึดอัด มืดสลัว ไม่น่าดู เพราะหากพนักงานของคุณไม่มีความสุขกับบรรยากาศของการทำงาน เขาจะดูแลลูกค้าให้มีความสุขได้อย่างไร จริงไหมครับ


ผู้บริหาร ควรมีนโยบาย “เปิดประตู” คือ อนุญาตให้พนักงานสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้บริหารได้โดยง่าย อันจะทำให้การทำงานราบรื่น ไม่ใช่มีเข้าพบผู้บริหารยากเหลือเกิน หากมีเรื่องที่ต้องการการตัดสินใจเร่งด่วนก็จะทำให้เสียงานเสียการไปโดยใช่เหตุ


อีกทั้งควรมี “ตู้รับฟังความคิดเห็น” ทั้งในส่วนของลูกค้า และในส่วนของพนักงาน อนุญาตให้ผู้เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็นได้เต็มที่ ในด้านลูกค้าหากมีความต้องการหรือปัญหาก็จะได้ตอบสนองหรือปรับปรุงแก้ไขได้ ในด้านของพนักงาน หากมีความอัดอั้นตันใจ หรือ อยากเสนอไอเดียใหม่ๆก็จะได้ทำได้เต็มที่ หากแนวคิดที่เสนอได้รับการยอมรับจากผู้บริหารระดับสูงจนนำไปสู่การปฏิบัติก็จะมีรางวัลให้แก่เจ้าของความคิด อย่างนี้ก็จะทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมในความเป็นไปขององค์กร เขาก็จะรักและอยากพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหารลูกหนี้

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล 

      ในการทำธุรกิจนั้น หากขายเงินสดได้จะดีที่สุด เพราะไม่มีภาระที่ต้องติดตามทวงหนี้ แต่หากทำไม่ได้ อาจเนื่องจากการแข่งขันสูง หากเราไม่ให้เครดิตลูกค้า ลูกค้าก็ไม่ซื้อเรา แต่ไปซื้อเจ้าอื่นแทน เป็นต้น ก็จึงมีความจำเป็นต้องให้เครดิต หรือ นำสินค้าไปก่อน ชำระเงินภายหลัง


ในธุรกิจบริการก็เช่นกัน บางครั้งลูกค้ายังไม่ได้รับบริการย่อมไม่ยินดีที่จะชำระเงินก่อน จึงจำเป็นต้องให้บริการไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินทีหลัง

มีหลายกรณีที่เก็บเงินไม่ได้ หรือ ลูกค้าจ่ายล่าช้า ผัดผ่อน หนีหนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อกิจการ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจึงต้องมีการทำหลายๆประการดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เพื่อให้การบริหารลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

1. กำหนดนโยบายของการให้เครดิต

เจ้าของกิจการต้องกำหนดนโยบายไว้ล่วงหน้าเป็นกฎให้พนักงานด้านการเงินปฏิบัติในการปล่อยเครดิตไว้ล่วงหน้า เช่น

ไม่ให้เครดิตแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าเป็นครั้งแรก ในทุกกรณี เพราะลูกค้าครั้งแรกยังไม่รู้ประวัติ ไม่รู้ความน่าเชื่อถือ จึงยังไม่ให้เครดิต

ไม่ให้เครดิตแก่ลูกค้าเก่าที่สั่งซื้อสินค้าจำนวนมากๆผิดปกติ หรือ ต้องให้ลูกค้าชำระเงินล่วงหน้าก่อน 50 % เป็นต้น เพราะมีหลายกรณีที่ลูกค้าบางรายแสร้งทำเป็นสั่งซื้อสม่ำเสมอ ชำระเงินสด เป็นเวลานานนับปี จนคุ้นเคยกัน แล้ววันหนึ่งก็บอกว่า ต้องการสั่งสินค้าจำนวนมากๆเนื่องจากมีออร์เดอร์จากลูกค้าเป็นพิเศษ ให้ส่งของด่วน แล้วจะชำระเงินภายหลัง ด้วยความคุ้นเคยไว้ใจ และดูจากประวัติในอดีตก็ไม่เคยเบี้ยวหนี้ จึงตัดใจยอมให้ไป แล้วก็ถูกลูกค้า “ชักดาบ” คือ หายตัวไปดื้อๆ พร้อมสินค้าล็อตใหญ่ ติดต่อไปก็ไม่พบตัวอีกแล้ว เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเสมอๆ แต่ถ้าคุณกำหนดนโยบายว่า ต่อให้เป็นลูกค้าเก่าชั้นดี หากสั่งซื้อมากผิดจากปกติ ต้องจ่ายเงินก่อน 50% แบบนี้ถึงแม้ว่าลูกค้าเบี้ยวขึ้นมาคุณก็ยังเจ็บตัวไม่มาก


กำหนดให้ลูกหนี้ ต้องชำระหนี้เดิมให้ครบก่อน จึงจะสามารถสั่งสินค้าล๊อตใหม่ได้ หมายถึง ในกรณีที่จะมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา แต่ลูกค้ายังค้างชำระค่าสินค้าครั้งก่อนอยู่ ก็ต้องขอให้ชำระเงินที่ค้างอยู่ก่อน จึงจะยอมส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อครั้งใหม่ไปให้ เป็นการเคลียหนี้เป็นครั้งๆไป ไม่ให้มีหนี้เก่าสะสมค้างอยู่ แบบนี้ก็เป็นวิธีการที่ดีอีกวิธีหนึ่ง


2. กำหนดระดับวงเงินลูกหนี้โดยรวม

โดยกำหนดว่ากิจการจะมีมูลหนี้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น ไม่เกิน 40% เมื่อถึงระดับดังกล่าว ก็จะระงับการปล่อยหนี้ทันที เพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการมีลูกหนี้มากเกินไป โดยให้เร่งรัดการเก็บหนี้ให้ได้ก่อนการปล่อยหนี้เพิ่ม


3. ให้ส่วนลดพิเศษเป็นแรงจูงใจในการชำระหนี้ให้เร็วขึ้น

วิธีการก็คือ การเสนอส่วนลดให้ 2 % - 5 % หากชำระหนี้ภายใน 30 วัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องชำระเต็มจำนวนในกำหนด 45 วัน หรือ ให้ส่วนลด 10 % หากชำระด้วยเงินสด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าอยากชำระหนี้ให้เร็วขึ้นเพื่ออยากได้รับส่วนลด


4. มีจดหมายแจ้งกำหนดชำระหนี้ให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้า

เนื่องจากลูกหนี้บางรายลืมกำหนดชำระเงิน อีกทั้งใบแจ้งหนี้ก็ถูกส่งไปให้สำนักงานบัญชีนอกบริษัททำบัญชี จึงจำกำหนดชำระหนี้ไม่ได้ การที่คุณส่งจดหมาย หรือ ใบแจ้งหนี้ ไปให้ลูกหนี้ทราบอีกครั้ง จึงเป็นเสมือนการเตือนความจำ โดยควรส่งล่วงหน้าก่อนครบกำหนดอย่างน้อย 15 วัน เนื่องจาก ปกติแล้วบริษัทบางแห่งมีขั้นตอนการอนุมัติการจ่ายเงินหลายขั้นตอนต้องใช้เวลา หากคุณส่งจดหมายแจ้งช้า กว่าพนักงานด้านลูกหนี้จะดำเนินการขออนุมัติชำระเงินเสร็จ ก็อาจเลยกำหนดเวลาที่เหมาะสม


5. มีจดหมายขอบคุณ หรือ จดหมายแจ้งหนี้ซ้ำ เมื่อถึงกำหนด

ควรส่งจดหมายขอบคุณลูกหนี้ ที่ชำระหนี้ตรงกำหนดเวลา เพื่อเป็นการแสดงความใส่ใจต่อลูกค้า และ ควรส่งจดหมายแจ้งหนี้ซ้ำหากถึงกำหนดวันชำระเงินแล้วยังไม่ได้รับการติดต่อชำระหนี้ใดๆ เพื่อเตือนความจำลูกหนี้ แต่ต้องระวังเนื้อหาในจดหมายให้ดูสุภาพ เรียบร้อย เป็นการแจ้งตามปกติของธุรกิจ อย่าให้มีสำนวนแสดงการต่อว่าอย่างเด็ดขาด


6. รีบดำเนินการกับลูกหนี้ที่เลยกำหนดชำระหนี้

คุณต้องรีบดำเนินการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือ ส่งคนไปพบกับลูกหนี้ที่ถึงกำหนดชำระหนี้อย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยปะละเลยให้เนินนานไป เพราะเคยมีหลายกรณีที่ลูกหนี้ปิดกิจการหนีหายไปแล้ว เจ้าหนี้เพิ่งจะทราบ เพราะมัวแต่ใจเย็น แต่ถ้าคุณส่งจดหมายเตือนแต่เนิ่นๆ แล้วถูกตีกลับก็คงจะเอะใจแต่ทีแรก หรือ เมื่อเลยกำหนดแล้วลูกหนี้ยังเงียบอยู่ โทรติดต่อไม่ได้ หรือไปหาแล้วไปพบแสดงว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นแน่ จะได้รีบดำเนินการต่อไป เช่น พยายามติดต่อผ่านช่องทางอื่น สอบถามเบาะแสจากผู้ใกล้ชิดลูกหนี้ เป็นต้น


7. กรณีที่ลูกหนี้มีทีท่าว่าจะเบี้ยวหนี้

เมื่อมีการทวงถามตามกำหนดชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ยังบ่ายเบี่ยงที่จะทำการชำระหนี้ คุณต้องกำหนดระยะเวลายืดหยุ่นให้ชัดเจน เช่น หลังจากทวงถามครั้งแรกตามกำหนดวันชำระหนี้แล้ว หากไม่ชำระภายใน 15 วันต่อมา จะทำการทวงถามครั้งที่ 2 ซึ่งหากยังไม่ได้รับการชำระหนี้อีก ก็ควรทวงถามครั้งที่สาม ให้ได้คำตอบชัดเจน โดยขอแนะนำว่าการทวงถามหลักๆทุกครั้งควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และเก็บสำเนาจดหมายและใบเสร็จจากทางไปรษณีย์ที่มีหมายเลขลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง เผื่อไว้ในกรณีที่ลูกหนี้อ้างว่าไม่ได้รับจดหมาย หรือ หากมีเหตุต้องฟ้องร้องดำเนินคดี ก็จะได้มีหลักฐานที่ชัดเจนครับ ในระหว่างนี้อาจเสนอให้มีการผ่อนชำระหนี้ก็ได้ ทยอยจ่ายก็ยังดี จนกระทั้งเมื่อถึงกำหนดเส้นตายสุดท้ายที่คุณยืดหยุ่นแล้ว เช่น เลยกำหนดมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน หากไม่ชำระ เสนอให้ผ่อนชำระก็ยังไม่ชำระ ก็ถึงคราวใช้ไม้แข็งแล้วครับ คือ จดหมายฉบับหลังจากหมดเวลายืดหยุ่น อาจต้องแจ้งว่า


“จนถึงบัดนี้ เรายังเชื่อในความซื่อสัตย์ของท่าน และรอการติดต่อชำระเงินจากท่าน หากว่าเลยกำหนดเวลานี้แล้วเรามีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับท่านตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น นอกจากท่านจะต้องเสียเงินค่าทนายความ เสียเวลา อีกทั้งเมื่อท่านแพ้คดียังต้องชำระดอกเบี้ยย้อนหลังในอัตราที่กำหนดอีกด้วย ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น จึงขอให้ท่านดำเนินการเพื่อชำระหนี้โดยทันทีจักขอบคุณยิ่ง”

ข้อความข้างต้นเป็นตัวอย่างการทวงถามขั้นเด็ดขาดแล้วครับ แต่ยังควรใช้ภาษาสุภาพ ไม่ข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือ กระทำอะไรนอกเหนือกฏหมายเด็ดขาดนะครับ เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้ลูกหนี้โกรธโดยไม่สมควร

เมื่อใช้ไม้ตายสุดท้ายแล้ว โทรถามว่าได้รับจดหมายหรือยัง ถ้าได้รับแล้วขอทำการชำระเงินได้หรือไม่ เป็นการเปิดโอกาสสุดท้ายของสุดท้าย อีกทั้งเป็นการตรวจสอบว่า ได้รับจดหมายฉบับสำคัญนี้หรือไม่อีกทางหนึ่งด้วย หากถึงที่สุดแล้วลูกหนี้ก็ยังหนี้หนี้ บ่ายเบี่ยง หรือ ไม่ยอมรับโทรศัพท์ ก็ส่งเรื่องให้ทนายความได้ครับ ทนายก็คงจะส่งจดหมายทวงถามในนามของทนายหรือสำนักงานทนายความ จากนั้นก็ถึงขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย หากไม่สำเร็จก็เป็นคดีความขึ้นศาลกันต่อไปซึ่งเป็นเรื่องท้ายสุด


โดยปกติแล้วเมื่อถึงจดหมายฉบับท้ายสุด ลูกหนี้ก็มักจะยอมชำระหนี้ จะจ่ายเต็มจำนวน หรือ ผ่อนจ่าย ก็ตาม แต่จากประสบการณ์ พบว่าเจ้าหนี้หลายรายไม่ค่อยมีความอดทนที่จะทวงถามตามขั้นตอนที่แนะนำ หากทวงถามทางโทรศัพท์ 3-4 ครั้งไม่ได้ หากเป็นเงินไม่มากนักก็จะบ่นๆ หรือ ด่าลูกหนี้ลับหลัง แล้วก็เงียบกันไป กลายเป็นหนี้สูญ หรือหากเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ด่วนทำใจว่าเป็นหนี้สูญ ก็รีบส่งเรื่องให้สำนักงานทนายความ ทำให้ต้องรอเวลาเนิ่นนานออกไปอีกกว่าจะรู้ผล


ผมจึงขอแนะนำให้ทำทีละขั้นตอน อดทนสักหน่อย เท่าที่ผ่านๆมาผมใช้วิธีตามที่แนะนำ และ ได้รับการชำระหนี้ด้วยดีเสมอมา ไม่ต้องถึงมือทนายความครับ

เขียนบทความโดย มงคล ตันติสุขุมาล 

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จะทำงานฟรีแลนซ์กับความเชี่ยวชาญของคุณอย่างไรดี

โดย แอนเดรีย ซี โพ


หากคุณเหนื่อยกับการเป็นลูกจ้าง ตอนนี้อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะ จะคิดถึงการเป็นฟรีแลนซ์ ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ ที่คุณพัฒนามาอยากยากเย็น

ความฝันของการเป็นฟรีแลนซ์นั้นเต้นอยู่ในหัวคุณหรือเปล่า? ถ้าหากคุณกำลังพยักหน้าว่าใช่ นี่เป็นเวลาที่ดีในการเริ่มทำมัน เพราะว่าในขณะที่บริษัทต่างๆนั้นต้องรับภาระค่าบุคลากรที่แพงและสวัสดิการที่สูง พวกเค้าจะหันไปขอความช่วยเหลือจากฟรีแลนซ์ ถ้าหากคุณมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ถูก มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะสามารถเปลี่ยนมันเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ได้ โดยการใช้ความรู้ ความสามารถของคุณในการช่วยเหลือลูกค้า



ปล่อยให้อิสระเข้ามา

คงไม่มีข้อสงสัยกับหัวข้อนี้ ฟรีแลนซ์นั้นไม่ได้เริ่มต้นด้วยคำว่าฟรีโดยไม่มีความหมาย อิสระนั้นเป็นส่วนสำคัญของการเป็นฟรีแลนซ์ ในการเป็น full-time freelance หรือ ฟรีแลนซ์เต็มเวลานั้น คุณจะทำงานเมื่อคุณอยากทำ คุณสามารถพักร้อนได้ตามที่คุณต้องการ นานเท่าที่คุณต้องการ การพักผ่อนสุดสัปดาห์ก็จะไม่จำกัดอยู่แค่สุดสัปดาห์ และชุดสูทนั้นแทบจะเป็นอดีต ไม่มีเจ้านายมากวนใจคุณ จะไม่มีเพื่อนร่วมงานที่น่ารำคาญอู้งานอยู่ที่คูลเลอร์น้ำ ทำให้คุณบ้า


แต่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับอิสระเหล่านั้น ก็มีความเสี่ยงและความไม่มั่นคงเข้ามา ไม่มีการันตีว่าคุณจะมีเงินเดือนเดือนหน้า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะรับรองอนาคตการเป็นฟรีแลนซ์ของคุณคือ การให้บริการที่คุณรู้ว่ามีคนต้องการ เพียงเพราะว่าคุณอยากจะทำอะไรซักอย่าง ไม่ได้หมายความว่า จะมีตลาดที่พร้อมเพื่อธุรกิจนั้น


“ทำตามหัวใจคุณและทำในสิ่งที่คุณรักนั้นเป็นเพียงสโลแกน คุณต้องมองความจริง” กล่าว เคลลี่ เจมส์-เอ็นเกอร์ ผู้เขียน Six Figure Freelancing “ถ้าคุณไม่ได้ให้บริการสิ่งที่ผู้คนพร้อมที่จะจ่าย คุณจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจ (ระยะยาว) ได้”


ลองดูในหนังสือพิมพ์และอินเตอร์เนต ดูว่ามีใครบ้างทำสิ่งที่คุณอยากจะทำ พวกเค้าคิดราคาเท่าไหร่และลูกค้าเค้าเป็นใคร คุยกับทุกคนจนกว่าคุณจะพบฟรีแลนซ์ในงานที่คุณอยากจะทำ หลังจากนั้นโทรหาพวกเค้าและศึกษาว่าตลาดส่วนไหนกำลังโต และงานส่วนใหญ่เข้ามาจากไหน ข้อมูลนี้จะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยคุณหาช่องว่างในตลาดที่คุณจะสามารถเข้าแข่งขันได้


ลองคิดดู: 5 ปีก่อน ผู้ออกแบบเวบไซต์ หรือเวบดีไซน์เนอร์ สามารถทำเงินได้ดีจากการฟรีแลนซ์บริการของพวกเค้า ให้บริษัทต่างๆ แต่ปัจจุบันความต้องการนั้นลดลง เนื่องจากผู้คนในยุคนั้นมีมากเกินความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กนั้นต้องการจะเรียนรู้วิธีการออกแบบเวบด้วยตนเอง ดังนั้นในปัจจุบัน การสอนออกแบบเวบไซต์นั้นอาจจะน่าสนใจกว่าการลงมือออกแบบเอง


อย่าเพิ่งออกจากงานประจำ

หลังจากที่คุณตัดสินใจแล้วว่าคุณจะทำฟรีแลนซ์ในด้านใด คุณควรจะใช้เวลาซักระยะเพื่อตั้งหลัก “ความคิดที่ผิดของคนส่วนใหญ่นั่นคือ เมื่อพวกเค้าเริ่มทำมัน เงินก็จะเข้ามา” เตือน ลอเรย์ โรซาคิส์ “ไม่จริง เพียงเพราะว่าคุณสร้างมัน ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะมา”


โรซาคิส์เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอิสระ และเป็นผู้เขียน “The Complete Idiot’s Guide to Making Money in Freelancing” กล่าวว่า มันอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี เพื่อสร้างชื่อเสียงและฐานลูกค้า และเพราะสาเหตุนั้น ฟรีแลนซ์หลายคนนั้นมักจะเริ่มทำฟรีแลนซ์ใขณะที่พวกเค้ายังทำงานประจำอยู่


“ทุกคนคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ฉันไม่รู้จักฟรีแลนซ์ซักคนที่สามารถทำเงินหกหลักได้ในทันที” กล่าว เจมส์-เอ็นเกอร์


กฎที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ อย่าเพิ่งทิ้งงานประจำของคุณไปจนกว่าคุณจะมีเงินเก็บระหว่าง 6-12 เดือน หากคุณเป็นหลักสำคัญของครอบครัว อย่าเพิ่งทิ้งงานประจำจนกว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณมีเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายของคุณ


แน่นอนว่าการทำงานพิเศษขณะยังทำงานให้กับเจ้านายปัจจุบันอยู่ อาจจะยากนิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นนักเขียนข้อความโฆษณา (advertising copywriter) ที่ต้องการจะทำฟรีแลนซ์ไปด้วย คุณอาจจะต้องบอกเจ้านายของคุณ ซึ่งเค้าอาจจะให้คุณเซ็นข้อตกลงที่จะไม่แข่งขันกับธุรกิจของเค้า (noncomplete agreement) ซึ่งคุณจะต้องการสัญญาว่าจะไม่แย่งหรือ “ยืม” ลูกค้าไป แต่ถ้าหากว่าคุณเป็น copywriter ที่ต้องการจะแปลภาษาญี่ปุ่นไปด้วย เจ้านายของคุณอาจจะไม่ต้องรู้ไว้เลยว่าคุณทำอะไรนอกเวลางาน


การหาลูกค้า

เช่นเดียวกับทุกธุรกิจ อาชีพฟรีแลนซ์ของคุณจะเข้มแข็งเท่ากับจำนวนการขายที่คุณทำได้ การหาลูกค้านั้นเป็นความท้าทายอย่างแรกของการเริ่มเป็นฟรีแลนซ์ คุณจะดึงดูดลูกค้าได้อย่างไรในเมื่อคุณไม่เคยมีลูกค้าเลย? นี่เป็นขั้นตอนที่ใช้ได้จริงในการที่จะช่วยคุณเริ่มต้น


1. สร้าง Portfolio ที่แสดงถึงความสามารถและทักษะของคุณ ถ้าหากนั่นหมายถึงการทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ได้เลย คุณก็ควรจะทำมัน ตัวอย่างงานของคุณจะเป็นตัวเรียกลูกค้าได้ดี


2. บอกทุกคนที่คุณรู้จักเกี่ยวกับการเป็นฟรีแลนซ์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อน ครอบครัว หรือคนข้างบ้าน ลูกค้าที่ได้รับการแนะนำมาจะเป็นฐานลูกค้าของคุณในระยะเริ่มแรก


3. เข้าร่วมองค์กรมืออาชีพ (professional organization) ในสายงานของคุณ ไม่ว่าจะออนไลน์หรือในชุมชนของคุณ นอกเหนือจากประโยชน์มากมายที่คุณจะได้รับ คุณจะได้รับเคล็ดลับว่าจะหางานได้จากที่ไหน


4. เข้าร่วมองค์กรท้องถิ่น เช่น สมาคมการค้า หรือ ชมรมต่างๆ “ครีทีฟมักจะมองข้ามองค์กรเหล่านี้ และคิดว่าสถานที่เหล่านี้จะเต็มไปด้วยพนักงานธนาคารและนักธุรกิจที่เคร่งขรึม” กล่าว เจมส์-เอ็นเกอร์ “ซึ่งมันอาจจะจริง แต่พวกเค้าจะเป็นคนที่จ้างคุณทำงานครีทีฟของคุณ”


5. ลองเป็นอาสาสมัครทำในสิ่งที่คุณรักในชุมชนของคุณ และคุณจะทำให้เครือข่ายของผู้ที่จะมาเป็นลูกค้า (potential clients) ของคุณกว้างขึ้น


6. โทรไปติดต่อหาลูกค้าใหม่ (cold call)


สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การเป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้หมายถึงการทำแต่ในสิ่งที่คุณรัก และมันก็หมายความว่า คุณต้องรู้วิธีการขาย

และการโฆษณาบริการของคุณ ในระยะเริ่มต้น ประมาณ 90% ของเวลาของคุณนั้น จะถูกใช้ไปในการทำการขาย และการทำการตลาด “งานจะไม่หล่นมาหาคุณเอง” กล่าว เจมส์-เอ็มเกอร์ “คุณอาจจะเป็นคนที่มีพรสวรรค์มาก แต่มันก็ไม่มีความหมายหากคุณไม่สามารถขายพรสวรรค์นั้นได้”


โรซากิส์เห็นด้วย “คนมากมายมาเป็นฟรีแลนซ์โดยคิดว่า ฉันมีพรสวรรค์ สิ่งที่พวกเค้าจะต้องเข้าใจคือ มีคนมีพรสวรรค์มากมาย สิ่งที่ทำให้การเป็นฟรีแลนซ์ประสบความสำเร็จคือ ความแข็งแกร่งของรายชื่อลูกค้า”


การสร้างฐานลูกค้า (client base) นั้นต้องการความอดทนและไม่ท้อแท้ คิดถึงคำปฏิเสธที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่อย่าให้มันห้ามคุณในการพยายามอีกครั้ง ลองนึกถึงพนักงานขายเสื้อผ้าที่ให้คุณลองกางเกง แต่คุณใส่มันไม่ได้ พนักงานขายที่ดีนั้นจะไม่รู้สึกเสียใจ แต่เค้าจะเอากางเกงตัวใหม่มาให้คุณลอง จนกว่าคุณจะซื้ออะไรบางอย่าง


เริ่มจริงจัง

เมื่อคุณเห็นว่าคุณเริ่มจะทำเงินมากพอที่การเป็นฟรีแลนซ์ของคุณกำลังจะเป็นธุรกิจที่น่าจะประสบความสำเร็จ มันถึงเวลาที่คุณจะต้องทำให้แน่ใจว่า ตัวคุณเองและลูกค้าของคุณจริงจังกับธุรกิจของคุณ นั่นหมายถึงการทำมากกว่าการสั่งซื้อนามบัตรสวยๆ


ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสายงานไหน สัญญา (contract) เป็นสิ่งสำคัญฟรีแลนซ์หลายคนมักจะมองข้ามมันไป และให้ลูกค้าทำการจัดทำหรือไม่มีการจัดทำสัญญาเลย นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกนัก และอาจจะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงได้


“ปกป้องตัวคุณเอง” ย้ำรัสตี้ ฟิชเชอร์ ผู้เขียน Freedom to Freelance รัสตี้แนะนำให้ดูตัวอย่างสัญญาของฟรีแลนซ์คนอื่นๆ และนำมาปรับใช้ในสัญญาของคุณเอง หลังจากนั้นก็ให้ทนายของคุณตรวจดูว่าสิทธิของคุณนั้นได้รับการปกป้อง


การจัดตั้งระบบบัญชีนั้นก็เป็นความจำเป็นอีกอย่าง มันจะไม่เพียงช่วยเตือนว่าคุณต้องจ่ายอะไรบ้าง แต่การเก็บบันทึกบัญชีที่ดีนั้นจะทำให้การตรวจสอบใดๆนั้นง่ายขึ้น


ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่คุณอยู่ การมีเวบไซต์ (website) นั้นอาจจะช่วยคุณทำการตลาดบริการของคุณได้ ถ้าหากคุณมีภาพตัวอย่างในสิ่งที่คุณทำ เช่น การออกแบบภูมิทัศน์ (landscape) หรือเสื้อผ้าเพื่อการละคร เวบไซต์นั้นจะทำหน้าที่เหมือน portfolio ของคุณ และแนะนำงานของคุณให้กับลูกค้าในอนาคต


รู้จักตัวเอง

การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก่อนที่คุณจะเริ่มการเป็นฟรีแลนซ์อย่างจริงจังคือ การตัดสินใจว่าการใช้ชีวิต (lifestyle) แบบนี้เข้ากับลักษณะนิสัยของคุณหรือไม่ คุณควรจะคิดให้ดีก่อนที่คุณจะทำการผูกมัดกับ lifestyle และการทำงาน (workstyle) ที่อาจจะไม่เหมาะกับตัวคุณ

และในขณะที่คุณไม่มีเจ้านาย คุณยังต้องรายงานตัวกับคนๆหนึ่ง นั่นคือตัวคุณเอง นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่การมีวินัยในตัวเอง (self-discipline) คือกุญแจในการนำการฟรีแลนซ์ของคุณจากงานอดิเรก ไปเป็นธุรกิจที่สามารถพัฒนาได้

แม้ว่าการโดดงานไปดูหนังตอนบ่ายๆอาจจะเป็นสิ่งที่น่ายั่วยวน แต่โดนส่วนมากแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องทำงานมากชั่วโมงกว่าปกติในหนึ่งสัปดาห์ แต่ตารางงานของคุณอาจจะไม่ยืดหยุ่นได้อย่างที่คุณคิด นั่นก็เพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณนั้นทำงานในเวลาปกติ ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น และการที่คุณจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อพวกเค้าอยู่เสมอนั้นก็หมายถึงว่าคุณจะต้องทำงานในเวลาปกติ

ชีวิตของการเป็นฟรีแลนซ์นั้นโดดเดี่ยว ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ดูดกินพลังงานจากคนอื่น การเป็นฟรีแลนซ์อาจจะเป็นหนทางที่โดดเดี่ยวเกินไป แต่สำหรับผู้ที่ต้องการมันก็ไม่ต้องหมดหวัง ยังมีทางทดแทนให้กับการขาดการติดต่อประจำวันได้ มีฟรีแลนซ์หลายคนเลือกที่จะเป็นฟรีแลนซ์นอกสถานที่ ซึ่งพวกเค้าจะทำงานร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงานของผู้ว่าจ้างเป็นการชั่วคราว บางกลุ่มก็หันไปหากลุ่มเพื่อนร่วมสายงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ

การเติบโตของการเป็นฟรีแลนซ์นั้นต้องใช้เวลา ต้องใช้เวลาในการตั้งตัวคุณเอง และต้องใช้เวลาในการทำเงิน ทั้งหมดนี้สามารถทำให้คุณคลั่งและทำให้คุณไม่ได้นอนได้ แต่ด้วยความสามารถ ความอดทน และโชคอีกนิดหน่อย การเป็นฟรีแลนซ์จะเป็นหนึ่งในวิธีการทำงานที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง


ตัวเลือกการเป็นฟรีแลนซ์

ข้างล่างนี้เป็นงานฟรีแลนซ์ที่พบเห็นมากที่สุด


• นักบัญชี

• เซฟทำอาหาร

• คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

• คนจัดงาน event ของบริษัท

• คนใส่ข้อมูล

• วิศวกร

• คนทำอนิเมชั่นในหนัง

• นักวางแผนการเงิน

• นักจัดดอกไม้

• คนซ่อมเฟอร์นิเจอร์

• กราฟฟิคดีไซเนอร์

• หมอนวดรักษา

• ช่างถ่ายรูป

• นักสืบส่วนตัว

• ที่ปรึกษาด้านการขาย/การตลาด

• พนักงานขายทางโทรศัพท์

• นักแปล

• ครูสอนพิเศษ

• นักออกแบบเวบไซต์

• นักเขียน

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสม ควรทำอย่างไร

การบริหารสินค้าคงคลังที่ดี เป็นการลดต้นทุนของธุรกิจได้มาก เพราะค่าสถานที่เก็บสินค้า ค่าพนักงานดูแล ค่าระบบตรวจสอบ ค่าสูญเสียจากสินค้าเก่าเก็บหรือเสื่อมสภาพ ล้วนเป็นต้นทุนทางธุรกิจทั้งสิ้น ยังไม่รวมถึง ความเสี่ยงหากเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม ปลวกหรือมอดกัดกิน ถูกลักขโมย ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่ความสูญเสียทางธุรกิจ



การทำธุรกิจที่ดีนั้น ควรทำให้ระดับสินค้าคงคลัง มีน้อยที่สุด แต่เพียงพอ ไม่ขาดมือ และไม่สูญเสียโอกาสในการขาย เรื่องนี้ฟังดูง่ายแต่ทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะหากมีสต็อกน้อยเกินไป หากของหมดไม่มีขาย ของที่สั่งไปก็ยังไม่มาแต่ลูกค้าต้องการแล้ว ลูกค้าก็อาจไปซื้อจากที่อื่น ทำให้สูญเสียลูกค้าไป แต่ถ้ามีทุกแบบให้เพียงพอต่อการเลือกสรรของลูกค้า ก็ทำให้ทุนจม บางแบบขายไม่ดีก็เก็บจนเก่าหรือใกล้หมดอายุ ต้องนำมาขายเลหลังขาดทุน


การจัดการเรื่องนี้ ต้องมีระบบฐานข้อมูลสินค้าเข้ามาช่วยครับจึงจะดี คือมีการบันทึกไว้ทุกเดือนว่า สินค้าอะไร ขายได้มากน้อยเท่าไหร่ ขายหมดภายในกี่วัน ช่วงไหนขายดีเป็นพิเศษ เช่น สินค้าตามฤดูกาล หรือ ตามเทศกาล เป็นต้น สินค้าตัวที่ขายไม่ค่อยได้ ก็ไม่ต้องสั่งมาเก็บสำรองไว้มากนัก หากลูกค้าสั่งค่อยโทรสั่งผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ลูกค้าไปซื้อจ้าวอื่นก็ยังไม่เสียหายมากนัก เพราะนานๆมีลูกค้าที่อยากได้ของในแบบชิ้นนี้สักคน เป็นต้น


การกำหนดจำนวนขั้นต่ำที่จะสั่งซื้อให้สินค้าทุกรายการนั้นสำคัญ โดยกำหนดว่า หากสินค้าลดลงถึงระดับที่กำหนด ก็จะถูกสั่งซื้อโดยทันที โดยมีการเผื่อเวลาผลิตและจัดส่ง หรือ Lead Time เอาไว้ด้วย สินค้าบางอย่างมี Minimum Order Quantity หรือ จำนวนการสั่งซื้อขั้นต่ำ ที่ต้องเป็นไปตามผู้ผลิตหรือผู้จัดส่ง หากสั่งน้อยกว่านี้จะไม่ส่งให้ หรือ คิดที่ราคาสูง ประเด็นนี้ก็ต้องนำมาพิจารณาเช่นกัน


อายุการเก็บรักษาของสินค้า มีความสำคัญมากต่อการสั่งซื้อเช่นกัน สินค้าบางอย่างมีอายุการเก็บรักษาจำกัด เช่น อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น หากเก็บนานเกินไป อายุก็เหลือน้อย ต้องทิ้งทั้งหมด สูญเสียเปล่าๆ รวมถึงสินค้าแฟชั่นด้วยครับ หากพ้นช่วงที่คนนิยมไปก็จะขายไม่ออก หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากเลยเวลาก็ตกรุ่นขายไม่ได้ราคา หากสินค้าอายุสั้น เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บางธุรกิจจะใช้วิธีสั่งสินค้าตัวอย่างมาเพียง 1-2 ชิ้นเท่านั้น ตัวที่วางโชว์เป็นของจำลอง เช่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เมื่อของที่สั่งมาขายได้แล้วจึงค่อยสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่ม


เรื่องการรักษาระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสมนั้น ไม่มีกฎตายตัว ขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละประเภท ความยากง่ายในการซื้อหา ราคา อายุการเก็บรักษา ความรวดเร็วในการจัดส่ง ภาวะตลาด ระดับเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ฯลฯ ดังนั้น เจ้าของกิจการต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ว่าสินค้าใดขายดี ขายไม่ดีอย่างไร หากระบบสามารถบันทึกและแสดงผลเป็น Real Time หรือ ทันทีทันใดตลอดเวลาได้ยิ่งดี ซึ่งแบบนี้อาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วย แต่อย่างน้อยต้องติดตามทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของธุรกิจ

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน

(โดย ศศิ คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.))



วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) และวิธีต้นทุน (Cost Approach) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการที่กำหนดไว้ ตามแนวทางและวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดขึ้นโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในบางกรณีมูลค่าที่ได้จากวิธีทั้งสองกลับสามารถลดข้อโต้แย้ง และใช้ในการเจรจาตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินได้เหมาะสมกว่าวิธีรายได้

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach)

โดยหลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด หรือตามมูลค่าตลาดนี้จะอาศัยข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดของทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกัน เป็นการกำหนดเปรียบเทียบว่าราคาตลาดของทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งถือเป็นวิธีการหลักสำหรับการประเมินราคาทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้ แต่ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้นี้ วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้หรือไม่มีการใช้กันเลยในการประเมินทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย จนทำให้ในบางครั้งเกิดความเข้าใจว่าไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวกับการประเมินราคาทรัพย์สินทางปัญญาได้

สำหรับประเทศไทยก็อาจถือได้ว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการหาราคาตลาด ข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดในการอ้างอิงเปรียบเทียบนั้น มีจำนวนน้อยรายหรืออาจเรียกได้ว่าไม่สามารถหาข้อมูลได้เลย และข้อมูลการซื้อขายหรือการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันก็มักจะไม่มีการเปิดเผย รวมถึงข้อมูลอ้างอิงทางอ้อมก็ยังไม่มีสามารถอ้างอิงได้

แต่ในข้อเท็จจริงแล้วสำหรับในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการทำธุรกิจอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา ราคาตลาดที่ปรากฏของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถหาฐานราคาอ้างอิงในการประเมินมูลค่าได้ในตลาดหลักทรัพย์ และมักจะเป็นราคาที่ปรากฏในตลาดต่อรอง OTC (Over the Counter) เช่น ตลาด NASDAQ

หุ้นของธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาด NASDAQ นี้เป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี หรือประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยส่วนใหญ่ ซึ่งอาจคำนวณจากอัตรา P/E Ratio (Price per Earning Ratio) ของธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะแบบเดียวกันหรือเทียบเคียงกัน เพื่อคำนวณหามูลค่าของธุรกิจ (Business Value) ซึ่งก็จะสามารถหามูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจในลักษณะเชิงเปรียบเทียบได้

วิธีการกำหนดมูลค่าในรูปของมูลค่าของธุรกิจแบบดังกล่าวนี้ มักถูกนำมาใช้จากนักลงทุนหรือกองทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสนใจในธุรกิจด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย โดยเสนอวงเงินต่อผู้ประกอบการในการเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะของหุ้นส่วน (Partnership) หรือการร่วมทุน (Joint Venture)

จากการขาดความเข้าใจถึงวิธีการหรือที่มาในการกำหนดมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการประเมินตามราคาตลาดในลักษณะนี้ ทำให้ในบางครั้งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่า มูลค่าการเข้าหุ้นหรือการร่วมทุนที่ต่างชาติเสนอนี้ มีที่มาจากวิธีการใดและเป็นธรรมกับตนเองหรือไม่

เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลตลาดของทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีจำนวนข้อมูลมากเพียงพอที่จะใช้อ้างอิงได้เหมือนกับข้อมูลในตลาดต่างประเทศ แต่ในอนาคตเมื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการดำเนินการแพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นและเติบโตจนสามารถดำเนินการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาด MAI หรือ SET ก็จะทำให้มีข้อมูลเพียงพอ ที่จะใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาตลาดในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาได้เช่นเดียวกันกับวิธีประเมินแบบอื่น

วิธีต้นทุน (Cost Approach)

หลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบตามวิธีต้นทุนนี้ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการประเมินราคาตามมูลค่าทดแทนสุทธิ (The Depreciated Replacement Cost Basis of Valuation) สำหรับการประเมินทรัพย์สินประเภทที่จับต้องได้ (Tangible Asset) เช่น อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับต้นทุนของสิ่งปลูกสร้าง หรือต้นทุนค่าก่อสร้างว่าต้องใช้ต้นทุนทั้งหมดเท่าใดจึงจะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งจะประกอบด้วยการประเมินหรือการคิดมูลค่าของต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ต้นทุนค่าแรงงานในการผลิต ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิต และอาจรวมผลกำไรจากการดำเนินการ จนได้ทรัพย์สินที่แล้วเสร็จสมบูรณ์

ในขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทจับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) นั้นก็สามารถประยุกต์ใช้ในหลักการเดียวกัน เพียงแต่ต้นทุนวัตถุดิบหลักและต้นทุนแรงงานการผลิตจะรวมเข้าอยู่ด้วยกัน คือต้นทุนของสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ของผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือมาจากบุคลากรในทีมผู้ประดิษฐ์หรือผู้พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น แม้ว่าอาจจะมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นที่จับต้องได้รวมอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คอมพิวเตอร์ Software ต่างๆ อยู่ด้วยก็ตามโดยหลักการทั่วไปในกรณีที่ต้องการประเมินทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีต้นทุนจะมีต้นทุนหลัก 2 ส่วนคือต้นทุนค่าแรงหรือค่าความคิดและต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น

เพื่อให้เห็นภาพในแนวทางการคิดโดยวิธีการดังกล่าว สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนซึ่งได้พัฒนาขึ้นแล้วเสร็จโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ด้วยตนเองเพียงผู้เดียว เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการดังกล่าวใช้วิธีต้นทุนในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนชิ้นนี้ จะมีรายละเอียดที่ปรากฏในการกำหนดต้นทุนต่างๆในลักษณะตัวอย่างการคำนวณดังนี้คือ

ต้นทุนค่าความคิดหรือค่าแรง

จะเป็นการคิดตามอัตราค่าจ้าง ค่าแรงงาน ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยการคิดค่าแรงจะคิดจากจำนวนบุคลากร x อัตราค่าแรงงานที่กำหนด x จำนวนเวลาที่ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สมมติว่าผู้ประกอบการคิดค่าแรงหรือค่าความคิดของตนในอัตรา 100,000 บาทต่อเดือน เวลาทำงานเฉลี่ย 25 วันต่อเดือน โดยเวลาทำงานเฉลี่ยแต่ละวันเท่ากับ 8 ชั่วโมง

ดังนั้นอัตราค่าแรงงานที่ใช้ต่อชั่วโมงของผู้ประกอบการรายนี้จึงเท่ากับ 100,000 / 25 / 8 หรือเท่ากับ 500 บาทต่อชั่วโมง โดยจากเริ่มต้นจนพัฒนาแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 2 ปี เท่ากับ 4,800 ชั่วโมง และพัฒนาด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียวไม่มีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

(การคิดในเรื่องจำนวนเวลาจะคิดเป็นเดือนหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ แต่การคิดเป็นค่าแรงงานต่อชั่วโมงหรือเป็น Man/Hour จะง่ายและชัดเจนกว่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา มักจะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเหมือนงานประจำ รวมถึงในกรณีมีผู้อื่นเข้ามาพัฒนาหรือมีการจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการพัฒนาต่อก็จะสามารถคิดต้นทุนได้ง่ายกว่า รวมถึงสามารถแบ่งมูลค่างานออกตามจำนวนชั่วโมงที่บุคคลนั้นรับผิดชอบได้)

ดังนั้นค่าแรงงานหรือค่าความคิดของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงมีมูลค่าเท่ากับ 4,800 x 500 เท่ากับ 2,400,000 บาท

ต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนา

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถแยกออกได้เป็นหลายส่วน เช่น ต้นทุนค่าสถานที่ในการพัฒนา ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง ต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาเหล่านี้ควรแยกออกให้ละเอียดที่สุดเท่าที่เป็นได้ ตัวอย่างเช่น

• ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่

สมมติว่าใช้สถานที่ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตนในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร โดยประมาณการว่าค่าเช่าพื้นที่ดังกล่าวมีราคาค่าเช่าประมาณ 100 บาท/ตารางเมตรต่อเดือน (แม้ว่าจะใช้พื้นที่บ้านของตนในการพัฒนาก็ตาม เพราะถือว่าในข้อท็จจริงแล้วถ้าผู้ประกอบการไม่มีพื้นที่อยู่เดิม ก็มีความจำเป็นต้องไปเช่าพื้นที่ภายนอกในการดำเนินการ) เป็นเวลา 2 ปี ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่จึงเท่ากับ 2 x 50 x 100 x 12 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา

สมมติว่าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ราคา 30,000 บาท พร้อม Application Software คือ Microsoft Office ราคา 12,000 บาท AutoCAD ราคา 300,000 บาท พรินเตอร์ Laser Color 1 เครื่อง ราคา 18,000 บาท โดยมีใบเสร็จรับเงินการซื้ออุปกรณ์ และ Software ทั้งหมดครบถ้วน โดยคิดว่าเครื่องมือและ Software ในการพัฒนาดังกล่าวมีอายุ 3 ปี และถือว่าเครื่องมือทั้งหมดนี้มีมูลค่าซากเท่ากับ 0 ดังนั้นต้นทุนของเครื่องมือในการพัฒนานี้เท่ากับ (30,000 + 12,000 + 300,000 + 18,000) x 2/3 เท่ากับ 240,000 บาท (การคำนวณใช้เพียง 2 ปีจากอายุเต็มการใช้งาน 3 ปี เนื่องจากถือเป็นต้นทุนเฉพาะที่นำมาใช้เฉพาะกับทรัพย์สินทางปัญญานี้เท่านั้น)

• ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา

สมมติว่าได้มีการลงทุนซื้อเครื่องมือด้านโลหะสำหรับการพัฒนาต้นแบบ พร้อมกับวัตถุดิบโลหะและวัตถุดิบเกี่ยวข้องต่างๆทั้งหมด โดยมีใบเสร็จรับเงินของอุปกรณ์หรือวัตถุดิบตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ เท่ากับ 500,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนาเท่ากับ 500,000 บาท

• ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ โทรสาร โดยเฉลี่ยทั้ง 2 ปี ในส่วนของการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เท่ากับ 2 x 12 x 10,000 เท่ากับ 240,000 บาท

• ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการชำระเงินค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆที่เกิดขึ้นและได้เก็บใบเสร็จรับเงินไว้ครบถ้วน อันได้แก่ ค่าเครื่องเขียน แบบพิมพ์ หมึกพิมพ์ เป็นต้น เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้นต้นทุนวัสดุสิ้นเปลืองเท่ากับ 2 x 12 x 5,000 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนดำเนินการต่างๆ ระหว่างการพัฒนา

สมมติว่าในระหว่างการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ายานพาหนะ ค่าดำเนินการติดต่อ หรือค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยผู้ประกอบการประมาณการว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเกิดขึ้น เท่ากับ 1,500 บาท ต่อเดือน ดังนั้นต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา เท่ากับ 2 x 12 x 1,500 บาท เท่ากับ 36,000 บาท

• ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ

โดยผู้ประกอบการตั้งใจจะนำทรัพย์สินทางปัญญญาของตนมาดำเนินธุรกิจ จึงได้นำทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และได้ดำเนินการติดต่อที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่ปรึกษา ทนายความ เพื่อจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดตั้งบริษัท จัดทำแผนธุรกิจ โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามเอกสารสัญญา ประมาณ 100,000 บาท ดังนั้นต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจจากทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงเท่ากับ 100,000 บาท

ดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ จึงมีผลลัพธ์ในมูลค่าตามวิธีต้นทุนจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เท่ากับ 2,400,000 + 120,000 + 240,000 + 500,000 + 240,000 + 120,000 + 36,000 + 100,000 เท่ากับ 3,756,000 บาท หรือประมาณ 3,800,000 บาท

จากราคาประเมินดังกล่าวหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน อาจจะยอมรับมูลค่าในทุกๆรายการหรืออาจเพียงบางรายการก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าผู้ประกอบการมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือก็มักจะไม่เกิดข้อโต้แย้งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการได้จ่ายไปแล้วจริงและมีหลักฐานอ้างอิงที่ยอมรับได้

ตามที่กล่าวมาในตอนที่แล้วว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพอใจ เกี่ยวกับมูลค่าราคาทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากวิธีต้นทุน เพราะมีความแตกต่างของมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าที่คิดตามวิธีรายได้มาก เช่น ตามวิธีต้นทุนมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาอาจอยู่ระดับ 3-4 ล้านบาท แต่มูลค่าตามวิธีรายได้อาจอยู่ถึงหลายสิบล้านบาทหรือหลักร้อยล้านบาท อันเนื่องจากประมาณการรายได้ที่สูงเกินไป

ในขณะที่กำหนดอัตราคิดลดกระแสเงินสด (Discount Rate) ที่ต่ำจนเกินไป ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาตามวิธีรายได้มีมูลค่าสูงจนอาจถึงสูงเกินจริง ทำให้ผู้ประกอบการมักจะขอเลือกใช้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของตนจากวิธีรายได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการลงทุนไปจริงในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้นก็อยู่ที่ 3-4 ล้านบาท หรืออาจจะน้อยกว่าจากมูลค่าตามที่คำนวณตามวิธีต้นทุนเสียอีก

และวีธีต้นทุนดังกล่าวนี้จะเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือง่ายต่อการตีมูลค่าเป็นทุนของธุรกิจ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแท้จริงของธุรกิจอันได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญานั้น ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น เอกสารใบเสร็จรับเงิน เอกสารสัญญา เอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะทำให้มีความน่าเชื่อถือในที่มาของต้นทุนที่กำหนดได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในส่วนที่ขาดก็ยังอาจสามารถเปรียบเทียบจากข้อมูลหรือแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายได้โดยง่าย ยกเว้นส่วนของค่าแรงหรือค่าความคิด ซึ่งบางครั้งพบว่าผู้ประกอบการบางรายกำหนดขึ้นจนเกินจริงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ เช่น บอกว่าอัตราค่าแรงจากค่าความคิดของตนเท่ากับเดือนละ 500,000 บาท หรือบอกว่าตนเองพัฒนามาแล้วเป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี จึงขอคิดค่าแรงเดือนละ 500,000 บาทนี้ เป็นเวลา 10 ปี หรือเท่ากับ 60 ล้านบาท ทำให้ยากที่จะเป็นที่ยอมรับได้ต่อบุคคลภายนอก

เกี่ยวกับประมาณการหรือสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วค่าแรงหรือค่าความคิดควรใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างในตลาด รวมถึงเวลาในการพัฒนาที่ยอมรับโดยทั่วไปที่ใช้ จะอยู่ไม่เกินประมาณ 3 ปี แต่ก็อาจอนุโลมได้ถึง 5 ปี ถ้าทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อน แต่ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นที่น่าเชื่อถือด้วย

จะเห็นได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีต้นทุน จึงเหมาะสมกว่าการกำหนดมูลค่าด้วยวิธีรายได้ เพราะสะดวกต่อการบันทึกบัญชีเป็นทุนของธุรกิจในส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เนื่องจากสามารถสอบย้อนข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนที่จ่ายไป และถ้าผู้ประกอบการหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการเก็บหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของมูลค่าหรือต้นทุนการได้มา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตของธุรกิจสามารถลงนามรับรองงบการเงินของธุรกิจ ในเรื่องของการนำมาใช้เพื่อเป็นทุนของธุรกิจ และยังขจัดข้อโต้แย้งระหว่างตัวผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตามควรมีการใช้ราคาประเมินตามวิธีรายได้ประกอบการพิจารณาด้วย เพราะส่งผลในการพิจารณาให้ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (Premium) หรือการพิจารณาในการเพิ่มข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ในกรณีที่มีประมาณการรายได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตามวิธีรายได้ เช่น ในเรื่องของมูลค่าหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน หรือการเพิ่มวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน ถ้าทรัพย์สินนั้นสามารถสร้างรายได้ตามประมาณการที่กำหนด โดยผู้ประกอบการอาจขอให้มีการพิจารณาในการสนับสนุนหรือมีการประเมินราคาทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นรายปี เพื่อพิจารณาว่ามูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนนั้นในแต่ละปีมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด

แต่มิใช่เป็นการยืนยันตั้งแต่เริ่มต้นของผู้ประกอบการที่จะต้องให้ใช้ราคาประเมินตามวิธีรายได้ที่กำหนดตั้งแต่แรกป็นหลักสำคัญ ในการกำหนดวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหนือสถาบันการเงิน เพราะประมาณการดังกล่าวก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คาดเดาเอา จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจไม่เป็นไปไปตามที่คาดหวังและเป็นความเสี่ยงสำคัญของทางหน่วยงานหรือสถาบันการเงินในการพิจารณา จนทำให้เกิดปัญหาในการสนับสนุนทางการเงินจากทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากับการทำธุรกิจ จะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ว่าควรมีการดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา และสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจเป็นนักเขียน

ความรู้ที่น่าสนใจ นำมาฝากผู้อ่าน Blog
(ขอขอบคุณข้อมูลความรู้จาก  บรรณาธิการ สำนักพิมพ์แจ่มใส)

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจเป็นนักเขียน

สาเหตุหลัก ที่ทำให้คนอยากเป็นนักเขียน ก็คือ "อ่านมาก" คนเราพอได้อ่านหนังสือไปมากๆ ก็มักอยากระบายออกมา บ้าง บางคนกลายเป็นนักพูด (นักพูดที่ดีมักเป็นนักอ่านตัวยงด้วยแทบทั้งสิ้น) เพราะชอบพูด ในขณะที่บางคนจะรู้สึกคันไม้ คันมืออยากจะเขียนมากกว่า ผมว่ามันก็มีส่วนคล้ายกับสัญชาติญาณการสืบพันธุ์ของคนเรากลายๆ แต่มันคือสัญชาตญาณ ของการสืบทอดทางภูมิปัญญา จิตวิญญาณ อารมณ์ วัฒนธรรม และวิทยาการของมนุษย์นั่นเอง อาการนี้ก็เป็นกันมาตั้งแต่ โบราณ ถือเป็นสิ่งปกติของปัญญาชน แรงขับดันอันนี้จึงก่อให้เกิดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการถ่ายทอดทางภูมิปัญญา สืบสานต่อเนื่องเรื่อยมาจวบจนปัจจุบันนี้


งานเขียน ถือเป็นศิลปะอันล้ำลึกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้เขียนอยากจะสื่อสารแก่ผู้อ่าน บางคนถนัดที่จะใช้วิธีบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา (พวกตำราวิชาการจะใช้วิธีนี้แทบทั้งหมด) บางคนชอบใช้การอุปมา อุปไมย โดยใช้บุคคลหรือสัญญลักษณ์ บางคนใช้คำบอกเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ในขณะที่บางคนชอบใช้ สำนวนที่แปลกออกไปหรือบอกเล่าอย่างคลุมเครือแทน ทว่าสิ่งที่แสดงออกในงานเขียนของแต่ละคน มักสะท้อนถึงความรู้สึก นึกคิด นิสัยใจคอ ตลอดถึงความเชื่อและทัศนคติ ของผู้เขียนเรื่องนั้นๆ ได้ว่าเป็นคนลักษณะเช่นใด

ปัจจุบันนี้ คนไทยนิยมการอ่านหนังสือกันมากขึ้น ทำให้ตลาดของธุรกิจหนังสือในบ้านเราโตขึ้นทุกปี ทั้งกลุ่มของหนังสือ วิชาการและหนังสือวรรณกรรม ท่านที่เคยไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะเห็นว่ามีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมามากมายราวกับ ดอกเห็ดหน้าฝนเลยนะครับ มีตัวเลขเฉลี่ยว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรามีผู้ผลิตหนังสือออกสู่ท้องตลาด ประมาณวันละ 20 ปก หากเราคิดเสียว่าพิมพ์กันปกละ 500 เล่ม ก็จะมีหนังสือเกิดขึ้นวันละ 10,000 เล่ม คงจะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เลย แต่สัดส่วนของสำนักพิมพ์และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ คือได้รับการยอมรับจากตลาดนักอ่านมีอยู่ไม่ถึง 20 % นั่น หมายความว่าสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้น 100 แห่ง จะรอดปากเหยี่ยว ปากกามาได้ราว 10 กว่าแห่งเท่านั้นเอง ผมขอข้ามเรื่องของ ธุรกิจสำนักพิมพ์ไปก่อน โดยจะขอพูดถึงแต่เฉพาะมุมของ "นักเขียน" เท่านั้น

"นักเขียน" คือ ปัจจัยสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าสำนักพิมพ์จะอยู่รอดหรือไม่ ดังนั้นทุกสำนักพิมพ์จึงให้ความสำคัญกับนัก เขียนมาก หากเขาไม่มั่นใจเต็มร้อยกับผลงานของคุณ เขาคงไม่กล้าเสี่ยงแน่ นอกจากคุณจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเขา แต่สำนักพิมพ์ประเภทที่ว่านี้มักไปไม่รอด กล่าวคือเจ้าของสำนักพิมพ์ก็เป็นนักเขียนเอง และเพื่อนฝูงที่สนิทสนมก็อยากเป็น นักเขียนกันแทบทั้งนั้น พอหาเงินทุนได้ก้อนหนึ่งก็นำมาเปิดเป็นสำนักพิมพ์ แล้ววาดฝันว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างล้น หลามจากวงการหนังสือ พอเปิดตัวเข้าจริง กลับไม่เป็นไปตามที่คิด เงินทุนก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ในวงการหนังสือจะมีสำนักพิมพ์ประเภทนี้เกิดขึ้นและดับไปอยู่แทบจะตลอดเวลา คล้ายกับนักลงทุนกลุ่ม "แมงเม่า" ใน ตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ปาน สิ่งเหล่านี้ยืนยันให้เห็นถึงมนตร์ขลังของ "หนังสือ" ได้ว่าเปี่ยมด้วยเสน่ห์เพียงใด

อุปสรรคของการเป็นนักเขียนให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

1. ความเชื่อมั่นในตัวเอง

คนจำนวนไม่น้อยที่มีพรสวรรค์ด้านการเขียนมาแต่กำเนิด แต่ไม่ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนเต็มตัวเสียที สาเหตุมาจาก "ความอาย" ไม่กล้าเอางานที่ตัวเองเขียนไปเสนอตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้ายเลยต้องแจกให้เพื่อนอ่านเล่นเท่านั้น ลอง ถามตัวเองว่า "กลัวอะไร" กลัวเขาจะปฏิเสธเหรอ หรือกลัวเสียฟอร์ม ถ้ายังไม่เคยลองดูเลยสักครั้ง ก็ไม่น่าปล่อยให้ความวิตก กังวลมาเป็นอุปสรรคจนต้องล้มเลิกความตั้งใจเลยนะครับ ลองดูเถอะ นึกเสียว่าซื้อล็อตเตอรี่ก็แล้วกัน เผื่อจะมีโชคกับเขาบ้าง ว่าแต่คุณเชื่อมั่นในผลงานของตัวเองหรือยังว่ามันดีพอ ถ้าคิดว่ายังก็รีบปรับปรุงต้นฉบับเสียใหม่ให้ดียิ่งขึ้น พอจะบอกตัวเอง ได้ไหมว่า "คุณคือนักเขียนที่มีความสามารถสูง" ถ้าตัวคุณเองยังไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ แล้วจะให้แมวที่ไหนมา เชื่อเล่าครับ มีสุภาษิตจีนเขาบอกว่า "หมื่นลี้ ก็ต้องมีก้าวแรก" ตราบใดที่คุณยังไม่กล้าที่จะก้าวเท้าออกมาเป็นก้าวแรก การ เดินทางหมื่นลี้ก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้หรอกครับ

2. ความตั้งใจจริง

หลายคนที่เคยเสนองานให้สำนักพิมพ์พิจารณาสัก 1-2 แห่ง เมื่อเขาไม่สนใจผลงานของตน ก็เป็นอันพับความฝันเสีย แล้ว แสดงว่าเขาไม่เชื่อคำพูดที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น" งานเขียนเป็นงานที่แสดงถึงความตั้งใจ จริงของผู้เขียนได้ดี ว่ามีความพิถีพิถันต่อคุณภาพของงานของตนเองเพียงใด ผมเคยอ่านนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง ต้นเรื่องพระเอก เขามีชื่อหนึ่ง สมมติว่าชื่อ "สุรชัย" ก็แล้วกัน แต่พอมาถึงกลางเรื่องเขากลายเป็น "สุรพล" ผมก็งงว่านายสุรพลนี่คือใคร ตัว ละครใหม่เหรอ ครั้นพอมาถึงท้ายเรื่องเจ้าหมอนี่กลับมาชื่อ "สุรชัย" อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่างานชิ้นนี้ "สุกเอา เผากิน" ขนาดหนักเลยทีเดียว อย่าลืมนะครับ อย่าให้ความล้มเหลวชั่วขณะ มาบั่นทอนสมาธิและความมุ่งมั่นในการทำงานของคุณได้ เชื่อเถอะครับว่า "ความสำเร็จรออยู่ สำหรับทุกคนที่ทำงานด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น และไม่ย่อท้อ" หากคิดจะทำงานเพียงเพื่อเงิน ทองและชื่อเสียง คุณจะเหมือนดอกไม้ไฟ ที่เปล่งประกายได้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่จะดับวูบไปตลอดกาล

3. การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

แม้แต่นักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังต้องเจออุปสรรคข้อนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่ายิ่งดังก็ยิ่งกดดันว่ายังงั้นเถอะ ลองนึกถึง หัวอกของ J.K. Rowling ผู้เขียนเรื่อง Harry Potter ดูเถอะครับ ว่าเธอต้องแบกรับความคาดหวังจากแฟนทั่วโลก ที่เฝ้ารอ คอยตอนใหม่ของ Harry Potter อยู่อย่างใจจดใจจ่อ ถ้าผลงานของเธอลดลงไปจากที่เคยสร้างไว้ เธอถูกแฟนๆ สับเละเป็นโจ๊ก โดนระเบิดแน่ แม้ว่าคุณจะเพียงเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ที่อาจจะไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับผลงานของคุณมากนักก็ตาม แต่คุณก็ยังจำเป็นต้องสร้างเสริมนิสัยในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเอาไว้ด้วย เพราะนี่คือลักษณะของผู้เป็นมืออาชีพของ ทุกวงการ ในการที่จะรักษาความสำเร็จที่ได้รับให้คงไว้ และพัฒนาสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงยิ่งขึ้นต่อไปอีก

ทำอย่างไรจึงจะได้งานเขียนที่มีคุณภาพ

1. ศึกษาและสังเกต

นักเขียนที่ดีต้องอ่านให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะในแนวที่คุณสนใจอยากจะเขียน หากคุณตั้งเป้าอยากเป็นนักเขียน เรื่องสยองขวัญ เพราะชอบอ่านเรื่องของ "ใบหนาด" แต่คุณไม่เคยอ่านเรื่องของ Stephen King บ้างเลย เรื่องที่คุณเขียน ออกมา ก็จะมีกลิ่นอายของคุณลุง "ใบหนาด" มาอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย เพราะคุณได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของท่าน มาเต็มๆ อ่านเยอะยังไม่พอ ต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า จุดเด่นของนักเขียนผู้นี้เป็นอย่างไร เมื่อตั้งข้อสังเกตบ่อยๆ แล้วคุณจะ พบว่าฝีมือในการเขียนของคุณจะพัฒนาไปได้เรื่อยๆ เพราะคุณก็จะเริ่มตั้งข้อสังเกตกับผลงานของคุณเองด้วยเช่นกัน

2. ฝึกฝนและทดลอง

ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่หรอกครับ การฝึกฝนจะทำให้เราเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการทดลอง จะนำมาซึ่งความแปลกใหม่ในผลงานของเรา โดยเฉพาะนักเขียนที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว บางคนไม่กล้าขยับตัวออกไปจาก กรอบความคิดของผลงานเดิมๆ ที่เคยทำไว้ กลัวพลาด อย่างนี้เขาเรียกว่า "ตัน" เหมือนเวลาเราเข้าซอยตัน ก็ต้องหันหลัง เดินกลับทางเก่าที่เคยผ่านมา นักเขียนหลายคนที่ไม่ยอม "ตัน" ทางความคิด เขาไม่ยอมจำเจ หรือจมอยู่กับความสำเร็จ เดิมๆ เป็นอันขาด ระหว่างที่นักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยชื่อเสียงเดิม กับผลงานที่ย่ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้อ่านจะไล่ลง จากเวที คุณเล่าครับจะเลือกเดินแบบไหนดี

3. ค้นหาตัวเองให้พบ

ในงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี จิตรกรรม ฯลฯ รวมถึงงานด้านการประพันธ์ด้วย สิ่งหนึ่งที่เหล่าศิลปิน เขาถือนักถือหนาคือ "การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง" หากใครที่ยังไม่สามารถสร้างแนวทางเฉพาะตนขึ้นมาได้ เขายังถือ เสมือนเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ เพราะยังต้องเที่ยวเลียนแบบรูปแบบงานของคนอื่นอยู่เรื่อยไป ทักษะและประสบการณ์ ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาเป็นรูปแบบของตนเองได้ ใครก็ตามที่ได้ "ศึกษาและสังเกต" รวมไปถึง "ฝึกฝนและทดลอง" มาอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะค้นพบรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ในที่สุด สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์สูงแล้ว กลิ่นอาย และสำนวนของผลงาน สามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเป็นใคร โดยแทบไม่ต้องดูชื่อผู้เขียนเลยด้วยซ้ำ

4. เปิดใจรับคำวิจารณ์

การเปิดเผยผลงานออกสู่สาธารณะ ควรต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะจะมีคนวิจารณ์อยู่เสมอ บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่า ห่วย ลองเปิดใจกว้างๆ แล้วรับฟังเหตุผลของเขาดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคำตำหนิที่มีเหตุมีผล เราก็ควรถือเอาคำตำหนิ เหล่านี้มาเป็นครูของเรา แต่ถ้าเป็นคำตำหนิที่ไม่เป็นจริงตามที่เขาพูด เราก็ปล่อยมันลอยลมไป ก็เท่านั้นเอง อย่าถือตัว ตนว่าเราเก่งแล้ว ไม่ต้องการคำแนะนำจากใครอีกแล้ว มิเช่นนั้นในไม่ช้าไม่นานเราก็จะกลายสภาพเป็น "กบที่อยู่ใน กะลาครอบ" ไปเท่านั้นเอง

5. พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง

ในโลกของการทำงานนั้น ไม่มีคำว่า "ดีที่สุด" หรือ "เก่งที่สุด" สิ่งที่ว่าดีแล้ว ย่อมทำให้ดีกว่าเดิมได้อยู่เสมอ คนที่ว่า เก่งแล้ว ก็ต้องมีคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า "ผมเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยหยุดเดิน หรือเดินถอยหลัง" นอก จากพรสวรรค์แล้ว คนที่รู้จักหาพรแสวงใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะเดินก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าจะเร็วหรือช้า นั้น นั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง งานเขียนหนังสือก็ควรมีการพัฒนารูปแบบของการเขียนอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เราจะ สังเกตเห็นว่านักเขียนชั้นนำที่สามารถรักษาชื่อเสียงได้อย่างยาวนาน มักจะผลิตงานเขียนได้อย่างคงเส้นคงวา และมี รูปแบบแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์อรรถรสให้แก่ผู้อ่านอยู่เสมอ

6. อดทน

บางทีความสำเร็จมันแวะไปเที่ยวอยู่กับคนอื่น ต้องรออีกหน่อยมันถึงจะมีเวลาแวะมาเยี่ยมเราบ้าง โดยเฉพาะงานรูป แบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับใคร มักจะโดนด่าเละก่อนเป็นธรรมดา คิดเสียว่าเขายังไม่คุ้นก็แล้วกัน อย่าเพิ่งท้อถอย อย่าเพิ่ง ล้มเลิก ทำมันต่อไปเถิด หากเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้ววันหนึ่งคนอื่นเขาก็จะเข้าใจเอง ลองย้อนมองดูนักเขียน ชั้นนำ ทั้งของไทยและต่างประเทศเถอะครับ มีใครบ้างที่ประสบความสำเร็จได้โดยทันที โดยไม่ต้องเรียนรู้คำว่า "อดทน"

ทำอย่างไรงานเขียนของคุณจึงได้รับการยอมรับจากสำนักพิมพ์

1. รู้เขา รู้เรา

อันดับแรกคุณต้องรู้จักตัวคุณเองอย่างดีพอเสียก่อน ไม่ใช่เขาถามว่า "ถนัดเขียนแนวไหน" แล้วคุณตอบเขาไปว่า "ถนัดทุกแนว" เป็นอันจบเห่ ไม่มีใครเชื่อหรอกครับว่าคุณจะมีอัจฉริยภาพถึงขนาดนั้น ระบุออกมาให้ละเอียดที่สุดเลย ว่าเรื่องของคุณเป็นแนวไหน เช่น "แนวคอมพิวเตอร์" มันก็ยังเป็นคำตอบที่กว้างมากเกินไป ควรระบุให้ชัดเจนไปเลย เช่น "การใช้งาน CAD/CAM ในวงการอุตสาหกรรม" นอกจากจะรู้ข้อมูลของตนเองแล้ว คุณยังควรทราบข้อมูลของสำนัก พิมพ์ที่คุณสนใจจะไปเสนองานเขาด้วยว่า เขามีนโยบายในการตีพิมพ์งานประเภทใดบ้าง หากคุณทะเร่อทะร่าเอางาน เขียน "การเขียนโปรแกรมภาษาซี" ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ธรรมสภา ซึ่งเขาพิมพ์แต่หนังสือธรรมะ หรือเอานิยาย "ผัว ดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" ไปเสนอกับบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น ไม่ว่างานเขียนของคุณจะเลิศเลอเพียงใด มันก็ต้องลงไปอยู่ ในตะกร้าขยะของบรรณาธิการอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนเสนองานกับใคร คุณควรรู้จักกับเขาบ้างพอสมควร

สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใสนั้น แนวหนังสือที่เรารับพิจารณา คือ "อ่านสนุก ปลุกกำลังใจ ให้ความรู้" ซึ่งฟังดูกว้างมาก เหลือเกิน ถ้าคุณไม่แน่ใจก็อีเมล์หรือโทรศัพท์มาคุยกันก่อนได้ ไม่ต้องเกรงใจเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยี บันเทิง ท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ถ้ากรณีอย่างนิยาย "ผัวดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" นี่เราไม่รับ ทั้งที่ผู้ เขียนอาจแย้งได้ว่า "มันอ่านสนุกนะ" แต่บังเอิญเราไม่รู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียน เกี่ยวกับนิยายฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี งามของสังคมทำนองนี้ หรือตำราวิชาการ "การผ่าตัดหัวใจเทียมด้วยเทคนิคใหม่ล่าสุด" อันนี้ถือเป็นการ "ให้ความรู้" ก็จริง แต่เราคงรับไม่ได้ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั่วประเทศไทยมีไม่ถึง 20 คน เป็นต้น

2. รู้จักสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงาน

ก่อนเริ่มงานเขียน คุณควรสำรวจท้องตลาดเสียก่อนว่า แนวที่คุณกำลังสนใจจะเขียนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีคน เขียนเอาไว้เยอะหรือยัง คุณต้องสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงานเขียนของคุณขึ้นมาให้ได้ เช่น คุณอยากจะ เขียนสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับจังหวัดอยุธยา เพราะคุณมีข้อมูลดิบเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนี้พร้อมแล้ว แต่ในร้านหนังสือตอนนี้ มีเรื่องของคู่มือเที่ยวอยุธยาอยู่แล้ว 5 เล่ม ทุกเล่มก็พาเที่ยวพระราชวังบางปะอินเหมือน กันหมด อย่างนี้คุณต้องทำการบ้านให้ชัดเจนมาก่อนว่า งานของคุณโดดเด่นและแตกต่างจากเล่มอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าพาเที่ยวบางปะอินอีกละก็ โน่น ลงตะกร้าแน่นอน (เดี๋ยวนี้นักเขียนรุ่นใหม่นิยมส่งต้นฉบับทางอีเมล์ ก็ต้องเปลี่ยน จากตะกร้าเป็น Recycle Bin แทนครับ)

ทราบมั้ยครับ ว่าบรรณาธิการของบางสำนักพิมพ์ (รวมถึงแจ่มใสด้วย) เขาให้ความสำคัญตรงจุดนี้สูงมาก มากกว่า ถ้วยรางวัลเกียรติยศที่พ่วงมากับงานเขียนของคุณเสียอีก ไม่เป็นความจริงเลย ที่ว่าเมื่อคุณเขียนหนังสือที่มีบรรยากาศ คล้ายคลึงกับเรื่องของทมยันตี แล้วหนังสือของคุณจะขายดีเหมือนของทมยันตี ตรงจุดนี้พาให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ กอดคอกันเจ๊งมานักต่อนักแล้วครับ บางคนก็ชอบอ้างว่า "คุณบอกอนี่ตาไม่ถึง ขนาดคุณทมยันตี เค้ายังเคยวิจารณ์ งานชิ้นนี้ว่าน่าสนใจมากเลย" ถามจริงๆ เถอะ คุณทมยันตีเขาสามารถพูดความจริงด้วยคำว่า "ห่วยแตก" ออกมาได้ ด้วยหรือครับ

3. ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่พบบ่อยอีกข้อหนึ่งของนักเขียนส่วนใหญ่ ที่ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาก็คือ "โดนดองเรื่อง" คือตอนที่เสนองานไม่ค่อยกล้าสอบถามให้เรียบร้อยเสียก่อน ว่าทางสำนักพิมพ์ใช้เวลาพิจารณานานไหม สามารถ ติดตามความคืบหน้าได้จากใคร ถือเสียว่าส่งเรื่องแล้วก็แล้วกันไป บางรายโดนดองเรื่องเอาไว้เป็นปี พอเอาเรื่อง ไปให้สำนักพิมพ์อื่นเขาพิจารณา แล้วเกิดผ่าน กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ ก็เกิดเหตุการณ์รถไฟชนกัน คือสำนัก พิมพ์ที่เคยดองเรื่องเอาไว้ทีแรก เกิดอยากจะตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้เช่นกัน กรณีเช่นนี้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือ ตัวนักเขียนเอง เพราะจะเสียเครดิต เพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ ทางนักเขียนควรตกลงกับสำนักพิมพ์ให้แน่ชัดใน ตอนต้นว่า จะต้องใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด และเมื่อครบกำหนดเวลาก็ต้องติดต่อสอบถามว่าผ่านการพิจารณา หรือไม่ ถ้าต้องการไปเสนอให้สำนักพิมพ์อื่นพิจารณา ควรแจ้งแก่สำนักพิมพ์เดิมให้เรียบร้อยว่าขอถอนเรื่องแล้ว

ความจริงแล้ว เหล่าบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ทั้งหลายนั้น ท่านมิได้มีเจตนาเตะถ่วงเรื่องแต่อย่างใด เพียง แต่นิสัยแบบไทยๆ เราก็คือเป็นคนขี้เกรงใจ กลัวว่าถ้าบอกออกไปว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" แล้ว จะเป็นการทำร้ายจิตใจของนักเขียนผู้นั้นจนเกินไป จึงแอบเอาผลงานหย่อนลงถังขยะไปเงียบๆ แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ทางที่ดีควรคุยกันในตอนแรกให้เรียบร้อย เช่น ต้องใช้เวลาพิจารณา 3 เดือน พอครบกำหนด 3 เดือน คุณก็ลองติดต่อไปดูอีกทีว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ถ้ายังไม่มีอะไรคืบหน้า คิดว่าไม่มีหวังแล้ว ก็ทำเรื่องขอต้นฉบับคืน (แค่ทำเรื่องเฉยๆ เพราะต้นฉบับจริงของคุณอาจกลายเป็นปุ๋ยไปแล้ว) เท่านี้ก็จบลงด้วยดีกันทุกฝ่าย คุณก็ไม่ต้อง เลือกระหว่างโดนดองเรื่องไปเรื่อยๆ หรือต้องทนฟังคำว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" เมื่อถอนเรื่องเรียบ ร้อยแล้ว คุณก็สามารถเอาผลงานไปเสนอที่อื่นต่อไปได้อย่างสบายใจ เผื่ออนาคตคุณเกิดมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา ผลงานเก่าๆ ที่อยู่ตามถังขยะของสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็อาจจะกลับมีค่าขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้

4. สรุปผลชัดเจน

ไม่ว่าเรื่องของคุณจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ก็ตาม คุณควรได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง เป็นต้นว่า สาเหตุที่งานของคุณไม่ผ่านการพิจารณานั้นเพราะเหตุใด สำนวนไม่ดี หรือพล็อตเรื่องไม่รัดกุม ฯลฯ ถ้าผลงานคุณ ไม่ดีจริงๆ (ไม่ค่อยมีใครเขากล้าบอกคุณตรงๆ หรอกว่าผลงานคุณห่วยแตก ต้องคิดดูเอาเองด้วยใจที่ไม่อคติเกิน ไปนัก) ขืนเอาไปเสนอที่อื่น เขาก็คงไม่รับอีกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า สู้เอากลับไปขัดเกลาเรื่องเสียใหม่ดีกว่า ใส่ตะกร้าล้างน้ำซะ ถือว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของเรา ในทำนองกลับกันถ้าเรื่องของคุณผ่านการพิจารณาก็อย่าเพิ่ง ดีใจจนเกินไป บางที 3 ปีผ่านไปแล้วยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เลย อันนี้แสบกว่าไม่ผ่านการพิจารณาเสียอีก คุณจึง ต้องสอบถามจากสำนักพิมพ์ให้ชัดเจนว่าผลงานของคุณจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อใด และรายละเอียดของการจัดทำ สัญญา ซึ่งมีการระบุค่าตอบแทนที่คุณจะได้รับไว้อย่างชัดเจน (อย่ากลัวว่าใครเขาจะหาว่าคุณงกเลย โดยเฉพาะ ถ้าคุณไม่ได้ทำอาชีพอื่นใด นอกจากเขียนหนังสือ ก็คุณกินอากาศแทนข้าวได้เสียเมื่อไหร่เล่า)

แนวทางภาคปฏิบัติในการผลิตงานเขียน

A. กรณีที่เป็นหนังสือซึ่งคุณเขียนขึ้นเอง


1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน

คุณควรวางแผนเสียก่อนว่า อยากจะเขียนหนังสืออะไร รูปแบบการนำเสนอเป็นอย่างไร กลุ่มคนอ่านคือคนกลุ่ม ไหน กำหนดระยะเวลาคร่าวๆ ขึ้นมา ว่าจะเริ่มเขียนเมื่อไหร่ และควรจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

2. กำหนดเค้าโครงเรื่อง

เริ่มลงรายละเอียดในแผนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเป็นหนังสือแนววรรณกรรมหรือนวนิยาย ก็ควรเริ่มวางพลอต เรื่องและตัวละครต่างๆ เอาไว้คร่าวๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือสารคดีหรือหนังสือวิชาการ ก็ควรกำหนดเนื้อหาของหนังสือว่า จะมีกี่บท แต่ละบทจะกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง ถึงขั้นตอนนี้คุณน่าจะพอมองเห็นว่าหนังสือของคุณมีความยาวประมาณ เท่าใดแล้ว

3. หาข้อมูล/วัตถุดิบ

จากแผนงานที่คุณวางไว้ คุณควรทราบแล้วว่า คุณต้องการข้อมูลหรือวัตถุดิบ เช่น ภาพถ่ายหรือเอกสารประกอบ อะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะพอสำหรับงานเขียนของคุณ หรือถ้าหากจะต้องมีการสัมภาษณ์บุคคล หรืองานภาค สนามต่างๆ ก็เริ่มกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเลยว่าจะทำเมื่อใด หรือจะต้องนัดหมายประสานงานกับใครบ้าง

4. ลงมือเขียน

เริ่มลงมือเขียนเลย อย่าลืมให้ความสำคัญกับการจัดการเวลา เช่น สิ้นเดือนนี้จะต้องเขียนเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ จะปิดเล่มได้เมื่อไหร่ ระหว่างนี้ถ้าคุณจะเริ่มติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อเสนอตัวอย่างผลงานบางส่วนก่อนก็สามารถทำได้ เลย อ้อ เวลาเขียนหนังสืออย่าลืมหาพจนานุกรมติดตัวเอาไว้ด้วย หนังสือของคุณจะได้ไม่มีภาษาวิบัติ

5. ขัดเกลาสำนวน

เมื่อเขียนจนเสร็จบริบูรณ์แล้ว ควรหาเวลานั่งอ่านต้นฉบับรวดเดียวให้จบเลย จะอ่านด้วยตัวเองหรือวานเพื่อน ฝูงมาช่วยอ่านก็ตามสบาย นอกจากตรวจสอบคำสะกดต่างๆ ให้ถูกต้องแล้ว ควรมีการขัดเกลาสำนวนในบางจุดที่คุณ ยังไม่พอใจ ให้มีความสละสลวยทางภาษามากยิ่งขึ้น

6. เสนองาน

นำต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วของคุณ ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ที่คุณคิดว่าเหมาะสม แล้วสอบถามให้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เวลาในการพิจารณางานของคุณนานเท่าใด หากต้องการทราบความคืบหน้าให้สอบถามจากใคร ตำแหน่ง อะไร

ถ้าคุณต้องการเสนอผลงานให้ทางสำนักพิมพ์แจ่มใสพิจารณา การส่งต้นฉบับอาจส่งโดยทางอีเมล์ editor@jamsai.com ก็น่าจะสะดวกดีกับทุกฝ่าย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยต้นฉบับควรเป็นไฟล์เอกสาร ของไมโครซอฟต์เวิร์ด (95 หรือ 97 ก็ได้) และถ้ามีภาพประกอบก็ควรเป็นไฟล์นามสกุล .TIF หรือ .EPS (ที่ความละเอียด 150-300 DPI) อย่าใช้ภาพกราฟฟิคนามสกุล JPEG หรือ GIF เพราะภาพอาจมีความละเอียดต่ำ เกินกว่าจะนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์

7. ติดตามผล

การติดตามผลงาน อย่าลืมระวังเรื่องของกาละเทศะด้วย นักเขียนบางคนนั้น จะด้วยความตื่นเต้นหรืออย่าง ไรก็ไม่ทราบ โทรศัพท์วันละหลายครั้งเพื่อสอบถามความคืบหน้า จนถึงขนาดสร้างความรำคาญและบรรยากาศ ที่ไม่ดี ระหว่างตัวนักเขียนกับเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ที่ไปเสนองาน ส่วนบางคนนั้น หลังจาก ที่เสนองานให้ไปพิจารณาแล้ว กลับไม่กล้าติดต่อไปหาอีกเลย เพราะเกรงว่าจะไปกวนใจเขา หลายเดือนผ่าน ไปปรากฏว่าเขาลืมไปแล้ว พอไปถาม เขาเพิ่งหยิบเรื่องออกมา แล้วให้ร้องเพลงรอต่อไป

8. ประชาสัมพันธ์

เมื่อคุณหาสำนักพิมพ์ที่จะรองรับงานของคุณได้แล้ว อยากแนะนำให้คุณประชาสัมพันธ์หนังสือของคุณเอง ด้วยอีกแรงหนึ่ง จะดีกว่าการไปรอให้สำนักพิมพ์เขาจัดการให้อย่างเดียว คำว่า "ประชาสัมพันธ์" มาจาก ประชา + สัมพันธ์ ดังนั้นในฐานะนักเขียน คุณควรสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านเขาให้มาก กรณีนี้พวกดาราหรือคน ดังเขาจะได้เปรียบ เพราะเวลาเปิดตัวหนังสือคนดัง สื่อต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจ แต่ถ้าคุณเป็นลูกชาวบ้าน ธรรมดาก็ไม่เป็นไร ทำเท่าที่กำลังของคุณจะอำนวย อย่าฝืนทำจนเกินตัว เกินกำลังไป จะกลายเป็นผลเสีย มากกว่าผลดี

B. กรณีที่เป็นหนังสือซึ่งแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ

1. เสนอเรื่อง

ถ้าคุณเป็นนักอ่านหนังสือต่างประเทศอยู่เป็นประจำ หากคุณพบหนังสือที่มีเนื้อหาสาระดี น่าแปลออกมา เป็นหนังสือภาษาไทย คุณสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักพิมพ์ที่คุณสนใจจะร่วมงาน เพื่อให้เขาติดต่อ ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือนั้นมาเพื่อพิมพ์จำหน่ายเป็นภาษาไทย

สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใส คุณสามารถส่งเรื่องมาที่ editor@jamsai.com โดยระบุชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ต่างประเทศ และเนื้อเรื่องโดยย่อของหนังสือเล่มนั้น ตลอดจนจุดเด่นที่คุณคิดว่าน่าสนใจ

2. ติดต่อลิขสิทธิ์

ควรให้สำนักพิมพ์ที่คุณติดต่อ เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ อย่าเพิ่งรีบ แปลโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้บางครั้งใช้ เวลาค่อนข้างนาน คงต้องอดทนรอคอยไปก่อน เมื่อติดต่อลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยเจรจาในราย ละเอียดกับสำนักพิมพ์นั้นอีกครั้ง ว่าคุณจะได้ค่าเหนื่อยเท่าใด

3. เริ่มลงมือแปล

ในการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศไทยเป็นภาษาไทยนั้น ถ้าพอมีเวลา ผมอยากแนะนำให้คุณอ่าน หนังสือที่ต้องการแปล ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างน้อย 2-3 รอบ พยายามสรุปเนื้อความและบรรยากาศ ตลอดถึง อารมณ์ที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดมาสู่ผู้อ่านให้เข้าใจเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มลงมือแปล งานแปลของคุณ ก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการแปลแบบคำต่อคำ ซึ่งบางทีเมื่อเรียงเป็นประโยคแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ยังอาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางตอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของนักอ่านชาวไทยด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่การดัดแปลงไปจากเดิมมากจนเกินไป

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

การผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล

      การผลิตสินค้า เป็นเรื่องสำคัญมากในกระบวนการธุรกิจ หากสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพดี ถูกใจผู้บริโภค ก็จะมีการซื้อซ้ำ และบอกต่อ อันจะทำให้มีการสั่งผลิตเพิ่มขึ้น ขยายไปเรื่อยๆจนร่ำรวยไปตามๆกัน

แต่การผลิตนั้น ไม่ใช่หวังเพียงให้ได้สินค้าสุดท้ายออกมาเท่านั้น เพราะหากผลิตได้ แต่ มีของเสียต้องคัดทิ้งเต็มไปหมด หรือ ผลิตล่าช้าไม่ทันความต้องการของลูกค้า ก็จะส่งผลต่อต้นทุน และ การสูญเสียโอกาสในการขายไปได้ แต่ถ้าผลิตไว้มากเกินไปจนขายไม่ทัน ก็จะกลายเป็นต้นทุนจม เป็นภาระเก็บรักษา ของหมดอายุ หรือ ดูเก่าลงจนไม่น่าซื้อ เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการผลิตจึงมีส่วนสำคัญ ในบทนี้ จะขอกล่าวถึงการผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพในบางขั้นตอนที่มีความสำคัญ ดังนี้


วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน

วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในการเป็นส่วนตั้งต้นของการผลิตหรือการประกอบ สำคัญมาก หากได้วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ที่ไม่ดี มีปัญหา ก็จะส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อๆมา จนถึงตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จ

ในการผลิตที่ดีนั้น จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกตั้งแต่ผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ให้แก่กิจการ โดยจะมีการไปตรวจสอบถึงแหล่งของวัตถุดิบว่า มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอย่างไร มีการแปรรูปเบื้องต้นอย่างไร มีคุณภาพได้มาตรฐานดีหรือไม่ ส่วนตัวโรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ก็จะต้องถูกประเมินก่อนว่าน่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีมาตรฐานเพียงไร อีกทั้งยังหาผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนสำรองไว้ เผื่อกรณีที่เจ้าแรกมีปัญหา ก็มีเจ้าที่สองสำรองไว้ ทำให้การผลิตของเราไม่ได้รับความกระทบมากนัก

เมื่อวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ส่งมาถึง ก็ควรที่จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสิ่งที่ส่งมาตามหลักสถิติอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ของเสียหลุดลอดเข้าสู่กระบวนการผลิตเกินกว่าค่าต่ำสุดที่ยอมรับได้ มิฉะนั้น จะทำให้เสียเวลา เสียของ ในกระบวนการผลิตโดยไม่จำเป็น ในเรื่องนี้ หากเป็นกรณีโรงงานญี่ปุ่นหลายแห่ง หากเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสำคัญและต้องใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว เขาอาจส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่โรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และ สุ่มตรวจก่อนทำการส่งมาเลย เรียกว่า ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง หากไม่ได้มาตรฐานก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายส่งมาให้ตั้งแต่แรก

ในการผลิตมีศัพท์ที่เรียกว่า Just in Time หมายถึง การกำหนดเวลาให้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนให้ส่งมาถึงโรงงานอย่างทันท่วงทีที่ต้องการใช้งาน โดยไม่ต้องนำเก็บเข้าสต๊อกก่อน เพราะการเก็บสต๊อกก็มีต้นทุนเรื่องสถานที่ และค่าดูแล หากมีการกำหนดเวลาและประสานงานกันให้ดี ต้นทุนส่วนนี้ก็จะลดลง



ชิ้นส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตหรือการประกอบ (Work In Process)

ในการผลิตสินค้าออกมา ทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดี เรียกว่า Lean Manufacturing หรือ การผลิตที่ไหลลื่น มีการไหลเวียนของชิ้นงานอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดหรือสะดุดกองกันอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นคอขวด เรื่องนี้ควรต้องมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Time and Work Study หรือ การจับเวลาที่ใช้ในการผลิตในแต่ละขั้นตอน แล้วจัดกำลังคนหรือเครื่องจักรให้เหมาะสมอันจะทำให้งานไหลไปได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนจบ เพราะงานที่กองกันอยู่ในกระบวนการผลิตก็ถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งด้วย



การตรวจสอบในกระบวนการผลิต

ในกระบวนการผลิต ชิ้นส่วนที่เสร็จในแต่ละขั้นตอน จะต้องถูกสุ่มตรวจสอบตามหลักสถิติ เพื่อให้ของเสียถูกระบุและจำแนกออกไปซ่อมแซม หรือ คัดออก ก่อนส่งไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากขั้นตอนนี้บกพร่องอาจทำให้เกิดการผลิตหรือประกอบของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกว่าจะรู้ก็กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปไปแล้ว เสียทั้งเวลา เงินทอง แรงงาน ฯลฯ จึงขอแนะนำให้เจ้าของกิจการยอมลงทุนในการจ้างคน หรือ ซื้อเครื่องมือตรวจสอบในขั้นตอนระหว่างการผลิตนี้ให้เพียงพอด้วยเช่นกัน



สินค้าสำเร็จรูป


เมื่อผ่านการผลิตทุกขั้นตอนสู่การเป็นสินค้าสำเร็จรูป การตรวจสอบขั้นสุดท้าย คือ การตรวจสอบสภาพทั่วไปด้วยสายตา (Visual Inspection) การทดสอบการทำงานตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น (Function Inspection) หากเป็นอาหารก็ต้องดูที่สีสรร รสชาติ ความสะอาด เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบความทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า เจ้าของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาว่าสินค้าเสียหาย ชำรุด ก่อนเวลาอันควร ทั้งๆที่ใช้ได้ไม่นาน ทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ อีกทั้งหากมีการรับประกันสินค้า อาจมีสินค้าส่งมาเครมประกันกันมากจนทำให้กิจการขาดทุนก็เป็นได้ ยิ่งหากเป็นอาหาร หากมีการบูดเน่า หรือ ขึ้นราก่อนกำหนดเวลาทั้งๆที่ยังอยู่ในบรรจุภัณฑ์ อาจทำให้ผู้บริโภคท้องร่วง อาเจียน เกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย ทำให้กิจการเสียชื่อเสียงกันไป

ดังนั้น สินค้าจึงต้องมีการทำการทดสอบความทนทาน หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ต้องทดสอบความคงทนต่อความแปรปรวนของระดับแรงดันไฟฟ้า ทดสอบการทำงานในอุณหภูมิที่สูง หรือ ต่ำกว่าภาวะปกติ เพราะในเวลาอุณหภูมิสูง หรือ ต่ำ เช่นในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว เครื่องอาจหยุดทำงาน หรือทำงานผิดปกติ รวมทั้งทดสอบต่อการเปิดปิด การกดปุ่มต่างๆว่ากี่ครั้งจึงจะทำให้ปุ่มกดชำรุดจนใช้งานไม่ได้ และนานมากพอที่จะอยู่ตลอดอายุใช้งานตามปกติหรือไม่

หากเป็นอาหารก็ต้องทดสอบว่าหากเก็บในที่ร้อน อยู่ได้กี่วัน ที่เย็นอยู่ได้กี่วัน ที่ชื้นอยู่ได้กี่วัน ที่แห้งแล้งเก็บได้กี่วัน เป็นต้น แล้ว อยู่อย่างปกติได้นานพอตามอายุที่ระบุไว้หรือไม่


บรรจุภัณฑ์

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า มีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นตัวดึงดูดสินค้าให้น่าซื้อหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวถนอมสินค้าข้างในไม่ให้สกปรกหรือ ชำรุด ก่อนการใช้งานอีกด้วย ขอแนะนำว่า ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ตัวอักษรชัดเจน อ่านง่าย ใช้วัสดุที่เหมาะสม มีความทนทาน ยอมลงทุนหน่อยครับ เพราะหากสินค้าเก่า หรือ ชำรุด ก่อนแกะใช้ ก็จะนำความเสียหายมาสู่ธุรกิจได้

การทนต่อความชื้นหรือการเปียกน้ำฝนก็สำคัญนะครับ หากมีน้ำกระเด็นถูกภาชนะบรรจุ ทำให้ตัวอักษรที่พิมพ์อยู่ละลายน้ำหรือไม่ หรือ ภาชนะบรรจุ มีการยุบตัวเสียรูปหรือไม่ สินค้าทนความชื้นได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกกันน้ำอีกชั้นหนึ่งเป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรลืมในการทดสอบบรรจุภัณฑ์ คือ การทนแรงกดซ้อนทับกัน หรือ การเบียดเสียดกัน เพราะในการขนส่ง พนักงานอาจมีการโยนกล่อง หรือ วางซ้อนทับกันหลายชั้น ทำให้กล่องยุบ สินค้าหลุดจากกล่องบรรจุหรือแตกหักเสียหาย ทั้งนี้รวมถึงการทดสอบการตกกระแทกพื้นจากที่สูงระดับปกติของการขนส่ง เช่น 2-4 เมตร เป็นต้น เพราะหากมีการตกกระแทก หากของในกล่องจะชำรุดหากหลุดมือ ก็ต้องมีการกำหนดการใส่วัสดุกันกระแทกเพิ่มเติม และติดป้ายเตือนบนกล่องเป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และ ทรัพย์สินทางปัญญา

ผู้แต่ง : มงคล ตันติสุขุมาล

      เรื่องของการทำธุรกิจนั้น ใครเป็นคนคิดได้ก่อน ทำได้ก่อน คนนั้นได้เปรียบ แต่จะยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ความฉลาด เนื่องจากในปัจจุบันนี้การทำของเลียนแบบ หรือ การก๊อปปี้ มีให้เห็นกันเป็นปกติ สินค้าใดขายดีไม่นานก็จะมีคนทำเลียนแบบ ในยี่ห้อต่างกัน หรือ แม้แต่เลียนแบบยี่ห้อ หรือ ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกันเลยก็มีให้เห็น ดังนั้น การจดลิขสิทธ์ สิทธิบัตร หรือ เครื่องหมายการค้า จึงมีความสำคัญในการปกป้องธุรกิจของคุณให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

หากเป็นงานเขียน ก็เรียกว่าลิขสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลทันทีตั้งแต่มีผลงานเขียนนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะได้ไปจดแจ้งไว้หรือไม่ก็ตาม แต่หากคุณนำผลงานของคุณไปจดแจ้งไว้ก็จะดีกว่า เนื่องจาก การพิสูจน์ว่าใครเป็นคนเขียนก่อนนั้นพิสูจน์ยากกว่า การที่บอกว่าใครเป็นคนจดแจ้งก่อน

หากเป็นการประดิษฐ์คิดค้น หรือ การทำสินค้าใหม่ๆขึ้นมา หรือ คิดสูตรวิธีการทำอะไรใหม่ๆขึ้นมา การจดสิทธิบัตรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากใครยื่นขอจดสิทธิบัตรก่อน คนนั้น ถือว่าเป็นผู้คิดขึ้นได้ก่อน ถ้าไม่มีใครมาโต้แย้งในเวลาที่กำหนด ก็ถือว่าสิ่งใหม่นั้นเป็นสิทธิบัตรของผู้แจ้งคนแรกคนนั้น หากใครที่ทำเลียนแบบ หรือ ทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของสิทธิบัตร ก็มีความผิดตามกฎหมาย ถือว่า ละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น ด้วยหลักการนี้จะทำให้สินค้ารูปแบบใหม่ๆของคุณจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้มีใครทำเลียนแบบโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะทำให้คุณสามารถทำมาหากินได้กับความคิดและเรี่ยวแรงของคุณได้จนกว่าจะหมดอายุคุ้มครอง ซึ่งถึงเวลานั้นคุณก็คงจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเป็นรุ่นใหม่ๆอีกมากมาย จนคู่แข่งตามคุณไม่ทันแล้ว

เครื่องหมายการค้าก็เช่นกัน เป็นสิ่งบ่งบอกว่าสินค้าของคุณเรียกว่าอะไร หรือ กิจการของคุณเรียกว่าอะไร เช่น แหนมป้าย่น น้ำพริกเผาแม่ประนอม กาแฟวาวี เป็นต้น ชื่อและตราสัญลักณ์ เหล่านี้ต้องใช้เวลา ใช้เงินทอง ในการสร้างชื่อจนเป็นที่รู้จัก หากคุณไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ หากมีใครนำไปใช้ ก็จะทำให้คุณสูญเสียลูกค้าไปซื้อของคนอื่นเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าเดียวกัน การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้คนอื่นนำชื่อและตราสินค้าที่คุณอุตสาห์ลงเงินลงแรงมา ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต คุณจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชื่อและสัญลักษณ์ของตราสินค้าไปได้เรื่อยๆ เป็นการคุ้มครองธุรกิจของคุณอีกทางหนึ่งครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องรู้นะครับว่า การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า นั้นจะคุ้มครองเฉพาะประเทศที่คุณจดทะเบียนเท่านั้น ไม่ใช่ทุกประเทศทั่วโลก เว้นแต่กลุ่มประเทศที่มีสนธิสัญญาร่วมกันในการบังคับใช้สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา ว่าหากจดทะเบียนในประเทศในกลุ่มสมาชิก จะคุ้มครองถึงประเทศอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มสมาชิกด้วย

ดังนั้น การจดทะเบียนสิทธิบัตรจึงต้องดูด้วยว่าคุณประสงค์จะทำธุรกิจในต่างประเทศด้วยหรือไม่ หากใช่ ก็ควรศึกษาหาลู่ทางในการจดทะเบียนในประเทศเป้าหมายที่คุณจะไปทำมาหากิจในอนาคตด้วยนะครับ เรื่องนี้คุณสามารถปรึกษาหารือได้กับหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของภาครัฐได้ครับ

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

สารพัดกลยุทธ์การตลาด

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล 

      การตลาด คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจ หากธุรกิจมีการตลาดที่ดีก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้สูง ตำแหน่งหน้าที่การงานที่เป็นที่ต้องการและหาได้ยากที่สุดก็คือ นักการตาดที่มีความสามารถ


การประกอบธุรกิจเล็กๆ เจ้าของกิจการจำเป็นต้องเป็นนักการตลาดที่มีความสามารถจึงจะทำให้กิจการรุ่งเรือง ในบทนี้จะกล่าวถึงสารพัดกลยุทธ์การตลาดที่คุณอาจนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณได้ โดยจะกล่าวถึงส่วนที่สำคัญๆ และใช้กันได้ดีในธุรกิจทั่วๆไป

การตลาดแบบ 4 P’s

การตลาดแบบ 4 P’s นี้ เป็นการตลาดแบบดั้งเดิมที่มีการเรียนการสอนกันทั่วไปในหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ แต่ก็ยังใช้ได้ในทุกยุกทุกสมัย มีรายละเอียดดังนี้

P1 = Product (สินค้า หรือ บริการ)

ธุรกิจจำเป็นต้องมีสินค้าหรือบริการที่ตรงความต้องการของตลาดจึงจะทำให้เกิดการซื้อขาย ได้อย่างต่อเนื่อง สินค้าต้องมีคุณภาพเหมาะสม ในความหมายนี้ คือ เหมาะสมกับการใช้งาน และเหมาะกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจไม่ใช่ของที่คุณภาพดีที่สุดในโลก แต่ลูกค้าพึงพอใจกับระดับคุณภาพระดับนี้ ก็เป็นอันใช้ได้ ระดับคุณภาพที่ว่านั้นคุณก็ต้องดูว่าสินค้าแบบเดียวกันในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น เขามีมาตรฐานด้านคุณภาพขั้นต่ำกันเท่าไหร่อย่างไร หากคุณทำได้เหมือนกันแต่ถูกกว่า หรือ ทำได้ดีกว่าในราคาเดียวกัน ก็มีโอกาสขายได้มากครับ

P2 = Price (ราคา)

การกำหนดราคาสินค้าก็มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจครับ สินค้าหรือบริการแต่ละประเภทมีการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเรื่องดังต่อไปนี้

ต้นทุนสินค้าหรือบริการ: บางธุรกิจกำหนดราคาจากการดูต้นทุนต่อหน่วยแล้วบวกกำไรที่ต้องการ เช่น หากต้นทุน 100 บาท ต้องการกำไร 30% ก็ตั้งราคาขายที่ 130 บาท เป็นต้น วิธีนี้เหมาะกับสินค้าที่มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร หรือมีคู่แข่งน้อย หากมีคู่แข่งมากก็ต้องดูราคาคู่แข่งเปรียบเทียบด้วยครับ

ราคาขายของคู่แข่ง: การกำหนดราคาโดยดูจากราคาขายของคู่แข่งที่มีอยู่ในท้องตลาด ว่าส่วนใหญ่แล้วเขาตั้งราคากันที่เท่าไหร่ จากนั้นจึงนำมาพิจารณาว่า เราจะขายแพงกว่า เท่ากับ หรือ ถูกกว่าเขาดี โดยดูจากว่าหากเป็นสินค้าที่เราแปลกใหม่กว่าไม่เหมือนใคร คุณภาพสูง อาจตั้งราคาได้แพงกว่า แต่ถ้าเหมือนๆกันก็อาจตั้งราคาเท่ากันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตัดราคาแข่งกันตามมาเร็วเกินไป หรือ เราจะได้ไม่ใช้เป็นตัวตั้งต้นตัดราคาซะเอง แต่ในบางรายเมื่อดูแล้วต้นทุนตนเองต่ำกว่าคู่แข่งมาก สามารถตั้งราคาต่ำกว่าก็ยังมีกำไรคุ้มค่า อีกทั้งหากต้องการยึดส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็วก็อาจตั้งราคาต่ำกว่าคู่แข่ง จะใช้กลยุทธ์ราคาแบบใดก็ต้องดูกันเป็นเรื่องๆไปครับ

P3 = Place (สถานที่ หรือ ช่องทางการจัดจำหน่าย)

สินค้าหรือบริการของคุณจะมีขายที่ใดบ้าง หรือ ผ่านช่องทางใดบ้าง ต้องกำหนดให้ชัดเจนและถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากหาซื้อง่ายก็จะขายดี หากหาซื้อยาก ก็จะขายไม่ค่อยดี ถึงแม้ตัวสินค้าจะดีเพียงใดก็ตามแต่

หลายคนอาจคิดว่า ก็ขายมันทุกช่องทางที่นึกได้ จะได้ขายได้ดีๆ ฟังดูง่าย แต่ทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากครับ เพราะแต่ละช่องทางก็มีต้นทุนที่แตกต่างกันไปครับ หากเข้าสู่ช่องทางที่ไม่เหมาะสมก็เสียเงินฟรีครับ

หากคุณจะเปิดซุ้ม หรือ เปิดร้านขายเอง การกระจายตัวของสินค้าก็จำกัด ตามจำนวนเงินที่จะเช่าที่เปิดซุ้ม หรือ เปิดร้าน จะให้ครอบคลุมทุกที่ก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเพียงไม่กี่สาขาก็ขายดีมีกำไรเป็นที่พอใจแล้ว ก็ใช้วิธีนี้ได้ครับ รับเงินสดหน้าร้าน คุมสต๊อกสินค้าง่าย สบายใจดีครับ สาขาก็ค่อยๆขยายไปตามกำลังทรัพย์

หากฝากขายบนห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านมินิมาร์ท เขาก็อาจจะหักกำไรของเขาประมาณ 40 % ของราคาขาย อีกทั้งเครดิตอีก 90 วันค่อยมารับเงิน ของเหลือ ของเสีย ของหมดอายุ ผู้นำมาฝากขายต้องรับเองหมด แบบนี้หากคุณรับได้ก็ฝากได้ หากรับไม่ได้เงินหมุนเวียนไม่พอก็ทำวิธีนี้ไม่ได้ครับ

ขายผ่านแคตาล็อก เช่นการพิมพ์แคตาล๊อกสินค้า มีใบสั่งซื้อแนบท้าย แล้วก็แจกจ่ายไปตามบ้านต่างๆ ใครอยากซื้อสินค้าก็โทรมาหรือ กรอกใบสั่งซื้อแล้วส่งมาพร้อมโอนเงินก็ได้ แบบนี้หน้าร้านไม่ต้องมากก็ทำธุรกิจได้

ขายผ่านอินเตอร์เน็ต สมัยนี้ธุรกิจของใครไม่มีเว็บไซต์ดูจะเชยไปนะครับ การเปิดเว็บไซต์ของตนเอง หรือ เปิดร้านออนไลน์ในเว็บอื่นๆที่มีคนเข้าชมมากๆ ก็เป็นวิธีการขายสินค้าให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดีวิธีหนึ่ง โดยการเป็นเว็บแนะนำสินค้ามีรูปมีราคา การซื้อต้องโทรมา หรือ โอนเงินธนาคาร ก็ได้ หรือ จะทำให้สั่งซื้อและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ของเว็บไซต์เลยก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมครับ เรื่องนี้เรียกว่า eCommerce มีรายละเอียดมากมาย หาอ่านได้จากหนังสือด้านนี้เพิ่มเติมครับ

ขายผ่านพนักงานขาย โดยอาจจ้างพนักงานขายนของตนเอง แล้วให้เงินเดือนบวกคอมมิชชั่นตามยอดขาย วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายมากหน่อย แต่หากได้คนมีความสามารถเข้ามาขายก็จะทำให้ธุรกิจโตไว แต่เจ้าของกิจการต้องเป็นนักขายที่เก่งด้วยตนเองก่อนครับ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ หากเขาจากไปเราจะเดือดร้อน สินค้าที่เหมะกับการขายโดยใช้พนักงานขายก็คือ สินค้าที่มีความซับซ้อนสูง ต้องการการอธิบายมาก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่าง เครื่องจักร ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ เป็นต้น

ขายผ่านโทรศัพท์ หรือ Tele-marketing วิธีนี้ นิตยสาร บัตรเครติต ประกัน ศูนย์ออกกำลังกาย มักใช้กันครับ เนื่องจากเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายเลย โดยไปซื้อรายชื่อและเบอร์โทรจากผู้ให้บริการบัตรเครติต ชื่อละ 2-3 บาท แบบนี้มั่นใจว่ามีเครดิตชัวร์ โดยมักเสนอให้หักค่าบริการจากบัตรเครดิตเลย

ขายผ่าน Direct TV คือการนำสินค้าไปฝากขายกับ ผู้ที่ให้บริการด้านการขายผ่านทีวี เช่น TV-Direct เป็นต้น ซึ่งรายการก็จะนำสินค้าไปโฆษณาขายเป็นระยะๆ โดยเฉพาะตอนกลางดึก สินค้าที่เหมาะสมกับเรื่องนี้ก็คือ สินค้าที่ต้องการการอธิบายถึงคุณสมบัติพิเศษค่อนข้างมาก และมีราคาสูง เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย เครื่องมือช่าง เป็นต้น

ขายผ่านช่องทางการขายตรง หรือ Direct Sale เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลังนี้ เนื่องจากการขายตรงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น กฎหมายก็ให้การรับรองธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง คนที่ทำธุรกิจนี้ก็มักจะเป็นญาติ เพื่อน หรือ คนรู้จักกัน ทำให้การตลาดเป็นแบบปากต่อปาก มีการรับประกันสินค้า ทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้น สินค้าหลายอย่างก็อาจฝากสินค้าของตนเองผ่านช่องทางขายตรงนี้ หรือบางธุรกิจก็กำหนดช่องทางกระจายสินค้าให้เป็นการขายตรงในระบบของตนเองเลยก็มี แต่วิธีนี้หากเป็นธุรกิจเล็ก แนะนำให้นำไปฝากเขาดีกว่าอย่าสร้างระบบเอง เปิดขายตรงเอง เพราะต้นทุนจะตามมาอีกมหาศาล ทั้งเรื่องระบบคลังสินค้า ระบบคอมพิวเตอร์ การประชาสัมพันธ์ และ ฝ่ายสนับสนุนอีกมากมายมหาศาล สินค้าที่เหมาะจะจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ก็มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

ยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายอีกหลายอย่างที่สามารถใช้ได้โดยต้องประยุกต์ให้เหมาะกับประเภทของสินค้าหรือบริการ แต่ข้างต้นก็คือช่องทางที่ส่วนใหญ่ใช้กันทั่วไปครับ

P4 = Promotion (การส่งเสริมการขาย หรือ การประชาสัมพันธ์)

การส่งเสริมการขายก็เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ ในการทำให้สินค้าหรือบริการกระจายตัวได้เร็วขั้น ขายได้ดีขึ้น วิธีการที่นิยมกันก็มีหลากหลาย เช่น

การแจกคูปองส่วนลด โดยอาจส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย หรือ ลงในนิตยสาร ให้ตัดมาซื้อสินค้า หรือรับบริการที่ร้าน แล้วได้ส่วนลดตามที่กำหนดไว้ เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากทดลองซื้อสินค้าหรือบริการ

การให้ของแถม โดยอาจให้ของแถมที่ไม่เกี่ยวกับตัวสินค้าเลย เช่น ซื้อขนม แถมของเล่น หรือ เครื่องกรองอากาศแถมทีวี เป็นต้น หรือ อาจให้ของแถมที่เป็นตัวสินค้าเอง เช่น ซื้อ 1 ชิ้น แถม ขนาดเล็กฟรีอีก 1 ชิ้น เป็นต้น

การแจกตัวอย่าง เป็นการทำสินค้าตัวอย่างขนาดเล็ก หรือ บริการพิเศษช่วงทดลอง เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ หากประทับใจก็ไปซื้อของขนาดปกติมาใช้

การให้สิทธิพิเศษหากสมัครเป็นสมาชิก เป็นการสร้างลูกค้าประจำ โดยให้ส่วนลดพิเศษหากเป็นสมาชิก อีกทั้งยังใช้บัตรสมาชิกเป็นส่วนลดในการรับบริการที่ร้านค้าอื่นๆที่เป็นพันธมิตรกัน หรือมีกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้าประจำวิธีหนึ่ง

การส่งเสริมการขายผ่านพนักงานขาย หรือ ตัวแทนจำหน่าย คือการเสนอส่วนลดพิเศษ หรือให้สินค้าแถมพิเศษ ให้แก่พนักงาน หรือ ร้านค้าที่นำสินค้าไปจำหน่ายเพิ่มเติมหากขายได้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือ เสนอรางวัลการท่องเที่ยวให้ในกรณีที่ขายได้ตามเป้าหมายการได้ท่องเที่ยว เป็นต้น

ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ข้างต้นนี้เป็นวิธีการที่ใช้กันทั่วไปและพิสูจน์แล้วว่าได้ผล จึงอาจนำไปประยุกต์ใช้กับสินค้าของคุณได้

หากเป็นธุรกิจบริการ นอกจาก 4 P’s ที่กล่าวมาแล้ว ต้องแถมอีก 2 P’s คือ

P5 = People (ผู้ให้บริการ)

ในธุรกิจบริการนั้น ผู้ให้บริการ เป็นคนสำคัญมากเป็นพิเศษ ลูกค้าจะรู้สึกอย่างไรกับกิจการ ผู้ให้บริการก็เป็นเสมือนตัวสินค้า หากลูกค้าประทับใจในผู้ให้บริการ ก็แปลว่าบริการดี เช่น ธุรกิจนวดแผนไทย ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสปา ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ไม่มีสินค้าที่จับต้องถือเอากลับบ้านไปด้วยมากนัก การคัดเลือก การฝึกอบรมพนักงานบริการจึงสำคัญที่สุดในธุรกิจประเภทนี้ การแต่งกายต้องดูดี การพูดจาต้องสุภาพเรียบร้อย ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้อย่างดี

P6 = Process (กระบวนการ)

กระบวนการ หรือ ขั้นตอนในการไหลเวียนของการให้บริการ เป็นหัวใจของธุรกิจบริการ ขั้นตอนต่างๆจะต้องถูกระบุไว้อย่างชัดเจน และ ราบรื่น จุดติดต่อ (Contact Point) ทุกจุดที่ลูกค้าไปใช้บริการจะต้องดีเลิศ ราบรื่น และน่าประทับใจ อย่าให้เกิดการสะดุด อีกทั้งจะให้ดีควรเป็น บริการครบถ้วน ณ จุดเดียว (One Stop Service) จะดีที่สุด อย่าให้ลูกค้าต้องเดินถามแผนกต่างๆไปเองทั่วทั้งบริษัท แบบนี้ไม่ประทับใจแน่ๆ จุดบริการจุดแรกควรตอบคำถามและแนะนำขั้นตอนให้แก่ลูกค้าได้อย่างครบถ้วน กระบวนการอื่นๆ เป็นเรื่องภายในที่ต้องจัดการให้ราบรื่นและรวดเร็ว ไม่ให้ลูกค้าต้องรอคอยนาน หากต้องรอคอยควรมีสิ่งบันเทิงใจแก้เบื่อ เช่น เครื่องดื่ม ทีวี นิตยสาร เกมส์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ให้บริการเสริม

กระบวนการนั้น หมายรวมถึงทั้งก่อนรับบริการ เช่นการติดต่อลูกค้าการให้ข้อมูล เชิญชวน เป็นต้น ระหว่างรับบริการ และ หลังรับบริการ เช่น การสอบถามความประทับใจ และ ข้อเสนอแนะ การเสนอให้ส่วนลดพิเศษในการใช้บริการครั้งต่อไป การส่งจดหมายข่าว หรือ โทรไปหา เป็นต้น

การโฆษณา ประชาสัมพันธ์

การโฆษณาสินค้า บริการ หรือ ธุรกิจ นั้นมีมากมายหลายหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสีย และต้นทุนแตกต่างกัน ผมนำมาเขียนเป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหากเพราะว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจในการทำให้มีคนรู้จักธุรกิจ สินค้า หรือบริการคุณมากขึ้น เพราะไม่ว่าสินค้าคุณจะดีเลิศเพียงใด ราคาจะเหมาะสมแค่ไหน แต่ไม่มีใครรู้จักก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ผมจะขอกล่าวถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นตัวอย่างบางวิธี ดังนี้

การใช้นามบัตร โดยการพิมพ์ชื่อสินค้า บริการ บนนามบัตร หลังนามบัตรก็ใส่แผนที่ หรือ ชื่อ เว็บไซต์ ให้ผู้สนใจไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ แล้วให้พนักงาน ทุกคนใช้นามบัตรแบบเดียวกัน วิธีการนี้ พนักงานทุกคนจะกลายเป็นผู้โฆษณาธุรกิจ สินค้า หรือบริการไปในตัวในขณะที่มอบนามบัตรให้แก่ผู้อื่นในชีวิตประจำวัน แบบนี้เป็นการโฆษณาที่ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลดีระดับหนึ่ง นามบัตรควรมีสีสรรสวยงาม มีรูปภาพประกอบ น่าเก็บรักษาด้วยนะครับ อย่าใช้กระดาษสีแบบบางๆ พิมพ์หยาบๆ แบบนี้ไม่น่าเก็บ เสียโอกาสทางธุรกิจเปล่าๆ

การใช้โบรชัวร์ หรือ แผ่นพับ โดยการพิมพ์เองจำนวนน้อย หรือ จ้างพิมพ์จำนวนมากๆก็ตาม ต้นทุนการพิมพ์ขนาด A4 สองหน้า ประมาณ แผ่นละ 2-3 บาท หากพิมพ์ 1000-2000 แผ่นขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความหนาของกระดาษและอาบมันหรือไม่ ควรออกแบบให้สวยงาม รายละเอียดครบ เข้าใจได้ในแผ่นเดียวว่าทำกิจการอะไร มีสินค้า และบริการอะไรบ้าง หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน ติดต่อได้ที่ใคร ครบถ้วน จะดีที่สุด แล้วนำไปวางตามจุดที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ เช่น หอพัก คอนโดฯ สนามบิน ท่ารถ ไปรษณีย์ ฯลฯ แล้วแต่ความเหมาะสม หรือส่งทางไปรษณีย์ไปให้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รายชื่อมา แต่ไม่แนะนำให้ไปยืนแจกใบปลิวตามริมถนน สะพานลอย หรือ หน้าห้างสรรพสินค้า เพราะมักสิ้นเปลือง และได้ผลน้อย โดยไม่ค่อยตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้สูญเสียต้นทุนสูง มีการตอบสนองเพียง 1 % หรือ ต่ำกว่านั้น แต่ถ้าวางไว้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การตอบสนองอาจมี 2-6 % ซึ่งจะสูงกว่ามาก แต่ก็อย่าหวังการตอบสนองถึง 10 % ขึ้นไป เพราะเป็นไปได้ยาก สำหรับวิธีนี้

การโฆษณาผ่านเว็บไซต์ตนเอง และ คนอื่น โดยอาจประกาศข่าว ฝากโฆษณาในเว็บไซต์หลายๆแห่ง ว่ามีสินค้าและบริการเราอยู่ที่ไหน ติดต่อได้อย่างไร วิธีนี้เป็นวิธีที่มีต้นทุนต่ำ และ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีอายุตั้งแต่ 45 ปีลงมา จึงไม่เหมาะกับสินค้าที่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ เพราะ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุไม่ค่อยใช้อินเตอร์เน็ต อาจเพราะใช้ไม่เป็นหรือ สายตาไม่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การคัดเลือกพนักงานมาร่วมงาน

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล

      หลายธุรกิจไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเจ้าของกิจการเองคนเดียว จำเป็นต้องมีพนักงานมาช่วยทำงาน ถ้าได้คนดีมีความสามารถมาร่วมงานก็จะทำให้กิจการก้าวหน้าไปด้วยดี แต่ถ้าเลือกผิดก็ต้องกลุ้มใจ จนกว่าจะให้ออกหรือลาออกกันไป การคัดเลือกพนักงานจึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ

หลักการคัดเลือกพนักงานนั้นอาศัยเพียงคนรู้จักกันแนะนำกันมาแบบที่ทำกันอยู่ในหลายกิจการจึงอาจไม่เพียงพอ ข้อแนะนำของผมคือ ควรมีการประกาศให้คนมาสมัคร จะฝากคนรู้จักบอกต่อๆกัน หรือ จะทาบทามคนรู้จักกันให้มาลองสมัครงานดูก็ได้ แต่ต้องมีการกรอกประวัติ มีการแนบหลักฐานให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่รับๆกันมาแต่ไม่มีประวัติหรือหลักฐานที่ครบถ้วน มิฉะนั้นหากเกิดปัญหาแล้วหายตัวไปก็ไม่รู้ว่าจะไปตามตัวได้ที่ไหนอย่างไร

ในหลายกรณี เจ้าของกิจการก็มักจะชวนญาติ ชวนเพื่อน ที่รู้จักกัน เคยสนินสนมกันมาร่วมงาน ก็ดีครับเพราะคุ้นเคยกันมาก่อน แต่ควรแน่ใจว่าเคยเห็นฝีมือหรือผลงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมาก่อนจึงจะดีนะครับ ไม่ใช่เพียงแค่เคยกินเคยเที่ยวด้วยกัน แล้วคิดว่าจะชวนมาทำงานได้ดีตามไปด้วย ผมเจอเพื่อนหรือญาติที่มาทะเละกันเสียเพื่อนเสียญาติกันเพราะชวนกันมาทำงานด้วยกันหลายรายแล้ว

หลักการคัดเลือกพนักงานที่ดีมีความสามารถควรทำต่อไปนี้ครับ

1. มีความรู้และประสบการณ์ที่ตรงกับความสามารถที่งานนั้นๆต้องการ แม้ว่าจะไม่ตรง 100 % แต่ใกล้เคียงที่สุดก็ยังดี เพราะการเอาคนที่ไม่รู้เรื่องไม่มีประสบการณ์ หรือแม้แต่ความรู้พื้นฐานเลยมาฝึกใหม่ แบบนี้เหนื่อยฟรีครับ ฝึกเป็นปีๆกว่าจะเป็น พอเป็นแล้วลาออกไปอยู่ที่อื่นยิ่งน่าเจ็บใจใหญ่ครับ

2. มีผลงานที่อ้างอิงได้ หลายคนเคยทำงานมามีความรู้มีประสบการณ์แต่เป็นประสบการณ์ของความล้มเหลวมาตลอด จึงมาสมัครงานใหม่ หากรับเข้ามาก็มีโอกาสทำงานล้มเหลวสูง การสัมภาษณ์งานจึงควรให้ผู้สมัครงานอ้างอิงถึงผลงานแห่งความสำเร็จของตนเองอย่างชัดเจนและละเอียดได้จะดีที่สุด หากเป็นนักศึกษาจบใหม่ ก็ควรมีผลงานวิจัยสมัยเรียน หรือ กิจกรรมที่ทำสมัยเรียนมาอ้างอิงได้จึงจะดีครับ

3. มีการสอบข้อเขียน เพื่อให้เป็นข้อมูลไว้ โดยเฉพาะเรื่องภาษาต่างประเทศ และ คอมพิวเตอร์ ถ้างานที่ทำจำเป็นต้องมีความรู้สองด้านนี้ เพราะดูเพียงประวัติในใบสมัครงานบอกไม่ได้ว่ารู้ภาษา และคอมพิวเตอร์ดีจริงแค่ไหน การสอบจึงจะบอกได้ดีกว่า หลอกกันไม่ได้ด้วย

4. มีการทดสอบทัศนคติ และรับเฉพาะผู้ที่มีทัศนคติบวกเข้ามาทำงาน เนื่องจากคนที่ทำงานนั้นไม่ว่าจะเก่งเพียงไร แต่หากเป็นคนมีทัศนคติลบกับงาน กับคน กับตนเอง ก็จะทำงานกับผู้อื่นไม่ค่อยราบรื่น สุดท้ายก็ทำให้งานเสียหายเปล่าๆ เรื่องนี้ผมให้เป็นความสำคัญมากเลยทีเดียว ในธุรกิจส่วนใหญ่มักไม่มีเรื่องการทดสอบทัศนคติของพนักงาน พอรับเข้ามาทำงาน ก็มีแต่ปัญหา มีการนินทากันไปมา มุ่งร้ายกันไปมา สร้างการเมืองในสำนักงาน จนงานเสียหายอยู่เสมอๆ หากไม่อยากเจอปัญหาเหล่านี้มากในอนาคต การรับคนเข้าทำงานต้องหาคนที่มีทัศนคติที่ดีเข้ามาทำงานเสมอ คนแบบนี้อาจหายาก อย่างน้อยก็มีทัศนคติกลางๆก็ยังดี หากเป็นคนทัศนคติลบ มองโลกในแง่ร้าย มองคนในแง่ร้าย มองชีวิตในแง่ร้าย อย่ารับเด็ดขาดครับ อันตรายมาก

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบริหารการเงินธุรกิจ

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล 
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ โทร 0817168711 email: mingbiz@gmail.com

      เมื่อรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร และแน่ใจว่าสินค้าหรือบริการของตนจะขายได้ เรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องของการเงิน รู้ว่าขายได้แน่ แต่ไม่มีเงินลงทุนเพื่อซื้อหรือผลิตสินค้ามาขาย ก็ไม่มีธุรกิจเกิดขึ้น ดังนั้น การเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญของทุกธุรกิจ หากธุรกิจใดต้องใช้เงินลงทุนมากก็มีความเสี่ยงมากตามไปด้วย เพราะหากลงทุนมากกว่าจะคืนทุนก็ใช้เวลานานขึ้น


เรื่องการเงินธุรกิจนั้นมีเรื่องราวที่เขียนไว้ในหนังสือต่างๆมากมาย แต่สิ่งที่ผมจะกล่าวในที่นี้ คือ การควบคุมเรื่องการเงินสำหรับธุรกิจ SME เป็นหลัก เพราะธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายส่วนใหญ่จะมีมืออาชีพด้านการเงินเป็นที่ปรึกษาหรือดูแลอยู่แล้ว ธุรกิจที่ไม่มีใครปรึกษาและมักผิดพลาดเรื่องการเงินคือธุรกิจ SME นี่แหละ

การบริหารการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของทุกธุรกิจ เนื่องจากหากเจ้าของหรือผู้บริหาร บริหารการเงินธุรกิจไม่เป็นอาจทำให้ธุรกิจต้องมีอันเป็นไปทั้งๆที่สินค้ายังขายดี ลูกค้ายังมีอยู่

การบริหารการเงินธุรกิจ ก็คือ การบริหารเงินเข้า กับการบริหารเงินออกนั่นเอง ทำอย่างไรให้เงินเข้าเร็ว+เข้ามาก และ ทำให้เงินออกช้า+ออกน้อย นั่นเอง แต่หลักการกว้างๆนี้ มีรายละเอียดมากนะครับ


ข้อควรระวังในการใช้เงินทุนในการประกอบธุรกิจ คือ

1. ไม่ควรใช้เงินลงทุนจากเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ เพราะจะมีความเสี่ยงสูง แต่ภาระในการชำระดอกเบี้ย ไม่ว่าธุรกิจจะดีหรือไม่ก็ตาม

2. ไม่ควรใช้หลักทรัพย์สุดท้ายของครอบครัว ไปค้ำประกันเงินกู้ เช่น บ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ หรือ บ้านของพ่อแม่ เพราะหากธุรกิจไม่เป็นไปดังหวัง อาจโดนยึดบ้านทำให้ครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย เว้นแต่มีที่ดินหลายแปลง หรือบ้านหลายหลัง

3. ควรเริ่มต้นจากเล็กไปหาใหญ่ คือ ทำโครงการทดลองโดยใช้ทุนต่ำก่อน เมื่อมีทางเป็นไปได้จึงค่อยขยายการลงทุน อย่าเริ่มต้นจากการทุ่มเงินทุนทั้งหมดไปในกิจการที่ได้แต่เพียงคาดคะเนเอาเอง เพราะอาจสูญเงินทั้งหมดได้

4. จำไว้ว่าทุกโครงการธุรกิจอาจมีการบานปลายในเรื่องงบลงทุนได้ จึงควรเผื่องบลงทุนไว้เสมอ

5. ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน มีแผนการใช้เงินทุน และแผนกระแสเงินสดเข้าออก อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นแนวทาง

6. อย่าใช้เงินทุนเกือบทั้งหมดไปกับค่าสถานที่ ค่าตกแต่ง ซื้อของเข้าร้าน ควรสำรองเงินไว้สำหรับเรื่องอื่นๆด้วย

7. ไม่จ้างพนักงานจำนวนมากๆในตอนเริ่มต้นธุรกิจ

8. กันเงินทุนไว้เป็นงบประมาณด้านการตลาดเสมอ โดยเฉพาะตอนเริ่มต้นธุรกิจ จะใช้งบการตลาดมาก

9. ต้องแยกกันอย่างชัดเจนระหว่าง เงินหมุนเวียนในธุรกิจ กับเงินใช้สอยส่วนตัว อย่าปะปนกันเด็ดขาด

10. ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยตลาดเสมอ ก่อนจะเริ่มสินค้าหรือบริการใดๆ

11. มองหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ สำรองไว้เสมอ


เรื่องเงินเข้า หรือรายรับ


1. รายได้จากการขายสินค้า หรือ บริการ เป็นแหล่งกระแสเงินเข้าสู่ธุรกิจกระแสหลัก ซึ่งต้องบริหารให้ดีบริหารให้เป็น หากเป็นธุรกิจเงินสดจะดีที่สุด แต่หากทำไม่ได้ ให้เครดิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลือกตรวจสอบประวัติลูกค้าให้ดีก่อนจะปล่อยเครดิตให้ มิฉะนั้นอาจถูกเบี้ยวหนี้ได้ ระยะเวลาการปล่อยเครดิตก็สำคัญ จะ 30 วัน 45 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน ก็แล้วแต่ ทางที่ดีที่สุดคือ ระยะเวลาสั้นที่สุด อย่ายาว ยิ่งยาวยิ่งเสี่ยง ควรมีการจูงใจด้วยการกำหนดว่า หากชำระเงินสดลดให้พิเศษอีกกี่เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ลูกค้าบางรายอยากจ่ายเงินสด อันจะเป็นผลดีต่อสภาพคล่องของธุรกิจ


2. รายได้จากการลงทุนอื่นๆ เป็นแหล่งรายได้เข้าสู่ธุรกิจที่นอกเหนือจากการค้าขายปกติ คือการนำเงินสดส่วนเกินไปลงทุน เช่น ฝากประจำ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อหุ้น ซื้อที่ดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการนำเงินส่วนเกินไปลงทุนให้เกิดประโยชน์อีกทางหนึ่ง ซึ่งหากธุรกิจของคุณไม่ใช่สถาบันการเงิน กิจกรรมด้านการลงทุนอื่นๆนอกเหนือจากการทำธุรกิจก็จะเป็นรายได้ส่วนเพิ่ม ไม่ใช่รายได้หลัก แต่หากบริหารให้ดีก็ได้เป็นกอบเป็นกำทีเดียว การลงทุนที่ดีควรเป็นการลงทุนที่ส่งเสริมกิจกรรมที่ทำอยู่ได้ เช่น หากคุณมีกิจการรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็ก คุณอาจลงทุนซื้อหุ้นในกิจการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจะได้รู้แนวโน้มธุรกิจ แผนธุรกิจ ของธุรกิจรับเหมาขนาดใหญ่ และข้อมูลเพิ่มเติมในวงการ ซึ่งเขาจะส่งให้เฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้น


เรื่องเงินออก หรือ รายจ่าย

1. รายจ่ายค่าสินค้า หรือวัตถุดิบ

ค่าสินค้าหรือวัตถุดิบ เป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างมากในธุรกิจ และเป็นรายจ่ายที่จำเป็น หากควบคุมได้ดี ประหยัดได้ 1 บาท ก็เหมือนมีกำไรเพิ่มขึ้น 1 บาท โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข่าวสารข้อมูล การซื้อวัตถุดิบหลายอย่างไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป ผู้ซื้อสามาถค้นหาข้อมูลของผู้ผลิตจากอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง ทำให้ได้ของดีราคาถูกลง แต่เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตเป็นและขยันซอกแซกหาข้อมูลสักหน่อย คุณจะได้ไม่ถูกฝ่ายจัดซื้อหลอก โดยซื้อจากเจ้าประจำไม่กี่ราย แล้วซื้อราคาสูงอีกต่างหาก หากเจ้าของขยันหาข้อมูลซักหน่อย ย่อมจะมีโอกาสได้แหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ในราคาที่ดี

ข้อแนะนำที่สำคัญในเรื่องนี้คือ อย่าซื้อวัตถุดิบ จากซัพพลายเออร์ หรือ ผู้ป้อนวัตถุดิบ เพียงจ้าวเดียวอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะวัตถุดิบรายการสำคัญ มีธุรกิจมากมายต้องเจ็บปวดกับเรื่องนี้ เพราะเมื่อธุรกิจเอาชีวิตไปผู้ติดกับซับพลายเออร์เพียงรายเดียว เมื่อสินค้าส่งช้า หรือ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบต่อการผลิตอย่างมาก เพราะกว่าจะหาจ้าวใหม่ได้ กว่าจะตกลงเรื่องระยะเวลาการจัดส่ง เรื่องการชำระเงิน ฯลฯ ก็เกิดความเสียหาย เสียคำสั่งซื้อเพราะผลิตสินค้าส่งไม่ทัน เสียโอกาสการขาย เสียค่าโสหุ้ย ค่าจ้างพนักงานสูญเปล่า และเสียเวลา ไปมากมาย แนะนำให้กำหนดเป็นนโยบายไว้เลยว่า กิจการของคุณจะซื้อวัตถุดิบสำคัญจากผู้จัดส่งวัตถุดิบ 2 จ้าวขึ้นไปเสมอ เว้นแต่ยังหาไม่ได้ ในระหว่างนั้นก็จะแสวงหาผู้ขายวัตถุดิบรายใหม่ๆอยู่เสมอ การทำเช่นนี้ยังช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบราคา คุณภาพ ทำให้ได้ของที่ถูกและดีที่สุดอยู่เสมอ


2. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

การบริหารธุรกิจนั้นคุณควรเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการบริหารกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ว่าคุณมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเหมาะสมหรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ ได้แก่

ค่าจ้างผู้บริหารและพนักงาน

ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพราะถ้าสูงเกินไปก็จะมีต้นทุนด้านนี้สูง กำไรของธุรกิจก็จะลดลง ถ้าต่ำเกินไปพนักงานก็จะไม่อยากอยู่กับธุรกิจของคุณนาน เพราะมีที่อื่นให้เงินเดือนสูงกว่า ทำให้เกิดการลาออกของพนักงานบ่อยๆ การฝึกคนใหม่ก็เสียเงินเสียเวลามาก บางแห่งอาจให้เงินเดือนในอัตราที่แข่งขันได้ แต่ไม่สูงมากนัก แล้วให้เงินโบนัสปลายปีที่แปรผันตามกำไรของกิจการซึ่งอาจสูงมากหากกิจการมีกำไรดีมาก ทำให้พนักงานขยันทำงานช่วยกันทำให้บริษัทมีกำไรดีๆ เพื่อที่ตนเองจะได้โบนัสสูง ก็เป็นแนวทางที่ดีครับ

อีกแนวทางหนึ่งคือ การให้โอกาสพนักงานซื้อหุ้นของกิจการได้ปีละครั้ง โดยอาจให้หักจากเงินเดือนหรือโบนัสก็ได้ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของกิจการร่วมด้วยส่วนหนึ่ง หากกิจการดี เงินปันผลหุ้นของตนเองก็จะดีตามไปด้วย อีกทั้งมักอยากแนะนำคนรู้จักให้ซื้อสินค้าและบริการของกิจการที่ตนเองมีหุ้นอยู่เพราะความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของด้วยนั่นเอง


ค่าใช้จ่ายในสำนักงาน

ค่าใช้จ่ายนี้ มีทั้ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าถ่ายเอกสาร ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ต่ำได้ก็ดี เพราะหมายถึงการประหยัดต้นทุน และหมายถึงกำไรที่มากขึ้น

แต่อย่าให้ถึงกับเกิดความอึดอัดอย่างมากของพนักงาน เพราะจะทำให้พนักงานทำงานอย่างไม่มีความสุข แต่ควรเป็นการรณรงค์ให้พนักงานมีจิตสำนึกของความประหยัดจะดีกว่า ผมแนะนำให้ใช้วิธีกำหนดเป็นนโยบายว่า หากแผนกใดสามารถลดค่าใช้จ่ายสำนักงานลงได้เมื่อเทียบกับปีก่อน เงินส่วนที่ประหยัดได้จำนวนกึ่งหนึ่งจะจ่ายกลับให้เป็นโบนัสปลายปีเพิ่มเติมสำหรับพนักงานทุกคนในแผนกนั้น จะทำให้พนักงานทุกคนคอยเป็นหูเป็นตาช่วยกันประหยัดเองโดยที่เจ้าของไม่ต้องบอก


ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด

ค่าใช้จ่ายด้านนี้หากมากไปก็สิ้นเปลือง หากน้อยไปก็ขายสินค้าหรือบริการไม่ได้เพราะคนไม่รู้จัก หรือ ไม่รู้ข่าวสินค้าหรือบริการใหม่ๆ จึงต้องจัดสรรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องของการตลาด



3. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้

การกู้เงินเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับหลายๆธุรกิจ แต่พึงจำไว้ว่า กู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และ ใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้จะออกดอกบานสะพรั่งทุกๆวัน ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ร้านจะเปิดหรือปิด ดอกเบี้ยมีทุกวัน เมื่อกู้เงินมาแล้วจึงต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังในกิจกรรมทางธุรกิจ

ผมเคยพบผู้ประกอบการใหม่หลายๆราย แทนที่จะใช้จ่ายเงินกู้ในธุรกิจ กลับนำมาสร้างภาระใหม่ เช่น ซื้อรถใหม่ ซื้ออาคารใหม่ ทั้งๆที่รถคันเดิม อาคารเดิมก็ยังใช้ได้อยู่ ไม่มีความจำเป็นต้องขยายอะไร ทำเพียงเพื่ออยากได้หน้าได้ตาว่ามีกิจการใหญ่โต ทั้งๆที่ความจริงแล้วมีแต่หนี้ อย่างนี้ไม่นานหากการค้าสะดุด เงินหมุนเวียนติดขัด โดยยึดรถ ยึดอาคาร เงินกู้ก็ยังต้องจ่าย เกิดความเสียหายก็จะตามมา

การใช้เงินกู้ระยะสั้น ในกิจกรรมผลิตสินค้า หรือ สั่งสินค้าเพื่อส่งให้ลูกค้าตามใบสั่งซื้อที่ได้รับมาแล้ว เป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่าใช้เงินกู้ระยะสั้น ไปลงทุนระยะยาว เด็ดขาด เช่น นำไปซื้ออาคารหรือที่ดิน เนื่องจากการลงทุนอาคารและที่ดินควรใช้เงินกู้ระยะยาว อย่าใช้เงินกู้ผิดประเภทครับ

4. ค่าใช้จ่ายด้านภาษี

ภาษีเงินได้เป็นส่วนสำคัญที่ธุรกิจต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่จัดการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำอย่างไรจะแนะนำให้บางเรื่อง ดังนี้

ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมพนักงาน สามารถหักภาษีได้ 2 เท่า เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้กิจการต่างๆ มีการฝึกอบรมพนักงานของตนเองให้ดี จึงจูงใจให้ประหยัดภาษีได้ แต่เรื่องที่ฝึกอบรมต้องเกี่ยวข้องกับงานนะครับ มีหลักสูตรและใบเสร็จรับเงินของสถาบันที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรแล้ว ส่วนใหญ่การอบรมของมหาวิทยาลัยต่างๆของรัฐนั้นมักจะนำมาหักลดหย่อนภาษีตรงนี้ได้

ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา สามารถหักภาษีได้ 2 เท่า เพราะรัฐบาลต้องการให้กิจการเอกชนมีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รายจ่ายด้านนี้จึงนำมาหักภาษีได้ครับ

นำอาคารสถานที่ หรือ รถยนต์ของเจ้าของไปให้ธุรกิจของตนเองเช่าใช้ ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่ารถยนต์ ช่วยลดกำไรของธุรกิจลงได้ ทำให้ภาษีลดลง ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำธุรกิจก็อยากได้กำไรเยอะๆ ทำไมต้องลดกำไรลงด้วย เรื่องนี้จะอธิบายดังนี้ครับ คือว่า ถ้าธุรกิจมีกำไรต้องจ่ายภาษี 30% ของกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ถ้าเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านนี้ รายจ่ายของกิจการที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้กำไรน้อยลงจึงเสียภาษีน้อยลง แต่รายจ่ายค่าเช่าของกิจการนี้กลายเป็นรายได้ส่วนตัวของเจ้าของธุรกิจ ก็นำไปเสียภาษีส่วนบุคคล ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่า เช่น 10% หรือ 20% ขึ้นอยู่กับรายได้ส่วนตัวต่อปี แต่ที่แน่ๆคือ เสียต่ำกว่า 30% แน่ๆ อย่างนี้ก็เป็นการประหยัดภาษีอีกวิธีหนึ่ง โดยไม่ผิดกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น หากบริษัท มีกำไร 1,000,000 บาท เสียภาษี 30% = 300,000 บาท ปีต่อมาเจ้าของเปลี่ยนเป็นเอารถของตนเองไปให้บริษัทเช่าใช้ในกิจการบริษัท (ซึ่งตนเองก็เป็นคนใช้รถอยู่ดี) แต่คิดค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท สมมติว่า ปีนี้บริษัทมีกำไรเท่าเดิมคือ 1,000,000 บาท แต่เพิ่มรายจ่ายค่าเช่ารถไปอีก 120,000 บาท ทำให้กำไรลดลงเหลือ 1,000,000 – 120,000 = 880,000 บาท เสียภาษี 30% = 264,000 บาท ลดลง 36,000 บาท เจ้าของนำรายได้จากค่าเช่ารถไปเสียภาษีส่วนบุคคล 10% คือ 12,000 บาท สุดท้ายแล้วประหยัดภาษีไปได้ 36,000 – 12,000 = 24,000 บาท ต่อปี ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ นี่แค่รายการตัวอย่างเดียวนะครับ

5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าใช้จ่ายนี้หมายถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่นับ ต้นทุนสินค้าขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และภาษี ผมหมายถึงเรื่องที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง เช่น ค่าปรับ ค่าชดเชยความเสียหาย ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น พนักงานบริษัทขับรถบริษัทไปชนผู้อื่นระหว่างทำงานในหน้าที่ หรือสินค้าชำรุดบกพร่องอันอาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ต้องเรียกสินค้าคืน เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผมแยกมาเรียกว่าเป็น “ค่าใช้จ่ายอื่นๆ” ซึ่งในหลายกรณีในทางบัญชีอาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร แต่ผมแยกออกมา เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ในภาวะปกติจะไม่มี และมักมาแบบ “คาดไม่ถึง” เจ้าของธุรกิจอาจลดความเสี่ยงได้โดยการมีประกันภัย ไว้เมื่อเกิดเหตุคาดไม่ถึงก็ให้ประกันจ่ายตามเงื่อนไข ลดความเสี่ยงของการเสียเงินด้านนี้ลงได้

เขียนบทความโดย มงคล ตันติสุขุมาล 
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ โทร 0817168711 email: mingbiz@gmail.com