ธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยเจ้าของคนเดียว ลงทุนเอง กู้เงินเอง บริหารจัดการเอง กำไรหรือขาดทุนก็รับเอง แบบนี้มีอยู่มากและ เป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ หากธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวมีกำไรดี ก็มักประสบปัญหาว่าเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นไป เจ้าของมักดูแลเองไม่ไหว การขยายกิจการก็ต้องลงทุนเพิ่ม ต้องกู้หนี้เพิ่ม รับพนักงานเพิ่ม ดูแลสถานที่เพิ่ม ปวดหัวเพิ่ม หากเจ้าของป่วย ธุรกิจก็ป่วยด้วย และ ความยุ่งยากซับซ้อนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโต ก็ทำให้เจ้าของมีชีวิตที่วุ่นวายซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย
วิธีแก้ไขผมขอแนะนำให้เจ้าของธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวตอนเริ่มต้น และธุรกิจไปได้ด้วยดีแล้ว หากต้องการขยายกิจการ ควรทำเป็นรูปแบบของบริษัทจำกัด จะดีที่สุดเนื่องจาก
1. การกระจายหุ้น โดยมีผู้ร่วมทุน ผู้ถือหุ้น เข้ามาจะทำให้เจ้าของได้เงินทุนจากนักลงทุน โดยไม่ต้องกู้เงินธนาคารเพิ่มทั้งหมด เป็นการลดการเป็นหนี้ลง และ ไม่ต้องเสี่ยงคนเดียว
2. นักลงทุน ถือเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ที่รับรู้ว่าธุรกิจอาจมีความเสี่ยง หากกำไรก็รวยด้วยกัน หากขาดทุน ก็ขาดทุนด้วยกัน แต่ไม่เกินวงเงินที่นักลงทุนแต่ละคนได้ลงไว้ เป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
3. ผู้ถือหุ้น เป็น หุ้นส่วน แต่ หากกู้เงินจากธนาคาร ถือเป็น เจ้าหนี้ ซึ่งความกดดันให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน แม้ว่าธุรกิจจะขาดทุนในบางปี หรือ ขาดสภาพคล่องทางการเงินในบางเดือน ไม่สามารถนำมาเป็นข้อยกเว้นไม่จ่ายดอกเบี้ย แต่กรณีเดียวกัน สามารถขออนุญาตผู้ถือหุ้นว่าปีที่ขาดทุนอาจยังไม่จ่ายเงินปันผลหุ้นได้ แต่เมื่อกิจการมีกำไรดี ผู้ถือหุ้นก็มักได้เงินปันผลหุ้นสูงกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงินปันผลแต่ละปีของกรรมการบริหารบริษัท
4. การมีผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารธุรกิจร่วมด้วย อาจทำให้ได้บุคคลระดับมันสมองมาช่วยคิด ช่วยบริหาร ทำให้ความเสี่ยงในการจัดการลดลง
5. ภาพลักษณ์ที่มีต่อบุคคลภายนอก ธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการไม่ว่า ซัพพลายเออร์ หรือ ลูกค้า ก็จะดี เพราะคนมักมองว่า กิจการแบบบริษัทจำกัด นั้นมีความเป็นมืออาชีพ มีความมั่นคง และ น่าเชื่อถือมากกว่า ธุรกิจเจ้าของคนเดียว
6. การที่เจ้าของกิจการเดิม เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ มีหุ้นมากว่า 50% (ปกติมักถือมากว่า 51%) ขึ้นไป นั้น ทำให้ยังมีอำนาจในการบริหารงานเหมือนเดิมครบถ้วน ไม่ต้องกลัวว่า การกระจายหุ้นแล้วตนเองจะไม่ส่ามารถสั่งงานหรือบริหารได้เองอีกต่อไป เพียงแต่อาจมีคนมาช่วยบริหารมากกว่า ถ้าได้คนดี มีความสามารถมาช่วย ก็จะเป็นการดีต่อธุรกิจในอนาคต
7. การเลือกผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็อาจต้องพิจารณาโดยรอบคอบ หาคนที่มีแนวคิดหลักไปด้วยกันได้ จะดีที่สุด หรือ ไม่ก็ เป็นผู้ที่สนใจลงทุนอย่างเดียว ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน ก็ดี
8. ผู้ถือหุ้น มักคอยเป็นประชาสัมพันธ์ คอยแนะนำให้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก มาใช้บริการกับธุรกิจที่ตนเองมีหุ้นอยู่ ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ถือหุ้นรายนั้นๆเป็นผู้กว้างขวางในสังคม
9. การให้พนักงานขององค์กร สามารถซื้อหุ้น เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมด้วย ทำให้ทำงานอย่างตั้งใจและเต็มที่กว่าเดิม
10. ข้อควรพิจารณา คือ การแปรรูปเป็นบริษัทจำกัด แล้ว การบริหารกิจการต้องมีระบบระเบียบ มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ไม่สามารถทำแบบมั่วๆ ตามใจเจ้าของ อย่างเดิมอีกต่อไป เพราะผู้ถือหุ้นจับตามองอยู่ อีกทั้ง การตัดสินใจเรื่องสำคัญ ต้องผ่านคณะกรรมการบริหาร ซึ่งควรกำหนดจำนวนให้เหมาะสมไม่มากเกินไป เพราะมากคนก็มากความ คุยกันไม่จบ มัวแต่ขัดแย้งกัน ต่างคนต่างความคิด เรื่องที่ควรจะง่าย ก็กลับกลายเป็นยากไป จึงควรหาคณะกรรมการที่มีแนวคิดพื้นฐานไปด้วยกันได้ จึงจะดี แต่ก็ไม่ควรมากเกินไป เอาพอเป็นสาระ ได้มุมมองที่แตกต่าง มีคนช่วยคิดอ่านงานสำคัญ ก็พอ
จากเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น จะทำให้ท่านที่ทำธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว เห็นชัดขึ้นว่า กิจการแบบบริษัทจำกัด มีข้อดีกว่า ธุรกิจเจ้าของคนเดียวอยู่หลายประการ ท่านเจ้าของธุรกิจ จึงควรใช้ประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดจะขยายธุรกิจ โดยไม่ต้องการเสี่ยงและเหนื่อยหลายเรื่องอยู่ตามลำพังอีกต่อไป