วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

การใช้ที่ปรึกษา ให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง (ตอนที่ 2)

การใช้ที่ปรึกษา ให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง (ตอนที่ 2)

โดย มงคล ตันติสุขุมาล
.
การจ้างที่ปรึกษานั้น หากท่านนักธุรกิจจ่ายเงินจ้างเอง มักจะพิจารณาจากความรู้และประสบการณ์อย่างรอบคอบ มีการเจรจาเนื้องานและค่าที่ปรึกษาอย่างเหมาะสมก่อนจะมีการเริ่มทำงาน อีกทั้ง มักจะฟังที่ปรึกษาอย่างตั้งใจ (โดยเฉพาะช่วงแรกๆ) แต่มีประเด็นหรือบางปัญหาที่ควรทราบ คือ

    1. ไม่เห็นคุณค่าของคำปรึกษา ผู้ประกอบการไทย หรือ คนไทย จำนวนมากมักมองไม่เห็นคุณค่าของ “คำปรึกษา” และมักคิดว่า “คำปรึกษา” ควรได้ฟรีๆ  ซึ่งของฟรี คนก็มักไม่เห็นคุณค่า ทั้งที่แท้จริงแล้วมันเป็นเสมือน “เข็มทิศ” ที่บอกทิศทางที่ควรจะไปให้แก่เจ้าของกิจการ หากที่ปรึกษาปัญหาชีวิตก็เหมือนเข็มทิศที่บอกทิศทางวิธีคิด และการใช้ชีวิตที่ควรจะเป็น ปรากฏการที่คนเข้าวัดตั้งใจฟังธรรมมะก็ต่อเมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว สูญเสียทรัพย์สินไปแล้ว ทำใจไม่ได้อยู่นาน จนเจอคำปรึกษาจากพระธรรมคำสอน จึงค่อยเข้าใจและทำใจได้ จึงเห็นคุณค่าของคำสอนต่อเมื่อได้เจ็บปวดแล้วนั่นเอง เข้าทำนองสโลแกนหนังจีนกำลังภายในที่ว่า “ไม่เห็นโรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” จึงอยากบอกว่า “คำปรึกษาที่ดี” คือจุดเริ่มต้น และ จุดเปลี่ยน ของทุกสิ่งในแต่ละชีวิตของคน จึงควรรับฟังอย่างตั้งใจ ไตร่ตรอง และมองเห็นคุณค่า
.
    2. ที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ปรึกษาอาจไม่เก่งเท่าผู้ประกอบการบางคน แต่เขาสามารถแก้ปัญหาที่ท่านเจอได้นั่นเป็นพอ เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง เขารู้เรื่องที่ท่านไม่รู้ และช่วยหาทางแก้ปัญหาที่ท่านแก้ไม่ได้ เท่านั้นก็คุ้มค่าแล้ว แม้บางครั้งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการแก้เองได้ แต่พนักงานไม่ยอมฟัง ทำนองคนในมักไม่ฟังกันเอง เหมือนลูกที่ไม่ฟังพ่อแม่ แต่ฟังครู ฟังเพื่อน มากกว่า การให้ที่ปรึกษาซึ่งเป็นคนนอกองค์กรไปช่วยพูด ช่วยแนะนำคนใน ก็อาจแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
.
    3. เจ้าของกิจการไม่เต็มใจรับฟังที่ปรึกษา เพราะคิดว่า จ้างมาให้คำปรึกษาพนักงาน ไม่ใช่เพื่อตัวเจ้าของ จึงไม่จัดเวลาเข้าร่วมรับฟังการวิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา แท้จริงแล้วพนักงานจะยินดีปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าของมากกว่า ทำตามคำแนะนำจากที่ปรึกษา(หากเจ้าของไม่สั่ง) เนื่องจาก พนักงานแต่ละคนมักคิดว่าเจ้าของเป็นคนจ่ายเงินเดือน อีกทั้งตนเองรู้งานตนเองดีกว่าคนอื่น ใครจะไปรู้เท่าตนเองที่ทำมาหลายปี โดยหารู้ไม่ว่าคนที่คุ้นเคยในการทำสิ่งผิดๆและไม่ค่อยได้ผลมาตลอดหลายปีก็มีเยอะ ไม่อย่างนั้นนักกีฬาก็คงไม่ต้องมีโค้ช มวยก็ชกกันเอง บอลก็เตะกันเอง ได้ เละตุ้มเป๊ะพอดี การมีที่ปรึกษาก็เหมือนมีโค้ช ที่คอยมองและวิเคราะห์จากวงนอกว่า ท่านพลาดตรงไหน การมะรุมมะตุ้มในธุรกิจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยความรู้อันจำกัด ประสบการณ์อันจำกัด โดยเพาะอย่างยิ่งประสบการผิดๆมานับสิบปี นั่นจะเป็นตัวปัญหาในการปิดกันความคิดใหม่ๆ ปิดกั้นความเปลี่ยนแปลง ปิดกั้นการพัฒนา ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจ
.
    4. ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ปรึกษาไม่หมด ไม่ครบถ้วน ทำให้วินิจฉัยผิด เหมือนบอกหมอไม่หมด ทำให้หมอจ่ายยาผิด ดังนั้น หากจะให้ที่ปรึกษาทำงานได้ถูกต้องตรงประเด็น ควรให้ข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง และต้องไว้ใจที่ปรึกษา หากไม่ไว้ใจอย่าจ้างตั้งแต่ต้นครับ เหมือนไม่ไว้ใจหมอตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องไปหา จะได้ไม่ผิดพลาด
.
    5. อย่าคิดว่ารู้แล้ว เคยทำมาแล้ว เมื่อฟังคำแนะนำเบื้องต้น ผู้รับฟังมักคิดว่า รู้แล้ว เคยทำแล้ว หากเป็นเช่นนั้น ควรให้ข้อมูลแก่ที่ปรึกษาว่าที่ท่านรู้นั้น รู้มาอย่างไร ที่เคยทำแล้วนั้น ทำอย่างไร เนื่องจากบางคนรู้มาผิดผิด หรือ รู้มาผิวเผิน แต่ทำตามไม่ถูกวิธี หรือ ทำถูกวิธี แต่ขาดความต่อเนื่อง เป็นต้น ซึ่งเจอเยอะมาก
ผมยกตัวอย่างเช่น มีนักธุรกิจคนหนึ่งปรึกษาเรื่องการสร้างยอดขายการหาลูกค้า
พอได้รับคำแนะนำเรื่องให้หาผู้มุ่งหวังมากๆ ก็บอกว่าทำแล้วไม่เห็นได้ผลเลย
พอถามว่า “ที่ว่าทำแล้วนั้น ทำอย่างไร”
คำตอบก็คือ “ลองโทรไปหาแล้ว 10 -20 ราย ไม่มีใครสนใจ”
ท่านคิดว่า การค้าขายนั้น ไปหาลูกค้า 10-20 ราย แล้วถือว่า “ทำเยอะแล้ว” หรือ พอเขาไม่ซื้อก็สรุปว่า “ทำไม่ได้” อย่างนั้นหรือ ?
แท้จริงแล้วมือใหม่ การเปิดเรื่องก็ไม่น่าตื่นเต้น การพูดนำเสนอก็ไม่น่าสนใจ ข้อมูลสินค้าก็ยังไม่แน่น การสังเกตุอากัปกิริยาผู้มุ่งหวังก็ทำไม่เป็น การปิดการขายยิ่งไม่เคยทำ แล้วจะไปเพิ่มยอดขายได้อย่างไรกัน
แต่พอที่ปรึกษาแนะนำว่า “ให้ไปหาลูกค้าเยอะๆ” เท่านั้นแหละ รีบคิดต่อเลยว่า ทำแล้ว ไม่ได้ผล
ถามต่อว่า “มีวิธีอย่างอื่นอีกไหม” แทนที่จะถามต่อว่า “ที่ว่าเยอะ เยอะแค่ไหน หารายชื่อกลุ่มเป้าหมายจากที่ไหน วิธีการเข้าพบอย่างไร วิธีการนำเสนอ และ ปิดการขายอย่างไร” จึงจะถูกต้อง
ควรต้องถามให้ลึก ซักให้แตกฉาน แสดงตัวอย่างให้ที่ปรึกษาช่วยวิเคราะห์วิจารณ์ เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ลึกซึ้งตรงจุดยิ่งขึ้น เป็นต้น
.
    6. อย่าเป็นคน ติไม่ได้ ว่าไม่ได้  ในการให้คำปรึกษา เหมือนหมอฉีดยา ผ่าตัด ย่อมต้องเจ็บปวด ต้องมีบาดแผล การให้คำปรึกษาก็ต้องวิเคราะห์ นำเสนออย่างถูกต้อง กล่าวถึงความผิดพลาดอย่างชัดเจน ซึ่งหลายครั้งเจ้าของหรือผู้รับฟังคำแนะนำ มีอีโก้สูง เข้าทำนอง “ติไม่ได้ ว่าไม่ได้” พอฟังคำพูดที่ไม่เข้าหูว่าตนทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง (ทั้งที่ที่ปรึกษาจะพยายามอธิบายให้ละมุนละม่อมที่สุดแล้วก็ตาม) ก็อาจรู้สึกขุ่นเคือง ไม่พอใน พาลไม่รับฟังที่ปรึกษาต่อไป ถ้าท่านเป็นเช่นนั้น ท่านก็จะได้แต่คนแวดล้อมที่ “อวยเช้า อวยเย็น” หวังเพียงให้ท่านพอใจ แต่ปัญหาธุรกิจไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกจุด เพราะรับไม่ได้ที่มีใครมาตำหนิ หรือมีแต่ที่ปรึกษาประเภท “นักอวย” คือ อวยมันทุกเรื่อง เพื่อเอาอกเอาใจ แต่ปัญหาไม่ถูกเปิดเผยให้ท่านเห็น และ ไม่ถูกแก้ไขให้ตรงจุด ดังนั้น หากคิดจะหาที่ปรึกษาที่ดีและจริงใจ เขาจะต้องกล้า “ติเพื่อก่อ” กล้าชี้จุดอ่อนของท่าน กล้าต่อว่าท่านหากท่านทำผิด หากเรื่องใดที่ที่ปรึกษาเข้าใจผิดท่านก็เพียงให้ข้อมูลเพิ่มเติม อธิบายเหตุผลอย่างเปิดเผย อย่างนี้จึงเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของท่านอย่างแท้จริง

***********
ติดต่อที่ปรึกษา LineOA = @zru5884r 
.
ซื่อสัตย์ จริงใจ และ รับผิดชอบ
***********
#ที่ปรึกษาธุรกิจ #ที่ปรึกษาการตลาด #ที่ปรึกษากฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น