วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างง่าย

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล 
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ 0817168711 email: mingbiz@gmail.com

      นักธุรกิจมือใหม่หลายคน มักเริ่มต้นธุรกิจจากการเลือกสิ่งที่ตนเองคิดว่าชอบทำเป็นงานอดิเรก มาทำเป็นธุรกิจ โดยอาจทำสินค้า ตัวอย่างไปให้คนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงลองกินลองใช้ดู พอเห็นว่าเขาชอบหรือพอเป็นไปได้ก็ลงทุนเปิดธุรกิจเลย และมักเจอปัญหาขาดทุน หรือธุรกิจไม่เป็นไปดังหวัง

เพราะอะไร

กระบวนการคิดข้างต้นมีอะไรผิดพลาดกันแน่ ผมจะอธิบายให้ฟังครับ

การเลือกธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบนั้นดี แต่ต้องให้แน่ใจว่าถ้าจะทำเป็นธุรกิจอย่างแท้จริง เมื่อรู้สึกเบื่อ จะหยุดไม่ได้ตามอารมณ์ ไม่เหมือนงานอดิเรกนะครับ งานอดิเรกนั้นทำเมื่ออยากทำ เบื่อก็หยุดพัก แต่สำหรับการประกอบธุรกิจแล้ว การทำๆหยุดๆ ธุรกิจคงไปไม่รอด

การทำสินค้าตัวอย่างไปให้คนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงลองติชมลองใช้ดู อาจฟังดูดี แต่ส่วนมากแล้ว คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง มักจะมีคนที่กล่าวชมหรือวางเฉยมากว่ากำหนิติเตียน เพราะไม่อยากให้คุณโกรธ อีกอย่างคุณเอาของให้เขาใช้ฟรี ก็ต้องรับไว้ ชมอีกนิด พอเป็นมารยาท แต่ในใจอาจคิดว่า “ถ้าต้องซื้อไม่เอาแน่” แต่เขาไม่พูดออกมา ทำให้ข้อมูลที่คุณได้รับอาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือทำให้คุณหลงคิดไปว่าเมื่อคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆชอบ แสดงว่าของน่าจะขายได้ ว่าแล้วก็เอาเลย ลงทุนเปิดกิจการเลย แล้วผลปรากฏว่า “ลูกค้าที่แท้จริง” คือบุคคลทั่วไปที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย กลับไม่ได้นิยมชมชอบ ไม่ค่อยมีคนซื้อสินค้าหรือบริการที่คุณเสนอ

ตอนเริ่มกิจการใหม่ๆก็อาจคิดไปว่า น่าจะเป็นเพราะเป็นกิจการเปิดใหม่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงยอมทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์กันสุดตัว ทำให้มีลูกค้ามาเยี่ยมๆชมๆ ซื้อสินค้าหรือบริการบ้าง แต่แล้วก็ไม่กลับมาซื้อซ้ำอีกเลย ไม่มีการบอกต่อๆกัน สุดท้ายงบหมด ทุนหมด ปิดกิจการ หน้าเศร้า เจ็บปวด เข็ดขยาด ผิดหวัง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ความฝันพังทลาย น่าสงสาร

คำแนะนำ คือ ก่อนดำเนินธุรกิจใดๆ หรือมีโครงการใดใหม่ๆเพิ่มเติมจากธุรกิจเดิม ควรที่จะมีการ “ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ” ก่อน หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแบบง่ายๆด้วยต้นทุนต่ำ แต่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่มี เพราะถ้าผลสรุปจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ระบุออกมาว่าโครงการนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือ มีความเสี่ยงสูงเกินไป ก็จะได้ไม่ต้องไปเสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ ทำตั้งแต่ทีแรก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้นต้องมีหลักการที่ถูกต้อง มีข้อมูลที่ถูกต้อง มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์นะครับจึงจะใกล้เคียงกับความจริงที่น่าจะเป็น ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ควรเริ่มจากการหาข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งทำได้หลายวิธี


หาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

ฟังดูอาจงง คือ หาข้อมูลจากหนังสือ ตำรา รายงานวิจัย ข่าวสารในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บทสัมภาษณ์ผู้รู้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งคุณไม่ได้ไปเก็บข้อมูล หรือทำวิจัยด้วยตนเอง เพียงแต่รวบรวมเอาข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่ว่ามาประมวลผลดู

วิธีการนี้เป็นวิธีการที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำ แต่เจ้าของกิจการต้องเป็นนักอ่าน นักหาข้อมูล ขยันเข้าอินเตอร์เน็ต หรือ ห้องสมุด หาเวลาพูดคุยกับผู้รู้ที่อยู่ในวงการให้มาก ซึ่งคนที่มีคุณสมบัติเป็นนักหาข้อมูลด้านธุรกิจนับวันจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมัวเอาเวลาไปดูเกมส์โชว์ ดูละคร

หากคุณมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการธุรกิจที่คุณจะทำมากพอ คุณจะได้รับรู้ถึง โอกาส อุปสรรค ที่อาจจะมี ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจจริงๆ หากโอกาสงาม อุปสรรคที่คาดว่าจะมีนั้นอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ ก็จะลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าไปเจออุปสรรค์โดยไม่รู้มาก่อน เป็น “เซอร์ไพรส์” อันเจ็บปวด อย่างนี้ไม่ดีแน่

สิ่งที่อยากจะเตือนไว้ก็คือ อย่าหาข้อมูลเพียงไม่กี่ชิ้น แล้วด่วนสรุปว่าโครงการที่ตนเองคิดนั้นแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และ ต้องประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะถ้าหากว่าคุณได้หาข้อมูลให้มากพอและลึกพอ คุณอาจจะพบว่า โครงการที่ว่านี้มีคนอื่นทำมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่อยู่ในพื้นที่ของคุณ หรือ อาจเป็นโครงการที่คนอื่นทำแล้วเลิกแล้วเพราะล้มเหลว ถ้าคุณไม่รู้ กลับมาทำซ้ำรอยโครงการที่คนอื่นทำแล้วและเลิกแล้ว ซึ่งคุณเองก็ไม่รู้ปัญหาของคนที่เคยทำแล้วเลิกมาก่อนว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าเป็นคุณจะแก้ไขปัญหาเดียวกันนั้นได้หรือไม่ แบบนี้ไม่ดีแน่

การหาข้อมูลจึงต้องมากพอ และละเอียดลึกซึ้งพอ เป็นตัวเลขที่ชัดเจนมากกว่าเป็นเพียงความรู้สึก เพราะถ้าเป็นข้อมูลผิวเผิน เรามักตีความเข้าข้างตนเอง หรือ หาแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความชอบของตนเอง โดยไม่สนใจหาข้อมูลที่ขัดแย้งกับความชอบของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลก็จะผิดพลาด นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

โดยสรุป คือ หาข้อมูลให้มากที่สุด ละเอียดที่สุด จากหลากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งเป็นเอกสาร และผู้คนในวงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ โดยไม่เอาความชอบ หรือไม่ชอบส่วนตัว ไปเป็นตัววัดในการวิเคราะห์ข้อมูล


หาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

เมื่อได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิซึ่งเป็นเอกสาร หรือ สัมภาษณ์คนในวงการ แล้ว ก็ควรจะหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ หรือผมจะเรียกว่า “ภาคสนาม” นั่นเอง

หมายความว่า คุณควรจะต้องไปพบคนแปลกหน้าที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าเป้าหมาย แล้วไปสอบถามข้อมูลความคิดเห็นของว่าที่ลูกค้าเหล่านั้นว่า คิดอย่างไรกับสินค้า หรือ บริการที่คุณจะทำ แล้วเก็บข้อมูลให้ละเอียดว่า ลูกค้าชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหน จะซื้อหรือไม่ และ ที่สำคัญคือ คิดว่าราคาที่ซื้อควรเป็นเท่าไหร่จึงจะยอมจ่าย คำถามสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด จากประสบการณ์ในธุรกิจของผม ผมเคยพบแบบสอบถามหลายหัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยในด้านธุรกิจ บางแบบสอบถามพบว่า ทุกคำถามดีหมด แต่ไม่ถามว่า “ลูกค้ายินดีซื้อหรือไม่ และยินดีจ่ายที่ราคาเท่าใด” เห็นแต่คำถามว่าสินค้าหรือบริการนี้ดีไหม ชอบไหม เมื่อลูกค้าตอบว่าดี ชอบ ก็สรุปว่าน่าจะทำได้ก็ไปผลิต เมื่อต้นทุนสูง ก็ต้องตั้งราคาขายไว้สูง เมื่อออกวางตลาดปรากฎว่าไม่มีใครซื้อ ก็ต้องขายขาดทุน ธุรกิจล้มเหลว ถ้าเพียงแต่รู้ราคาที่ลูกค้ายอมจ่ายตั้งแต่แรกก็คงจะดีกว่านี้

หากเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้ง ก็ต้องไปดูสถานที่จริง ไปดูบ่อยๆ ในหลายๆวันของสัปดาห์ ในหลายๆช่วงเวลา ในหลายๆพื้นที่ เพื่อจะได้ทำเลที่ดีที่สุด บางคนไปดูเพียง 2-3 ครั้ง ไปเฉพาะตอนกลางวัน หรือ ไปเฉพาะช่วงปิดเทอม ดูเสมือนดี มีที่จอดรถเยอะ รถไม่ติด ดูไม่เปลี่ยว จึงตัดสินใจเช่า เซ้ง หรือ ซื้ออาคาร

เมื่อย้ายไปอยู่จริงๆ ปรากฏว่า ช่วงเปิดเทอมรถติดมาก ไม่มีที่จอดรถ พื้นที่บางแห่งในเวลากลางคืนก็เปลี่ยวจนน่ากลัว ผิดคาด แต่ก็ไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะจ่ายเงินค่าเช่าหรือซื้อไปแล้ว ได้แต่นั่งเศร้า

ในทางกลับกัน บางทำเลเห็นว่ามีรถผ่านมาก คิดว่าน่าจะดี แต่พอเอาเข้าจริงๆ “รถวิ่งผ่านแต่ไม่จอด เพราะหาที่จอดยาก” หรือ เป็นร้านโดดเดี่ยว ไม่น่าสนใจ รถแวะที่ร้านไม่ค่อยมี มีแต่ขับผ่านมาแล้วผ่านไป ก็เศร้าอีกเหมือนกัน เรื่องเหล่านี้จะคุยกันละเอียดอีกครั้งในเรื่องการหาทำเลนะครับ

ทำไมผมจึงเน้นให้ไปหาข้อมูลจากแหล่งเป้าหมายจริงๆ เพราะข้อมูลที่ได้จากข่าวสาร จากเอกสารต่างๆ อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในปัจจุบัน การวิจัยบางเรื่องทำมาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นเดิมแล้ว จึงต้องมีการตรวจสอบจากของจริง สถานการณ์จริง สถานที่จริง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจริง อีกหลายครั้ง ก่อนการตัดสินใจ

ในบางกรณี การสอบถามจากนักวิชาการ ก็อาจมีความคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากเป็นข้อมูลตามตำรารวมกับความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งหลายคนก็ไม่เคยทำธุรกิจที่คุณสอบถามเขามาก่อน

การสอบถามจากคนในวงการที่ทำอยู่ ก็มีความคลาดเคลื่อนได้เนื่องจากเขาก็คงไม่อยากให้คุณทำธุรกิจเดียวกับเขา เพราะจะเป็นการสร้างคู่แข่งเปล่าๆ ข้อมูลที่เขาบอก จึงอาจไม่เป็นความจริงก็ได้

การสอบถามจากคนที่เคยทำแล้วเลิกแล้ว ก็อาจมีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากเขาอาจจะไม่มีความรู้จริงในธุรกิจที่เขาเคยทำ ติดขัดปัญหาที่เขาแก้ไม่ได้ เห็นเป็นปัญหาใหญ่ หรือ ขาดความอดทน ฯลฯ แต่คุณอาจแก้ได้

นี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่า ไม่ว่าจะฟัง “เขาเล่าว่า” หรือ “เขาบอกว่า” จากที่ไหนก็ตาม ต้องมีการหาข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ คือ พื้นที่จริง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายตัวจริง ในช่วงเวลาปัจจุบัน ด้วยเสมอ

ดังนั้นจึงควรนำข้อมูลจากทุกแหล่งมาประมวลผลรวมกัน แล้วจึงวิเคราะห์โดยละเอียด คุณจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ความผิดพลาดในการตัดสินใจดำเนินโครงการธุรกิจก็จะลดลง


การไปเยี่ยมเยือนกิจการของคนอื่น

ธุรกิจหลายๆอย่างนั้นอาจมีคนอื่นทำอยู่แล้ว แต่คุณอาจมีแนวคิดแนวทางที่ทำให้ดีกว่าที่คนอื่นๆทำได้ การไปดูงาน ดูธุรกิจที่คนอื่นดำเนินอยู่ หรือไปทดลองใช้บริการดูว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นแนวทางในการหาข้อมูลที่ดี

บางคนอยากเปิดสปา เพราะชอบใช้บริการสปาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พออยากเปิดสปาของตนเอง ก็ไปดูงานแบบนักธุรกิจ คือ ดูว่าเขามีการตกแต่งร้านอย่างไร การแต่งกายของพนักงานเป็นอย่างไร เมนูในบริการมีอะไรบ้าง เป็นต้น แบบเจาะลึก พินิจพิเคราะห์ ทำให้ได้ข้อมูลมากพอ แล้วคิดหาจุดเด่นของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่าง

บางคนชอบดื่มกาแฟสด เดินทางไปที่ใดในประเทศ หรือ ในโลกนี้ ก็ต้องแวะร้านกาแฟ เพื่อชิมกาแฟรสเลิศ จนเป็นคอกาแฟตัวยง รู้รสชาติ กลิ่น สี การตกแต่งร้าน บรรยากาศ แหล่งผลิต ส่วนผสม ฯลฯ ทุกอย่าง เมื่อต้องการทำธุรกิจร้านกาแฟสดก็จะง่ายขึ้น เพราะมีความรู้พื้นฐานเป็นอย่างดีเป็นทุนเดิม เพียงแต่หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องธุรกิจเพิ่มเติม หรือ หาผู้มีความรู้ทางธุรกิจมาช่วย ก็จะเรียบร้อยราบรื่นดี

ความรู้ในการประกอบธุรกิจนั้น สามารถแบ่งออกเป็นเรื่องใหญ่ๆได้ 2 เรื่อง คือ ความรู้ทางด้านเทคนิค และ ความรู้ทางด้านธุรกิจ

บางคนมีความรู้ทางด้านเทคนิคดี เช่น แพทย์ วิศวกร พ่อครัว นักกฎหมาย ฯลฯ แต่ขาดความรู้ทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงสูงได้ เพราะในการนำความรู้ทางเทคนิคมาทำเป็นธุรกิจได้นั้น ต้องอาศัยตัวแปรทางธุรกิจอีกหลายอย่าง ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเป็นเรื่องที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

บางคนมีความรู้ทางด้านธุรกิจ แต่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ก็ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเช่นกัน จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนตนเองต่อยอดความรู้ทางเทคนิคให้มากขึ้น หรือหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคมาเสริมธุรกิจของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

การศึกษาความเป็นได้ของโครงการ ประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ซึ่งคุณควรเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร จากข้อมูลที่หามาข้างต้น เพื่อเป็นการเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ สามารถทบทวนในภายหลังได้ อีกทั้งยังนำไปให้หุ้นส่วน หรือ เจ้าของเงินทุนอ่านดูเพื่อเป็นแนวทางได้อีกด้วย ซึ่งหัวข้อในรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการควรประกอบด้วย


1. ข้อมูลเบื้องต้น

ประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไปทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเฉพาะ ขนาดของตลาด และ แนวโน้มในอนาคต โอกาสที่เป็นไปได้ อุปสรรค์ที่อาจจะมี จำนวนคู่แข่งมีทำธุรกิจอยู่ก่อน ฯลฯ ข้อมูลเบื้องต้นควรหาให้ละเอียดที่สุดจากแหล่งข้อมูลต่างๆตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว


2. ระบุ ที่มา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ

โดยการบอกความเป็นมาที่สนใจโครงการธุรกิจโครงการนี้ โดยใช้ข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นคว้ามาประกอบ กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ อาจมีข้อเดียวหรือหลายข้อก็ตาม แต่ทุกวัตถุประสงค์ควรสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน ส่วนเป้าหมายของโครงการ ควรกำหนดเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อวัดผลได้ อีกทั้งมีระยะเวลากำกับไว้ ว่าโครงการนี้จะใช้เวลากี่ปี คาดว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มียอดขายเท่าไหร่ หรือ มีส่วนแบ่งการตลาดเท่าไหร่ เป็นต้น


3. วิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และ อุปสรรค์ (Threat)

3.1. จุดแข็ง (Strength) หมายถึง สิ่งที่ตนเองทำได้ดี ในขณะที่หาคนอื่นที่ทำได้แบบนี้ยาก หรือ มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องที่จะทำ หรือ มี Know How ในเรื่องที่จะทำ เป็นต้น

3.2. จุดอ่อน (Weakness) หมายถึง สิ่งที่ตนเองทำได้ไม่ดี ในขณะที่คู่แข่งทำได้ดีกว่า เช่น เงินทุนจำกัด บุคลากรจำกัด หรือ ความเชี่ยวชาญจำกัด เป็นต้น แต่อย่าถึงกับมีจุดอ่อนมากมายนะครับ มิฉะนั้น แสดงว่า คุณอาจไม่เหมาะกับธุรกิจนี้ ในขณะเดียวกัน ควรคิดหาทางแก้ไขจุดอ่อนที่ตนเองมี โดยพิจารณาว่า จุดอ่อนนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อความสำเร็จของธุรกิจที่ศึกษาอยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะต้องพัฒนาตนเองให้ไม่มีจุดอ่อนนั้นเหลืออยู่ หรือ หาบุคลากรที่จะมาชดเชยจุดอ่อนนั้นจุดอ่อนหมดไปให้ได้

3.3. โอกาส (Opportunity) หมายถึง ปัจจัยภายนอกที่เอื้ออำนวยให้โครงการนี้น่าจะไปได้ดี เช่น การเปิดการค้าเสรี ทำให้คนที่พูดภาษาต่างประเทศได้ เป็นที่ต้องการสูงในอนาคตอันใกล้ โรงเรียนสอนภาษา จึงเป็นโอกาส ถ้าผนวกกับ จุดแข็ง เช่นเจ้าของธุรกิจจบการศึกษาด้านภาษาต่างประเทศ ก็ทำให้โอกาสทางธุรกิจยิ่งเป็นไปได้สูงขึ้น หรือ การที่นักท่องเที่ยวนิยมหาข้อมูลการท่องเที่ยวในอินเตอร์เน็ตก่อนการเดินทาง ทำให้ธุรกิจรับจองโรงแรมที่พัก และแพกเกจทัวร์ทางอินเตอร์เน็ต มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ เป็นต้น หรือ เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคของบางธุรกิจ แต่กลับเป็นโอกาสสำหรับบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาและคอมพิวเตอร์ กลับมีคนมาเรียนมากขึ้น เพราะเมื่อคนว่างงาน หรือ รู้สึกว่างานเดิมไม่มั่นคง จึงอยากเรียนรู้เพิ่มทักษะความสามารถของตนเอง เพื่อว่าจะได้หางานใหม่ได้ง่ายขึ้น จึงทำให้ธุรกิจโรงเรียนสอนภาษาและคอมพิวเตอร์เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจตกต่ำบริษัทต่างๆ ต้องจำกัดงบประมาณในการโฆษณา ทำให้การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ลดลง แต่การโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ ซึ่งถูกว่า กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นี่เป็นตัวอย่างของการมองหาโอกาสในวิกฤต

3.4. อุปสรรค์ (Threat) หรือ ภัยคุกคาม หมายถึง ปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ เช่น มีกฎหมายใหม่ เรื่องลิขสิทธ์ซอร์ฟแวร์ อีกทั้งบังคับให้ร้านเกมส์คอมพิวเตอร์ปิดร้านเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเพราะต้องซื้อซอร์ฟแวร์แต่รายได้ลดลงเพราะเวลาทำการสั้นลง หรือ การลดภาษีจากการเปิดเสรีการค้า ทำให้สินค้าจากประเทศจีนเข้ามาในเมืองไทยในราคาที่ถูกมาก ทำให้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศซึ่งต้นทุนสูงกว่า ขายได้น้อยลง เป็นอุปสรรค์หรือภัยคุกคามอย่างหนึ่ง หรือ ในกรณีที่เกิดการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้สินค้าจากสัตว์ปีก เช่น ไก่ และไข่ ขายได้น้อยลงเพราะคนกลัว เมื่อทราบอุปสรรค์ที่คาดว่าจะมีล่วงหน้า จะได้คิดหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า เพื่อให้อุปสรรค์เบาบางลงหรือ หมดสิ้นไป เช่น กรณีร้านเกมส์ อาจต้องหารายได้เพิ่มจากบริการอื่น เช่น ปรับเป็นร้านอินเตอร์เน็ตคาร์เฟ่ ขายกาแฟ และเครื่องดื่ม หรือ รับพัฒนาเว็บไซท์ รับพิมพ์งาน เป็นรายได้เสริม กรณีสินค้าจากจีนราคาถูกว่า แต่คุณภาพต่ำกว่า และไม่มีบริการหลังการขาย เราสามารถเน้นย้ำเรื่องคุณภาพกับตรายี่ห้อที่เชื่อถือได้ อีกทั้งมีการรับประกันที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า มีอะไหล่ซ่อมเวลาสินค้าชำรุดเป็นต้น ในกรณีของไข้หวัดนก อาจมีการเน้นจุดขายว่า เราเป็นฟาร์มปิด ควบคุมความสะอาดทุกขั้นตอน ทำให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าไปไม่ได้ และตรวจสอบความสะอาดก่อนนำไปวางตลาด เป็นต้น ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ก็จะขายได้มากขึ้น แม้มีอุปสรรค์ก็ตาม


4. ระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของโครงการธุรกิจที่ทำ

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายควรมีจำนวนมากพอที่โครงการจะเกิดขึ้นได้ โดยการดูตัวเลขประกอบ เช่น สมมติว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายธุรกิจของคุณเป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 20 – 35 ปี หรือ วัยทำงานตอนต้น ก็ต้องดูตัวเลขจากสัมมโนประชากรว่า ประชากรกลุ่มนี้ในจังหวัด หรือ อำเภอ หรือ ตำบลที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้นอยู่อาศัย มีอยู่กี่คน หรือ หากเป็นสินค้าที่กระจายทั่วประเทศก็เอาตัวเลขทั้งประเทศเป็นเกณฑ์ ถ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ คุณก็ต้องมีตัวเลขว่า มีชาติใดบ้าง จำนวนกี่คนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ แล้วอาศัยหรือทำงานอยู่ที่ไหนกันเป็นส่วนใหญ่หมายถึงถนนเส้นใด หมู่บ้านใด อำเภอใด อีกทั้งนิยมพบปะสังสรรค์กันที่ใด เป็นต้น

หากเป็นอพาร์ทเม้น ควรชัดเจนว่าตั้งอยู่บริเวณใด และบริเวณนั้นใครน่าจะมาพักได้ เช่นนักศึกษา หรือ คนทำงาน จะเป็นแบบรวม หรือ เฉพาะหญิงเท่านั้น แล้วบริเวณนั้นมีกลุ่มเป้าหมายอยู่มากน้อยเพียงใด


5. จัดทำแบบสอบถามกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อระบุกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนแล้ว ผู้ทำรายงานโครงการควรจัดทำแบบสอบถาม เพื่อนำไปสอบถามกลุ่มเป้าหมายในเรื่องต่างๆที่อยากรู้ เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้ ความต้องการสินค้าหรือบริการ และที่สำคัญที่สุดคือราคาที่สามารถจ่ายได้ เพื่อจะได้เก็บมาวิเคราะห์ ส่วนเรื่องของจำนวนแบบสอบถามที่ดีนั้น จะต้องมากพอที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มใหญ่ได้ โดยดูตามหลักการทางสถิติ แต่ถ้าคุณไม่มีความรู้เรื่องสถิติมากนัก ขอให้มีอย่างน้อย 250 แบบสอบถามขึ้นไป (จำนวนอาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และ จำนวนตัวอย่างที่จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนั้นได้) และแจกให้กรอกอย่างแท้จริง อย่าเพียงแต่จ้างคนไปแจก แล้วจ่ายค่าจ้าง โดยขาดการควบคุมในทุกขั้นตอน เพราะในหลายกรณีพบว่า คนรับจ้างแจกแบบสอบถาม ไม่ได้นำไปให้กลุ่มเป้าหมายกรอกแบบสอบถาม แต่กลับนำไปกลอกเองแบบมั่วๆ แล้วนำมาส่งเพื่อขอรับเงินค่าจ้าง หากเป็นแบบนี้คำตอบที่ได้รับก็จะคลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริงตั้งแต่แรก ทำให้การวิเคราะห์ที่ตามมาผิดไปหมด

วิธีการป้องกันปัญหานี้ทำได้โดยให้เจ้าของโครงการเป็นคนนำแบบสอบถามไปถามกลุ่มเป้าหมายเอง หากทำไม่ได้ ควรให้ผู้ที่รับจ้างแจกแบบสอบถาม ถามชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ ของผู้ตอบมาด้วย แล้วเจ้าของโครงการหรือผู้ประเมินผลก็ควรสุ่มโทรไปสอบถามซ้ำบางคำถามทางโทรศัพท์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการสอบถามจริงๆ อีกทั้งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล

ในกรณีของการดูทำเลร้านค้าปลีก อาจต้องมีการนำเครื่องนับเลข หรือ Counter ไปนั่งนับจำนวนคนที่เดินผ่านหน้าร้านในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลาโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ร้านเปิดอยู่ เพื่อดูว่ามีกี่คนที่ผ่านหน้าร้าน และ น่าจะเข้าร้านกี่เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนกี่คน เพื่อดูแนวโน้มความเป็นไปได้ของทำเลว่าดีหรือไม่


6. ประมวลผลข้อมูลที่หามาได้ทั้งหมด

โดยหากไม่มีความรู้ทางสถิติมากนัก ก็ทำเป็นอัตราส่วนร้อยละ เป็นวิธีที่ง่ายและนิยมใช้มากที่สุด เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละเท่าไหร่ ชอบสินค้าตัวอย่างที่ให้ดู และมีร้อยละเท่าไหร่ที่ยินดีซื้อ ซื้อที่ราคาเท่าไหร่อย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น


7. วิเคราะห์ผล

คือนำมาคิดคำนวณต่อว่าจากผลที่ได้จากการสำรวจนั้นโครงการธุรกิจของเราสามารถตอบสนองความต้องการได้หรือไม่ โดยคาดว่าจะตั้งราคาที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย (ดูจากผลการวิเคราะห์) แล้วจากราคาดังกล่าว จะมีผู้ซื้อหรือใช้บริการประมาณเดือนละกี่คน ปีละกี่คน ได้เงินรายได้เท่าไหร่ มีต้นทุนทั้งหมดเท่าไหร่ เหลือกำไรเท่าไหร่ คืนทุนได้ภายในกี่ปี กี่เดือน

การวิเคราะห์โครงการควรแยกเป็น 3 เงื่อนไข คือ ในกรณีเป็นไปตามคาดการณ์ กรณีต่ำกว่าคาดการณ์ 20% กรณีดีกว่าคาดการณ์ 20% ผลประกอบการของโครงการจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าหากพบว่า แม้ในกรณีที่ “ต่ำกว่าคาดการณ์” ธุรกิจก็ยังอยู่ได้ไม่มีปัญหา ก็ผ่านเกณฑ์ขั้นต้น

ต่อมาก็ดูว่า ธุรกิจนี้น่าจะให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มากพอที่จะทำให้คุ้มค่าเงินลงทุนหรือไม่ ในทางธุรกิจเรียกว่า “ผลตอบแทนจากการลงทุน” หรือ “Return On Investment (ROI)” อาจคิดง่ายๆจากการเองเงินสดรับจากทั้งโครงการเป็นตัวลบด้วยเงินลงทุนทั้ง หารด้วยเงินลงทุนทั้งหมด แล้วคูณด้วยหนึ่งร้อยเพื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แล้วหารด้วยจำนวนปีของโครงการ

   [(เงินสดรับจากโครงการ – เงินลงทุนทั้งหมด) x 100 ] / เงินลงทุนทั้งหมด X จำนวนปี

เช่น โครงการ A ใช้เงินลงทุน 1,000,000 บาท คาดว่าจะได้เงินรายได้รวมจากโครงการทั้งสิ้น 1,500,000 บาท ในระยะเวลา 2 ปีของโครงการ

ROI = [(1,500,000 – 1,000,000) x 100] / [1,000,000 x 2 ปี] = 25% ต่อปี

แสดงว่าโครงการนี้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 25% ต่อปี เป็นโครงการธุรกิจที่น่าสนใจมาก

หากเป็นโครงการที่มีระยะเวลายาวนานมากๆ เช่น 5 – 10 ปี การคำนวณควรจะต้องนำเรื่อง “ค่าของเงินตามเวลา” หรือ Time Value of Money มาร่วมคิดด้วย ว่าในอนาคตที่มีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในแต่ละปี มูลค่าผลตอบแทนของโครงการเมื่อคิดที่ปีปัจจุบัน (Net Present Value: NPV) จะเป็นเท่าไหร่

แต่สำหรับการประเมินโครงการอย่างง่าย ที่มีระยะเวลาลงทุนช่วงแรกไม่ยาวนานนัก การคิดแบบที่สอนให้ในตอนต้นก็จะประเมินได้ดี


8. จัดทำแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน

ตอนท้ายของรายงานควรมีแผนสำรองฉุกเฉิน ในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นตามแผนหลัก หรือไม่เป็นไปตามอย่างที่คิดคำนวณไว้ในตอนต้นของแผน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์พิเศษบางประการ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดโรคระบาด เกิดภัยพิบัติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ คุณจะทำอย่างไรกับธุรกิจของคุณ คุณจะมีแผนสำรองเงินสดอย่างไร คุณจะทำประกันภัยธุรกิจของคุณเท่าไหร่ กับใครที่ไหน เมื่อเงินหมุนเวียนในธุรกิจสะดุด คุณจะหาแหล่งเงินทุนสำรองจากที่ไหน เป็นต้น


9. สรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจ

เมื่อประเมินโครงการธุรกิจเรียบร้อยแล้ว คุณก็ต้องสรุปว่าโครงการธุรกิจที่คุณศึกษานี้ “คุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ จะทำหรือไม่ทำ” ถ้าผลสรุปออกมาว่าเสี่ยงเกินไป ผลตอบแทนต่ำเกินไป หรือ รู้สึกไม่คุ้ม ก็สรุปว่า “ไม่ทำ” แทนที่คุณจะลงทุนจำนวนมากแล้วค่อยมารู้ในอีกหลายปีข้างหน้าว่า ไม่น่าทำเลยตั้งแต่แรก กลายเป็นบทเรียนราคาแพง หรือ บางคนถึงกับหมดตัว มีหนี้ ในกรณีที่คุณศึกษาโครงการอย่างละเอียดนี้ก่อนแล้วคุณก็จะรู้ล่วงหน้าเหมือนทำนายอนาคตได้อย่างมีหลักการ ว่า “ไม่ควรทำ”

แต่ถ้าผลออกมากว่า ผลตอบแทนที่น่าจะได้รับออกมาสูงเป็นที่น่าพอใจ ความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คุณอาจสรุปว่า “เป็นโครงการธุรกิจที่สมควรทำ” เมื่อนั้น ก็ค่อยมาลงรายละเอียดด้านแผนธุรกิจ แผนการตลาด การหาเงินทุน แล้วเริ่มโครงการจริงๆซะที

ในขณะที่ดำเนินโครงการอยู่ อาจต้องมีการทบทวนแผนธุรกิจ มีการปรับแผนธุรกิจ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงในแต่ละช่วงเวลาด้วย จึงจะทำให้ธุรกิจเป็นไปด้วยดี เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา

เมื่อครบระยะเวลาโครงการก็ประเมินและสรุปผลอีกครั้งว่าทุกอย่างเป็นอย่างไร เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ต่ำกว่าคาด หรือ ดีเกินคาด แล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป “พอใจแล้วจบโครงการได้” หรือ “จะมีการขยายการลงทุน ขยายโครงการออกไปอีก” “ทำเป็นกิจการใหญ่” “ขยายสาขา” หรือ “ขายแฟรนไชส์” หรือ “เปิดโรงงานผลิตวัตถุดิบเอง” หรือ … ฯลฯ ว่ากันไปในอนาคต แล้วก็จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ในอนาคตเมื่อเวลามาถึงอีกครั้งหนึ่ง

เขียนบทความโดย มงคล ตันติสุขุมาล 
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ 0817168711 email: mingbiz@gmail.com

*ติดต่อ วิทยากร เรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  โทร 0817168711

วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จะทำธุรกิจอะไรดี

คนหลายคนพอนึกอยากจะทำธุรกิจ หรือ คิดถึงธุรกิจ ก็มักจะคิดตามกระแสคนอื่น มีอยู่ยุคหนึ่งคนนิยมกินชามุก ก็มีคนแห่ไปเปิดชามุกกันเต็มไปหมด เมื่อเร็วๆนี้คนสนใจเรื่องสปา ก็มีคนแห่เปิดสปากันมากมาย สุดท้ายหากไม่แน่จริงก็เจ๊งกันเห็นๆ


เมื่อถามพนักงานบริษัทที่อยากออกมาทำธุรกิจส่วนตัว มีไม่น้อยที่มักจะตอบว่า อยากเปิดร้านอาหาร หรือ อยากเปิดร้านกาแฟ หรืออยากเปิดร้านเสื้อผ้า เป็นต้น โดยมักจะคิดอ่านเอาจากความรู้สึกว่า เคยเห็นร้านอาหารที่ทานประจำขายดี คิดอะไรไม่ออกก็เอาอย่างเขาบ้างง่ายดี ครั้นพอเปิดขึ้นมาต้องทำอะไรต่อมิอะไรมากมายชนิดที่คิดไม่ถึง เช่น ต้องตื่นแต่เช้าตรู่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเพื่อไปซื้ออาหารสด ผักสด หมูสด เพื่อให้ได้ราคาถูก เพราะเป็นเวลาที่ของสดมาส่งหน้าตลาดสด อีกทั้งต้องกลับมาเตรียมล้างหั่น ตุ๋น กว่าจะเสร็จก็สายๆเข้าไปแล้วเกือบหมดแรง ขายเสร็จก็ต้องเก็บกวาด เช็ดล้าง หมดแรงพอดี นอนได้ไม่นานก็ต้องตื่นแต่เช้าอีก เปิดร้านอีก ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง อาหารที่ต้องต้มตลอดเวลาเตาแก๊สก็ต้องเปิดทิ้งไว้อุ่นอาหารตลอดวันเงินทั้งนั้น ที่ขายได้ก็ต้องเป็นภาระเก็บกวาดล้างจานทำความสะอาดร้าน ที่ขายไม่ได้หลายวันก็บูดเน่าต้องทิ้งไปให้เสียดาย วันไหนขายไม่ดีก็ต้องกลุ้มใจกับลูกจ้างที่นั่งเฉยๆแต่ค่าจ้างต้องจ่ายทุกวัน วันไหนขายดีก็เหนื่อยจนขาเป็นตะคริว ครั้นพอทำไปได้สักพักก็เซ้งต่อแบบขาดทุนไปเพราะบอกว่า ขายไม่ดี หรือ ขายดีพอควรแต่ไม่ไหว เหนื่อย ไม่ชอบ เป็นต้น

ผมจึงอยากแนะนำให้กับนักธุรกิจ หรือ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวว่า การเลือกธุรกิจที่จะทำควรมีกลยุทธ์หรือมีหลักการ จะได้ไม่สะเปะสะปะ ซึ่งหลักการที่ดีควรเป็นดังนี้

1. คนหาความรัก ความชอบของตัวเอง

เริ่มต้นจากการค้นหาตัวเองว่าตัวเองนั้นมีความรักความชอบในกิจกรรมประเภทใดเป็นพิเศษ ซึ่งความรักหรือความชอบเป็นพิเศษนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณอยากทำสิ่งที่ชอบได้ยาวนานเหมือนไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่รู้เบื่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลือกธุรกิจที่จะทำเพราะหากคุณได้ทำในสิ่งที่คุณชอบเป็นหลัก คุณก็จะมีความสุขในทุกวันที่ทำ มีความใส่ใจในทุกรายละเอียด และยินดีทำต่อไปแม้ว่าในบางช่วงจะไม่มีกำไร แต่เมื่อทำไปด้วยใจรัก ก็จะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในที่สุด

ถามตนเองว่า “มีงานอะไรบ้างที่คุณรัก และยินดีที่จะทำแม้ว่าจะไม่มีรายได้ตอบแทนก็ตาม คุณก็มีความสุขและยินดีที่ได้ทำ”

ในขั้นตอนนี้อย่าเพิ่งไปกังวลว่าสิ่งที่คุณชอบ หรือ กิจกรรมที่คุณชอบมันจะเป็นธุรกิจได้หรือไม่ได้ หรือ หากเป็นได้จะมีเงินไปทำหรือไม่มี เรื่องนี้บางครั้งคุณอาจจะมองยังไม่ออกว่าจะเป็นธุรกิจได้อย่างไร แต่มีทางเป็นไปได้ครับ คิดและเขียนสิ่งที่รักที่ชอบออกมาหลายๆอย่างก่อน เช่น

คุณสมหญิงมีลูกเล็ก 2 คน เป็นคนใจเย็น ชอบออกสังคมเป็นพิเศษ พอส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จก็มักจะไปอยู่ที่สโมสร ไปร้านเสริมสวย ไปพูดคุยกับเพื่อนฝูง มีความสุขกับการดูแลลูกเป็นพิเศษ ลูกจะไปไหนต้องไปส่งเองรับเอง จึงสรุปเรื่องความชอบ หรือคุณสมบัติส่วนตัวออกมาได้ว่า

• ใจเย็น ชอบสังคม คุยสนุก เป็นที่ชื่นชอบของคู่สนทนา

• ติดลูก ชอบที่จะได้ดูแลในทุกรายละเอียดของลูก รักเด็ก

• รักสวยรักงามชอบการแต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดีสวยงาม


2. ค้นหาธุรกิจที่อยู่ในความสนใจ

มองหาธุรกิจที่ตนเองคิดว่าน่าสนใจ ในขั้นตอนนี้อาจเขียนตัวเลือกออกมาก่อนทั้งธุรกิจที่อยู่ในกระแส และ ไม่อยู่ในกระแสแต่ตนเองสนใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าเพิ่งไปกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ได้ในตอนนี้ คิดแค่ว่าสนใจธุรกิจอะไรบ้างเป็นพอ เขียนออกมาหลายๆธุรกิจ

อย่างในกรณีตัวอย่างคุณสมหญิง อาจมีความสนใจธุรกิจต่อไปนี้

• สปา

• ร้านเสริมสวย ทำผม แต่งหน้า

• โรงเรียนอนุบาล

• ธุรกิจขายตรง


3. จับคู่ระหว่างความชอบส่วนตัว และ ธุรกิจ

ทำการลงรายละเอียดว่าในธุรกิจที่ตนเองสนใจนั้น จะใช้ความชอบ ทักษะหรือความสามารถเฉพาะตัวที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจที่สนใจแต่ละอย่างได้หรือไม่ อย่างไร

ตัวอย่าง คุณสมหญิง ทำการจับคู่ดังนี้

ลำดับ ธุรกิจ ความชอบ ความสามารถพิเศษ

ลำดับ 1: สปา ชอบความสวยความงาม

ลำดับ 2: ร้านเสริมสวย ชอบความสวยความงาม ได้พูดคุยกับคน

ลำดับ 3: โรงเรียนอนุบาล ชอบดูแลเด็ก ใจเย็นกับเด็ก

ลำดับ 4: ธุรกิจขายตรง ใจเย็น ชอบคุยกับคน อิสระไม่ต้องเฝ้าร้าน


4. ลงรายละเอียดเพื่อคัดเลือกธุรกิจที่ไม่ใช่ออกไปก่อน

ขั้นตอนนี้ก็คือการลงในรายละเอียดของแต่ละธุรกิจเพื่อคัดธุรกิจที่ “ไม่ใช่” ออกไปก่อน การลงรายละเอียด ประกอบด้วย L + 5 M + Oในทุกธุรกิจ คือ

Location: ทำเลที่ตั้ง

Money : เงินทุน

Man : บุคลากร

Machine : เครื่องจักรหรืออุปกรณ์

Material : วัตถุดิบ

Marketing : การตลาด

Others : อื่นๆ เช่น ค่าภาษีป้าย ค่าขออนุญาต ค่าเก็บขยะ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ

Location: เรื่องทำเลที่ตั้ง ผมให้เป็นอันดับแรก เพราะส่วนใหญ่แล้วมักเป็นต้นทุนสูงที่สุดในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องอาศัยหน้าร้านในการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ให้คิดดูว่าจะใช้ที่ไหนเป็นร้านค้า หรือสำนักงาน หากว่าเริ่มธุรกิจโดยใช้ที่บ้านได้จะดีที่สุดเพราะประหยัดเรื่องค่าเช่าได้ส่วนหนึ่ง แต่หากใช้ที่บ้านไม่ได้ เช่น อยู่คอนโด หรือ บ้านอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องหาเช่าที่ทำธุรกิจ หรือจะไปเช่าพื้นที่ห้าง มีค่าเช่าเท่าไหร่

หากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยหน้าร้าน คือมีหน้าร้านเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับลูกค้าด้วยแล้ว ค่าใช้จ่ายเรื่องทำเลที่ตั้งของร้านค้าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในธุรกิจ จนอาจเป็นตัวตัดสินได้เลยว่าธุรกิจนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หรือไม่สำหรับคุณ หากเฉพาะค่าเช่าร้าน ค่าตกแต่งก็เกิน 50%-60% ของงบลงทุน ก็ทำใจเถอะว่าไม่เหมาะตัดออกจากรายการซะ

Money: เรื่องเงินทุนนั้น ให้เปิดสมุดบัญชีทุกเล่มดู ว่าคุณมีเงินสำหรับลงทุนได้สักกี่มากน้อย โดยกันเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในครอบครัวไว้ก่อนให้เพียงพอสำหรับ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจส่วนใหญ่แล้ว 6 เดือนแรกยังล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าหากว่าพอกันเงินสำรองของครอบครัวไว้แล้วก็ไม่มีเหลือทำธุรกิจได้เลย แสดงว่า คุณอาจยังไม่เหมาะกับการออกจากงานประจำมาทำธุรกิจ หากอยากทำควรทำควบคู่กับงานประจำไปก่อน ต่อให้มีเงินทุนมากพอผมก็ยังแนะนำว่าทำควบคู่กับงานประจำไปก่อนดีที่สุด เพราะการเริ่มต้นธุรกิจมีความเสี่ยงสูง มีงานประจำไว้จะได้อุ่นใจ หากธุรกิจไม่เป็นไปดังหวัง

เมื่อตรวจสอบเงินทุนแล้ว หากคิดว่าไม่เพียงพอ ก็ต้องคิดต่อไปว่าจะไปหาเงินทุนเพิ่มได้จากที่ใด แต่ให้คิดในขนาดของธุรกิจที่เล็กที่สุดก่อนนะครับ ไม่ใช่คิดจะลงทุนแบบอลังการงานสร้างทั้งๆที่เงินไม่มีหรือเป็นเงินกู้ เพราะจะหมดตัวเสียก่อน ตัดธุรกิจที่กำลังเงินไม่เพียงพอที่จะทำได้อย่างแน่นอนออกไปก่อน


Man: เรื่องบุคลากร หรือ พนักงาน ควรดูว่าการเริ่มต้นธุรกิจสามารถเริ่มด้วยตัวคนเดียวหรือ ให้เฉพาะคนในครอบครัวช่วยได้หรือไม่ หากไม่ได้ ต้องจ้างคนเพิ่มกี่คน เงินเดือนเท่าไหร่ หากต้องจ่ายเงินเดือน 6-12 เดือน โดยยังไม่มีรายได้เข้ามามากพอ ธุรกิจจะอยู่ได้ไหม หากคำนวณดูแล้วว่าอยู่ไม่ได้ก็ตัดธุรกิจนั้นออกไปจากรายการ


Machine: เรื่องเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ก็ควรประเมินดูว่าจะต้องลงทุนด้านเครื่องจักร เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ประมาณเท่าใด หากมากกว่าเงินทุนที่มีก็ตัดออกไป


Material: เรื่องวัตถุดิบ ประเมินว่าจะหาวัตถุดิบมาผลิตได้ง่ายหรือยาก ต้องสำรองเงินทุนหมุนเวียนค่าซื้อวัตถุดิบมากแค่ไหนในแต่ละเดือน


Marketing: การลงทุนด้านการตลาด ก็เป็นงบลงทุนที่ต้องกันไว้ส่วนหนึ่งครับ ผมเห็นนักธุรกิจมือใหม่หลายๆราย ลงครบทุกอย่างแต่ไม่ได้สำรองเงินทุนไว้มากเพียงพอสำหรับการทำตลาด แล้วลูกค้าที่ไหนจะรู้จัก สุดท้ายก็นั่งตบยุงไปวันๆ ไม่เกินปีก็ต้องเลิกกิจการกันไป การสำรองเงินไว้สำหรับทำกิจกรรมทางการตลาดจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่เพิ่มเริ่มต้น ยังไม่มีใครรู้จัก การทำตลาดก็ต้องใช้เงินทุนสูงไปด้วย เมื่อลูกค้ารู้จักดีแล้วงบการตลาดจึงจะค่อยๆลดลง

ในกรณีตัวอย่างคุณสมหญิง เมื่อกันเงินสำรอง 6 เดือนแล้ว สมมติว่ามีเงินเก็บพร้อมลงทุนอยู่ประมาณ 2 ล้านบาท

พิจารณาดูแล้วว่าการเปิดโรงเรียนอนุบาลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเฉพาะแค่ค่าอาคารกับอุปกรณ์ก็เกิน 2 ล้านเข้าไปแล้ว อีกทั้งชอบดูแลลูกตนเองแต่ไม่ใช่ลูกของคนอื่นทุกๆคน จึงตัดทางเลือกนี้ออกไปก่อนได้เลย

คุณสมหญิง ได้คิดต่อมาเรื่องการเปิดสปา คิดดูแล้วมีบ้านเดี่ยวติดถนนใหญ่แห่งหนึ่ง เจ้าของให้เช่าในราคาเดือนละ 2 หมื่นบาท จ่ายค่าประกันการชำรุด 3 เดือน รวม 4 เดือน คือ 80,000 บาท ในครั้งแรก

สำรองค่าเช่าไว้ล่วงหน้าอีก 3 เดือนหลังจากเริ่มกิจการ คือ 60,000 บาท ค่าตกแต่งคาดว่าประมาณ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 640,000 บาท

เรื่องบุคลากรต้องใช้คนอย่างน้อย 3 คน ตนเองเป็นผู้จัดการ มีพนักงานนวดสปา 2 คน โดยสลับกันเป็นพนักงานต้อนรับไปด้วยในตัว

เงินเดือนคนละ 8,000 บาท x 3 คน = 24,000 บาท

สำรองเงินเดือน 6 เดือน = 144,000 บาท

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ คาดว่าจะมีเตียงนวด 3 เตียง เครื่องพ่นไอน้ำ 3 ตัว และอุปกรณ์อื่นๆ รวมแล้วประมาณ 50,000 บาท

วัตถุดิบ คือ ครีมนวดตัว สบู่ ลูกประคบ และอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 20,000 บาท ในการเริ่มต้น

เมื่อรวมเงินทั้งหมดแล้ว คาดว่าเบื้องต้นต้องใช้เงิน ดังนี้

บุคลากร = 144,000 บาท

อุปกรณ์ = 50,000 บาท

วัตถุดิบ = 20,000 บาท

ค่าเช่าเดือนแรกและค่าตกแต่ง= 640,000 บาท

ค่าการตลาด = 100,000 บาท

อื่นๆ = 100,000 บาท

รวมเงิน 1,054,000 บาท

ในเมื่อคุณสมหญิงมีเงินสำรองสำหรับลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 1 ล้านบาท อย่างนี้การเปิดสปานั้นพอมีทางเป็นไปได้ จึงเก็บทางเลือกนี้ไว้ก่อน

คุณสมหญิงก็คิดต่อเรื่อง ร้านเสริมสวย ซึ่งตนเองสามารถทำได้เองโดยอาจไปเรียนเพิ่มเติมในหลักสูตรระยะสั้น แล้วจ้างพนักงานมาช่วยงาน 1 คน ค่าใช้จ่ายอื่นๆรวมแล้วก็ถูกว่าการเปิดสปา จึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้อีกทางเลือกหนึ่ง

คิดเรื่องสุดท้ายคือ ธุรกิจขายตรง ซึ่งไม่ต้องใช้ทำเล เริ่มจากตัวคนเดียวไม่ต้องมีลูกจ้าง เครื่องมือก็ไม่มาก สินค้าหรือวัตถุดิบสามารถเริ่มจากสินค้าที่ซื้อใช้เอง การตลาดก็ใช้วิธีปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆก็มีแต่ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่าบัตรเข้างานประชุม แล้วก็ยังไม่ต้องนั่งเฝ้าร้าน หรือ สามารถทำควบคู่กับงานหลักได้ ว่าแล้วคุณสมหญิงก็บรรจุทางเลือกที่จะทำธุรกิจขายตรงไว้ในแผนด้วย

5. สำรวจตลาด กลั่นกรอง และคัดเลือก

เมื่อเลือกพิจารณาแล้วก็เห็นว่าน่าจะเหลือธุรกิจที่เป็นไปได้จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆแล้ว ก็มาถึงการกลั่นกรองขั้นสุดท้าย คือ สำรวจตลาดหรือวิจัยว่า ธุรกิจที่ตนเองเลือกไว้ไม่กี่รายการนั้น มีตัวใดที่มีตลาดรองรับอยู่อย่างแน่นอนที่สุด

ไม่ควรทำธุรกิจที่สำรวจตลาดแล้วไม่มีตลาดรองรับที่มากเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะชอบเป็นพิเศษก็ตาม เพราะ หากคุณชอบ แต่ไม่มีลูกค้าที่ชอบซื้อของคุณ คุณก็ไปไม่รอดในธุรกิจอยู่ดี เอาที่คุณชอบรองๆลงมา แต่มีลูกค้าแน่ๆดีกว่า

อย่าคิดว่าจะทำแต่เฉพาะธุรกิจที่ตนเองชอบที่สุดเท่านั้น เพราะในความเป็นธุรกิจนั้นมันมีความแตกต่างจากการทำงานอดิเรกมากมายนัก งานอดิเรกทำเล่นๆพอรู้สึกเหนื่อยก็หยุด อยากทำก็ทำ อยากพักก็พัก การลงทุนก็น้อย กำหนดเส้นตายสำหรับส่งของก็ไม่มี

แต่การที่จะทำธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเลือกที่ชอบอย่างไรก็ตาม คุณก็จะไม่ได้ทำเฉพาะส่วนที่ชอบเท่านั้น คุณยังจะต้องทำในส่วนที่ไม่ชอบด้วย เช่น การหาเงินทุนหมุนเวียน การคอยดูแลพนักงานไม่ให้อู้งาน การหาวัตถุดิบ การออกหาตลาดหาลูกค้า การผลิตให้ทันกำหนดส่ง มิฉะนั้นจะถูกปรับ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญและชี้เป็นชี้ตายในธุรกิจได้พอๆกัน แต่อย่างน้อยคุณก็ได้พบธุรกิจที่มีส่วนที่คุณชอบ แล้วส่วนนั้นก็เป็น Major key success factor หรือ ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จทางธุรกิจด้วย ก็ถือว่ามาถูกทางแล้วครับ

กลับมาที่ตัวอย่างของคุณสมหญิง หลังจากกลั่นกรองแล้วพบว่ามีธุรกิจที่เป็นไปได้สำหรับเธออยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ธุรกิจสปา ร้านเสริมสวย และ ธุรกิจขายตรง เธอจึงจัดการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะทำอะไรดี เพราะเงินทุน และ เวลาของเธอมีจำกัด เธอคงไม่สามารถเลือกทำทั้งสปา และร้านเสริมสวยได้

เธอเริ่มทำวิจัยตลาดง่ายๆด้วยการไปเที่ยวสอบถามคนที่อยู่บนถนนสายที่เธอจะเปิดร้าน และในเขตอำเภอของเธอ ว่า หากมีร้านสปา หรือ ร้านเสริมสวย มาเปิดบริเวณนี้คนเหล่านั้นจะมาใช้บริการหรือไม่ และ พร้อมที่จะจ่ายที่ราคาประมาณเท่าไหร่ หลังจากถามอยู่หลายสัปดาห์ ได้ความว่า หากเปิดร้านเสริมสวยไปใช้บริการแน่นอน มีแนวโน้มมากกว่าการมาใช้บริการสปา

เธอจึงไปค้นคว้าต่อที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโดยดูจากการวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัย ในเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจสปา พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของธุรกิจสปานั้นเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไม่ใช่คนไทย อีกทั้งนักท่องเที่ยวนั้นจะมีจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง ตามฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งในภาษาท่องเที่ยวเขาเรียกว่า High Season และ Low Season แม้ว่าในช่วง High จะมีลูกค้ามากจนอาจเต็มตลอดทั้งวัน แต่ช่วง Low นั้นก็จะมีลูกค้าน้อยมาก อีกทั้งเธอยังมีลูกเล็กอีก 2 คนต้องดูแล จะทำธุรกิจที่ยอดขายขึ้นๆลงๆมากเกินไปคงไม่เหมาะ สมหญิงจึงตัดสินใจว่าจะตัดธุรกิจสปาออกจากทางเลือกของเธอ เหลือเพียง “ธุรกิจเสริมสวย” ที่เธอคิดว่าน่าจะทำมาหากินได้กับคนไทยที่อยู่ตลอดแนวถนนที่เธอเปิดร้านและในพื้นที่อำเภอของเธอ และเธอก็มีความสุขกับการแต่งหน้าแต่งตาให้ตัวเอง และผู้อื่นอยู่แล้ว อีกทั้งยังจะเลือกเปิดร้านหลังจากส่งลูกไปโรงเรียน ตอนเย็นก็ยังสามารถแวะไปรับลูกได้

เหลืออีกหนึ่งธุรกิจ คือ “ธุรกิจขายตรง” สมหญิงถูกญาติชักชวนให้ลองศึกษาธุรกิจขายตรงรายใหญ่แห่งหนึ่งดู เนื่องจากเธอไม่ใช่คนที่ปิดกั้นตัวเองและไม่ด่วนสรุปในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ จึงยินดีไปศึกษา แล้วพบว่าบริษัทมีความเชื่อถือได้ เปิดมานาน สินค้ามีคุณภาพดี รับประกันความพอใจ ไม่พอใจสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ ไม่มีความเสี่ยง ธุรกิจนี้มีผู้คนทำประสบความสำเร็จมากมาย มีมูลค่าธุรกิจนับหมื่นล้านบาท แสดงว่ามีตลาดรองรับแน่นอน

แต่เธอก็ติดว่าจะต้องไปง้อคนหรือเปล่า กลัวว่าคนอื่นจะรำคาญ แล้วธุรกิจนี้อิ่มตัวหรือยัง แต่ก็คิดได้ว่าธุรกิจอื่นๆก็ต้องง้อลูกค้าทุกธุรกิจนั่นแหละ อีกทั้งธุรกิจขายตรงผู้มุ่งหวังที่มีอัธยาศัยแย่มากก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เราเลือกทำงานและบริการเฉพาะกับคนที่มีอัธยาศัยดีกับเราก็ได้ ไม่สร้างความรำคาญให้ใคร ใครสนใจก็เป็นลูกค้า ใครไม่สนใจก็ปล่อยเขาไป อีกทั้งยังมีเวลายืดหยุ่นในการทำงานแล้วแต่สะดวก จึงเหมาะกับคนที่มีงานประจำทำอยู่หรือมีธุรกิจอยู่แล้วอย่างสมหญิง

ส่วนเรื่องอิ่มตัวหรือยังพบว่าธุรกิจนี้มีคนสมัครแล้วแต่ไม่ได้จริงจังกับธุรกิจหรือเป็นเพียงลูกค้าซึ่งมีหมดอายุสมาชิกทุกวัน และมีคนที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าอีกมากมาย มองจากอัตราการเติบโตของธุรกิจก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องแสดงว่าตลาดยังมีอยู่อีกมาก การเริ่มต้นก็ใช้เงินทุนไม่มากนัก ความเสี่ยงจึงต่ำ และมีคนเต็มใจสอนให้เธอ ในขณะที่ธุรกิจอื่นหาคนสอนให้นั้นยากเต็มที ทำให้สมหญิงเข้าใจมากขึ้น

เธอจึงเลือกไว้เป็นหนึ่งทางเลือกสำรองไว้ อย่างน้อยหากธุรกิจหลักที่เธอเลือกไปได้ไม่ถึงฝันก็ยังมีธุรกิจที่สองรองรับ อีกทั้งทักษะในด้านการตลาดธุรกิจขายตรง ยังสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจหลักของเธอได้

สรุปสุดท้าย คุณสมหญิง จึงตัดสินใจเปิดร้านเสริมสวย และ ทำธุรกิจขายตรงควบคู่กันไปด้วย อย่างมุ่งมั่นตั้งใจและมีความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ คือ แต่งหน้า แต่งตัวสวยๆ พบปะ พูดคุยกับผู้คน มีโอกาสได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด โดยมีพนักงานช่วยดูแลร้านในเวลาที่คุณสมหญิงไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ธุรกิจขายตรงก็ใช้เวลาช่วงหัวค่ำ 1-2 ชั่วโมงไปพบลูกค้า เธอจัดให้วันพุธเป็นวันหยุดเพื่อที่เธอจะได้ไปฟิตเนสตอนบ่าย และตอนเย็นก็พาครอบครัวไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

คุณสมหญิง ได้พบธุรกิจที่ทำให้เธอมีความสุข สนุกกับการทำงาน อย่างที่เธอต้องการ และธุรกิจของเธอก็เติบโตไปได้ดี

ตัวอย่างของคุณสมหญิงที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้คุณเลือกตามอย่างคุณสมหญิงทุกคนนะครับ ผมเพียงแต่ต้องการจะยกตัวอย่างวิธีการเลือกธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีหลักการให้เห็นเป็นรูปธรรม


มาถึงตอนนี้ อาจมีคนสงสัยว่า แล้วถ้าใจรักแต่ไม่ชำนาญ ทำไม่เป็น จะนำมาจับคู่ได้ไหม เช่น บางคนชอบสังสรรค์ พูดคุย เรียกว่าวงสนทนาไม่เคยเงียบหากมีคุณอยู่ อีกทั้งผู้ฟังก็สนุกสนานไปกับเรื่องราวที่คุณพูด การศึกษาก็ดี จึงอยากเปิดสถาบันกวดวิชา แต่ไม่เคยพูดในที่สาธารณะกับคนจำนวนมากๆซักที

ขอแนะนำว่า อย่าคิดว่าทำไม่ได้ครับ ไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด ขอเพียงแต่คุณชอบงานด้านนี้ ก็ไปเรียนไปฝึกฝนเพิ่มเติม เรียนให้รู้ทักษะที่จำเป็นทุกด้านแม้จะไม่รู้มากก่อนแต่เชื่อมั่นว่าทำได้ แล้วก็ลุย

ผู้หญิงบางคนชอบให้คนอื่นแต่งหน้าเสริมสวยให้ หรือแต่งหน้าตัวเองเก่ง ใจชอบด้านนี้ แต่ยังไม่เคยแต่งให้คนอื่น จึงไม่มั่นใจว่าจะเปิดร้านเสริมสวยได้หรือไม่ ผมก็อยากแนะนำว่า ถ้ามันเป็นสิ่งที่คุณแน่ใจว่าคุณมีความสุข และมีตลาดรองรับ คุณก็เพียงแต่ไปเติมเต็มทักษะที่ขาดไปให้สมบูรณ์ขึ้นแค่นั้นเอง หาหลักสูตรของโรงเรียนสอนเสริมสวย แต่งหน้า ทำผม ดีๆสักแห่ง แล้วก็ไปตั้งใจเรียนอย่างมีความสุข จบมาก็มาทำธุรกิจที่ตนเองชอบ บางเรื่องยังทำไม่เป็นก็ขยันทำฝึกฝนบ่อยๆ เดี๋ยวก็เป็นเอง

จำไว้ครับ เริ่มจากสิ่งที่ตนเองรัก

แต่สำหรับบางคนเป็นไปไม่ได้เพราะต้องดูแลธุรกิจที่มีอยู่แล้วตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ หรือ เป็นผู้บริหารในธุรกิจของคนอื่นอยู่ก่อนแล้ว จะเลือกจากสิ่งที่ตนชอบก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ทีทางเลือก

ผมอยากจะแนะนำว่า “ก็ชอบสิ่งที่คุณเป็น”

หมายความว่าให้ลองมองหาดูซิว่าในธุรกิจที่คุณทำอยู่แล้วนั้น มีกิจกรรมใดบ้างในธุรกิจที่คุณชอบเป็นพิเศษจากหลายๆกิจกรรมที่มีอยู่ เช่น การขาย การตลาด การเงิน การจัดการ การผลิต คุณก็เพียงแต่ให้น้ำหนักไปยังกิจกรรมที่คุณมีความสุขมากเป็นพิเศษ แล้วทำงานส่วนนั้นให้ดีที่สุด งานส่วนอื่นๆก็หาคนที่มีความชำนาญมาดูแลแทน

ยกตัวอย่าง บริษัทไมโครซอร์ฟ คุณบิล เกตต์ เริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบคือการพัฒนาซอร์ฟแวร์ ทำไปนานวัน กิจการใหญ่โต ตนเองเป็นเจ้าของก็ต้องเป็นประธานกรรมการบริหาร ต้องไปทำงานบริหารมากกว่าการนั่งเขียนโปรแกรมพัฒนาซอร์ฟแวร์ ทำแล้วรู้สึกไม่มีความสุข อยากกลับไปหาสิ่งที่ชอบคือการพัฒนาโปรแกรม จึงวางมือด้านบริหารโดยหามืออาชีพด้านการบริหารมาทำงานแทน ส่วนตัวเองกลับไปทำงานพัฒนาโปรแกรมซึ่งเป็นงานที่ตัวเองชอบ ตัวเองก็รอรับรายงานจากผู้บริหารก็พอ ตนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่แล้ว ธุรกิจก็ไม่หายไปไหน มีแต่จะโตวันโตคืน เพราะทุกคนได้ทำในส่วนงานที่ตนเองมีความสุขนั่นเอง

อีกแนวคิดหนึ่ง คือ อยากให้คุณเริ่มมองกว้างออกไปกว่าเฉพาะธุรกิจที่ตนเองชอบเท่านั้นนะครับ ธุรกิจที่คุณมองด้วยวิสัยทัศน์อันแหลมคมว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตไกล แม้ไม่ชอบ ก็อย่าละเลยหรือมองข้ามครับ บางคนเคยทำแต่สิ่งที่ตนเองชอบๆแต่ไม่เคยรวยกับเขาซักที ก็ลองมาทำธุรกิจที่ตนเองอาจไม่ชอบในตอนแรกอาจทำให้คุณร่ำรวยขึ้นมาก็ได้นะครับ เพราะทำไปทำมาเกิดชอบขึ้นมาก็เห็นบ่อย เพราะตอนแรกพิจารณาเพียงผิวเผินแล้วไม่สนใน แต่ด้วยเห็นเป็นโอกาสดี พอศึกษาเจาะลึก ได้ลองทำจริงๆจังๆเกิดชอบมากจนถอนตัวไม่ขึ้นก็มี นักธุรกิจชั้นนำเขาจะพัฒนาไปถึงขั้นมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่จำเป็นต้องชอบมาก่อน แต่มีศักยภาพสูง แล้วเข้าไปเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ โดยอาจดูแลเฉพาะส่วนงานที่ตัวเองชอบ หามืออาชีพมาทำงานแทนในแต่ละส่วนงาน แล้วตนเองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่ำรวยสบายไป

ไม่ว่าคุณจะเลือกธุรกิจด้วยหลักการของความชอบเป็นหลัก หรือ ดูศักยภาพของธุรกิจเป็นหลักก็ตาม ผมยังอยากแนะนำว่า ให้เริ่มทำทีละ 1- 2 ธุรกิจพอ อย่าใจใหญ่ทำทุกอย่าง มิฉะนั้น อาจเจ๊งทุกอย่าง

คนเราส่วนใหญ่แล้ว ไม่สามารถทำทุกเรื่องในเวลาเดียวกันให้ดีได้ เนื่องจากทรัพยากรเงินทอง แรงงาน และเวลามีจำกัด จึงควรให้ความสนใจจดจ่อกับธุรกิจหลักเพียง 1 – 2 ธุรกิจก็พอ อย่าได้อยากทำทุกอย่างแล้วทำไม่ได้ดีซักอย่าง เพราะเวลาก็ถูกกระจาย พลังงานก็ถูกกระจาย สุดท้ายไม่เกิดผลดี เสียเวลา เสียพลังงานเปล่าๆ

การกระจายความเสี่ยงนั้นทำได้ครับ คือ ทำ 2 ธุรกิจควบคู่กันไป โดยทั้งสองธุรกิจควรเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมกันได้ในตัว หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นธุรกิจที่ขัดกันเอง

อย่าไปนึกเปรียบเทียบกับนักธุรกิจใหญ่ที่มีธุรกิจในเครือเป็นสิบเป็นร้อยบริษัท ทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบนะครับ เขาขยายสู่ธุรกิจอื่นๆตอนธุรกิจแรกเริ่มได้เติบใหญ่แล้ว มีเงินทุนมหาศาล มีคนเก่งในสังกัดมากมายจึงทำได้ แต่ในตอนเริ่มต้นทำธุรกิจทุกคนเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆเพียง 1 หรือ 2 อย่างแค่นั้นเองครับ

ตัวอย่างคุณสมหญิงข้างต้นที่เลือกทำธุรกิจร้านเสริมสวย กับธุรกิจขายตรง ก็เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมกันในตัว ร้านเสริมสวยทำให้รู้จักคนมากขึ้น ธุรกิจขายตรงบริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ก็มีเครื่องสำอางเป็นสินค้าหลักและมีกิจกรรมแต่งหน้าเสริมสวยด้วยเพียงแต่ห้ามวางขายหน้าร้าน แต่ต้องแนะนำแบบบุคคลต่อบุคคล เวลากลางวันก็เปิดร้านเสริมสวย เวลาหัวค่ำก็ไปหาลูกค้าถึงบ้าน ได้ทั้งตั้งรับ ทั้งรุก ส่งเสริมกันเองทั้งสองธุรกิจ อีกทั้งมีสินค้าอื่นๆนอกจากเครื่องสำอางให้ทำตลาดได้กว้างขึ้นไป เป็นต้น


วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธุรกิจหลากประเภท

ธุรกิจหลากประเภท


ธุรกิจการค้านั้นมีมากมายหลากหลายประเภท หากจะจำแนกออกตามลักษณะกว้างๆ ก็จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ธุรกิจที่ขายสินค้าเป็นหลัก คือธุรกิจที่มีสินค้าที่มีตัวตนจับต้องได้ ซื้อแล้วสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องรอบริการพิเศษใดๆเพิ่มเติมอีก เช่น อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ เป็นต้น
2. ธุรกิจที่ขายสินค้าร่วมกับบริการ มักอยู่ในรูปแบบของสินค้าที่ต้องมีบริการพ่วงอยู่ด้วย เช่น รถยนต์ ที่ต้องมีศูนย์บริการ คอมพิวเตอร์หรือ เครื่องจักรที่ขายพ่วงกับการรับประกัน หรือขายบริการซ่อมบำรุงรายปีต่างหากก็ตามแต่
3. ธุรกิจที่ขายบริการเป็นหลัก จะเป็นบริการที่ไม่มีสินค้าที่ลูกค้าจับต้องหิ้วกลับบ้านไปได้เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด อาจได้ไปแต่เพียงความประทับใจในบริการ หรือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น โรงแรม โรงพยาบาล สปา นวด เป็นต้น หรือ อาจจะมีตัวสินค้าอยู่ด้วยแต่ไม่ใช่ประเด็นหลักของบริการ เช่น บริการทางการแพทย์ ผู้ใช้บริการมาหาแพทย์ รับบริการตรวจรักษา ได้รับยากลับบ้าน แต่ยาไม่ใช่ตัวหลักของบริการทางการแพทย์ เพราะผู้ใช้บริการบางรายอาจไม่ได้รับยากลับไปก็ได้ หรือ มาพักโรงแรม แล้วได้รับการเสริฟผลไม้หรือเครื่องดื่มต้อนรับที่ห้องนอน ผลไม้หรือเครื่องดื่มไม่ใช่ตัวหลักของบริการ แต่ตัวหลักของบริการคือการพักผ่อน ความนุ่มสบาย สะอาด ของที่พัก

แต่ถ้าหากจะจำแนกจากประเภทของช่องทางจัดจำหน่ายก็จะแบ่งออกได้เป็น
1. ผู้ผลิต ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าทุกประเภท เช่นโรงงานผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
2. ผู้ค้าส่ง ได้แก่ ธุรกิจที่นำสินค้าจากผู้ผลิตไปจำหน่ายแบบจำนวนมากๆ ในลักษณะยกแพค ยกกล่อง ยกโหล ยกตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้าปลีก หรือลูกค้ารายใหญ่ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งจะมีโกดังสินค้าของตนเอง เล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ที่แน่ๆมักไม่ไปตั้งโกดังค้าส่งในห้างสรรพสินค้า เพราะค่าเช่าแพง
3. ผู้ค้าปลีก ได้แก่ ผู้ที่นำสินค้ามาแยกขายย่อยๆ เป็นรายชิ้นหรือขายคราวละหลายๆชิ้นก็มีบ้าง แต่ไม่ได้ขายยกกล่อง ยกโหล เป็นประจำ ส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านค้าปลีกริมถนน ในห้างสรรพสินค้า หรือ จำหน่ายตรงโดยผู้จำหน่าย

หากจำแนกตามประเภทของสินค้า ก็คือ
1. สินค้าทั่วไป คือ สินค้าที่ผู้บริโภคทั่วไปซื้อไปใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า อาหาร รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
2. สินค้าอุตสาหกรรม คือ สินค้าที่โดยปกติจะให้เฉพาะในอุตสาหรรม หรือ ใช้เฉพาะในวงการ ไม่ใช่ใช้กันทั่วไปตามบ้านเรือน ไม่ว่าจะเพื่อเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต สารเคมีอุตสาหกรรม เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องเอ็กซเรย์ เก้าอี้ทำฟัน เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ข้อดีของการประกอบธุรกิจ

ข้อดีของการประกอบธุรกิจ

หลายคนเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานต่างๆ เมื่อได้เรียนรู้ระยะหนึ่งก็ออกมาประกอบธุรกิจของตนเอง หลายคนถูกให้ออกจากงานประจำในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหางานใหม่ไม่ได้ หรือ เบื่อการเป็นลูกจ้างแล้ว ทำให้ต้องเริ่มทำธุรกิจของตนเอง
หลายคนเมื่อเรียนจบ ก็เริ่มประกอบธุรกิจเลย โดยบางคนอาจได้รับธุรกิจส่งทอดมาจากพ่อแม่ บางคนเริ่มธุรกิจใหม่ด้วยตนเอง ไม่ว่าท่านจะทำธุรกิจส่วนตัวด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผมอยากสนับสนุน และ เชื่อว่ารัฐบาลของทุกประเทศก็สนับสนุนการประกอบธุรกิจของประชาชนของตน เนื่องการการประกอบธุรกิจนั้น มีประโยชน์ในหลายๆเรื่อง ได้แก่

1. ได้เป็นเจ้านายตนเอง
การเป็นเจ้าของธุรกิจใดๆก็ตามคุณก็จะได้รับอิสระจากการขึ้นอยู่กับเจ้านาย เพราะคุณคือเจ้านายของตนเองและของคนในองค์กรของคุณ ธุรกิจของคุณจะไปได้ไกลเพียงใด ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองเป็นส่วนใหญ่ เรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องดีและไม่ดี มันจะเป็นเรื่องดี หากคุณเข้มงวดกับตนเอง มีระเบียบวินัย ขยัน อดทน ฉลาดใฝ่รู้ พัฒนาตนเอง ก็จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณประกอบธุรกิจด้วยนิสัยขี้เกียจ ไม่มีระเบียบวินัย ไม่เรียนรู้ ไม่พัฒนาตนเอง เพราะไม่มีเจ้านายมาบังคับ และท่านบังคับตนเองไม่ได้ ก็จะเป็นเหตุให้ธุรกิจของคุณไม่เติบโต หรือ จบสิ้นไปได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับ “ตัวคุณเอง”

2. ได้เป็นเจ้านายคนอื่น
ตลอดเวลาที่เป็นพนักงาน ท่านอาจเป็นลูกน้องของคนอื่น บางคนไม่เคยมีลูกน้องของตนเอง หรือ มีน้อยมาก เมื่อคุณประกอบธุรกิจของตนเอง คุณอาจจะต้องมีผู้ช่วย มีพนักงาน มีลูกน้อง ตามขนาดของธุรกิจที่เติบโตขึ้นไป เรื่องของ “ภาวะผู้นำ” จะมีความสำคัญมากในตอนนี้ ทีนี้คุณจะได้มีโอกาสเข้าในหัวอกเจ้านายบ้างแล้ว

3. ได้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้อื่น
การทำธุรกิจ คุณต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน ผู้ส่งวัตถุดิบ ผู้รับช่วงงานไปทำ พนักงานของคุณ ผู้รับสินค้าไปขาย พ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีก บุคคลเหล่านี้ก็จะต้องมีกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ เป็นการสร้างงานให้ขับเคลื่อนไปตามกลไกของธุรกิจ สร้างเงินหมุนเวียนให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ลดปัญหาการว่างงาน

4. สร้างรายได้ให้ตนเอง
หากคุณทำธุรกิจ กิจกรรมขายสินค้าหรือบริการออกไปก็มีรายได้เป็นตัวเงินตอบแทนเข้ามาตามกลไกของธุรกิจ คุณก็จะมีรายได้ แบบเจ้าของกิจการ ไม่ใช่ลูกจ้างอีกต้องไป ข้อดีคือ รายได้นี้อาจมากมายเสียจนทำให้คุณร่ำรวยได้ หากธุรกิจของคุณไปได้ดี แต่ในทางตรงกันข้าม รายได้อาจน้อยจนขาดทุน หากธุรกิจของคุณไปได้ไม่ดี

5. ทำให้เศรษฐกิจของชาติหมุนเวียนเคลื่อนไหว
การที่ธุรกิจมีการผลิตสินค้า บริการ มีการซื้อวัตถุดิบ ซื้อเครื่องจักร จ้างพนักงาน เช่าหน้าร้าน ขายสินค้าหรือบริการ ฯลฯ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุน เกิดการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ คนมีงานทำ รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้ มีเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆของรัฐพัฒนาสารธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ

เห็นไหมครับว่าการที่คุณประกอบธุรกิจอะไรสักอย่างที่ดี จะเป็นการสร้างประโยชน์มากมายแก่ทั้งตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ ผมจึงสนับสนุนให้ผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจให้ทำเถิด แต่ขอให้ทำให้ดี ทำอย่างผู้มีความรู้ ขยันขันแข็ง อดทน มีระเบียบวินัย