แนวคิดในการประกอบธุรกิจ แบบ CFCI
(Choose-Focus-Continuous-Improvement)
(Choose-Focus-Continuous-Improvement)
ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล
เนื้อหาในตอนนี้ผมต้องการเสนอแนวคิดในการประกอบธุรกิจแบบ CFCI ได้แก่
C : CHOOSE
การเลือกธุรกิจ สำหรับผู้ต้องการประกอบธุรกิจพึงระลึกไว้เสมอว่า เวลาในชีวิตของแต่ละคนนั้นมีจำกัด เงินทุนนั้นก็มีจำกัด ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนธุรกิจได้แบบไม่จำกัด ดังนั้น การเลือกธุรกิจที่ตนเองจะทำนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงอยากแนะนำการเลือกธุรกิจไว้โดยหลักต่อไปนี้
1. love ใจรัก
สิ่งที่ควรทำประกอบการเลือกคือ ให้เขียนกิจกรรมที่ใจท่านรักที่จะทำทั้งหมดออกมาเท่าที่มี เช่น ชอบสังคม หรือ ชอบอยู่คนเดียว ชอบทำงานศิลปะ ชอบเรียนรู้เทคโนโลยี ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสอน รักเด็ก ชอบตีก๊อฟ ชอบสังสรร ชอบทำอาหาร ชอบท่องเีที่ยว ฯลฯ เป็นต้น
จากนั้นก็ลำดับจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด เพื่อให้ความสำคัญกับการพิจารณากิจกรรมชอบมากที่สุดก่อน ที่ผมแนะนำอย่างนี้เนื่องจาก หากเป็นกิจกรรมที่ท่านชอบ ท่านจะทำอย่างมีความสุข แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นมันอาจจะยังไม่สามารถทำเงินทำทองให้ท่านได้มากนักก็ตาม แต่ด้วยความรักความชอบจะทำให้ท่านไม่หยุดทำ ทำอย่างต่อเนื่อง ทักษะฝีีมีก็จะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ จนถึงจุดหนึ่งที่ดีเพียงพอที่จะทำเป็นธุรกิจที่มีจุดเด่นแตกต่างจากผู้อื่นได้ จนนำไปสู่การทำเงินให้ท่านได้ในที่สุด
แต่หากท่านเริ่มต้นจากการทำธุรกิจตามอย่างผู้อื่นโดยไม่ชอบ อยากทำบ้าง ไม่อยากทำบ้าง (ส่วนใหญ่มักไม่อยากทำสิ่งที่ตนเองไม่รัก) ทำให้ขาดความใส่ใจ ขาดความประณีต ขาดการพัฒนาทักษะ เมื่อพบปัญหาก็ยิ่งรู้สึกเบื่อหน่ายไ่ม่อยากใส่ใจ ทำให้ธุรกิจไปไปรอดในที่สุด
หลังจากเลือกกิจกรรมที่ชอบมาก่อนแล้ว ต้องคิดต่อว่ากิจกรรมนั้นๆ สามารถกลายเป็นธุรกิจอะไรได้บ้าง เช่น
ชอบทำอาหาร = ธุรกิจร้านอาหาร, เขียนตำราทำอาหาร, เป็นนักโภชนาการ,เป็นนักชิมอาหาร
ชอบตีก๊อฟ = นักก๊อฟอาชีพ, โปรสอนก๊อฟ, ร้านขายอุปกรณ์ก๊อฟ, ทำสนามก๊อฟ
ชอบเลี้ยงเด็ก = สถานรับเลี้ยงเด็ก, โรงเรียนสอนพิเศษเด็ก, นักกิจกรรมสำหรับเด็ก, ค่ายเยาวชน
2. Potential ศักยภาพ
สิ่งที่ควรพิจารณาต่อมาคือ
- ศักยภาพส่วนตัวว่า มีศักยภาพทางสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ การเงิน เพียงพอที่จะทำธุรกิจที่เกิดจากกิจกรรมที่ชอบหรือไม่ หากยังไม่พอจะได้ไปศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนเพิ่มเติม หาผู้ร่วมหุ้น หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เป็นต้น บางธุรกิจท่านมีใจรักมาก แต่ต้องลงทุนสูง หากท่านไม่มีศักยภาพทางการเงินที่มากพอก็ทำไม่ได้ จำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจลง หรือ เลือกธุรกิจอื่นๆแทน
- ศักยภาพทางธุรกิจ ของธุรกิจที่เลือกก็สำคัญ โดยต้องพิจารณาว่า สิ่งที่เลือกนั้น มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพราะหากเป็นไปได้น้อย หรือ มีการแข่งขันสูง จะได้เลือกธุรกิจอื่นๆแทน แม้อาจจะชอบน้อยกว่า แต่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง ก็น่าทำมากกว่า
3. Ability ความสามารถ
ในที่นี้หมายถึงความสามารถของตนเอง ของหุ้นส่วนธุรกิจ และ ทีมงาน การแปลงศักยภาพที่มีอยู่ให้ออกมาเป็นความสามารถในทางปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ท่านอาจมีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้สูง ท่านก็ต้องแปลงศักยภาพให้เป็นความสามารถในการชงกาแฟแบบต่างๆ ในธุรกิจกาแฟ หรือ แปลงเป็นความสามารถในการสอน หากเป็นโรงเรียนกวดวิชา เป็นต้น
4. Study การศึกษาเรียนรู้
ถึงแม้ว่าท่านจะมีความสามารถเพียงพอที่จะเริ่มต้นธุรกิจที่ท่านเลือกได้ ท่านก็ยังต้องไปเรียนรู้เรื่องราวของธุรกิจนั้นๆอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เทคนิคเฉพาะ การตกแต่ง กลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง และ จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง และของคู่แข่ง เป็นต้น
5. Rick ความเสี่ยง
ในการประกอบธุรกิจ ย่อมมีความเสี่ยง จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ มีคำกล่าวกันเสนอในวงการธุรกิจว่า "High Risk...High Return" หรือ "ความเสี่ยงสูง...ผลตอบแทนก็สูง" และแน่นอนว่า หากผิดพลาด "ความสูญเสีย ความเสียหาย" ก็สูงเช่นเดียวกัน
F : FOCUS
การจดจ่อ ใส่ใจ กับธุรกิจที่ได้เลือกไว้อย่างรอบคอบในข้อ Choose แล้ว ก็ต้องได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษในทุกรายละเอียดของการทำงาน
ผมเคยพบนักธุรกิจหลายราย ที่เมื่อเริ่มต้นธุรกิจก็อยากรีบสุขสบาย โดยการไม่ใส่ใจดูแลร้าน ปล่อยให้พนักงานดูกันเอง แน่นอนเปิดได้ไม่นานก็ขาดทุนมากมายจนต้องปิดไปในที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าของกิจการไม่ใส่ใจในการดูแลธุรกิจของตนเองนั่นเอง
ในการทำธุรกิจ เจ้าของกิจการต้องใส่ใจดูแลธุรกิจด้วยตนเองก่อน ไม่มีใครจะรักธุรกิจของคุณเท่าคุณเอง การใส่ใจนั้นประกอบด้วย
1. Plan การวางแผนธุรกิจ
ธุรกิจจำเป็นต้องมีการวางแผนธุรกิจ อันประกอบด้วย แผนการเงิน การจัดการภายใน การตลาด การบริหารบุคลากร ฯลฯ นักธุรกิจต้องมีการเขียนแผนธุรกิจออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ในการเป็นภาพชัดเจน และ สื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจได้
2. Implement ดำิเนินการ
การนำแผนธูรกิจที่ได้เขียนไว้ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่่องที่ยากขึ้นไปอีก เพราะท่านจะพบกับปัญหาอุปสรรค์ต่างๆที่อาจคาดไม่ถึงมากก่อน นักธุรกิจหลายคนยอมแพ้และออกจากธุรกิจไปในขั้นตอนนี้มากมาย เพราะดำเนินการไม่สำเร็จ ก็หมดเงินทุน หรือ หมดกำลังใจไปเสียก่อน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมแนะนำให้เลือกทำธุรกิจที่ใจรักก่อน เพราะท่านจะทนได้นานกว่า
3. Evaluate ประเมินผล
นักธุรกิจจำเป็นต้องมีการประเมินผลของการดำเนินการตามแผน ว่าเข้าเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ มีอะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุง หรือ เปลี่ยนแปลงบ้าง
การประเมินผลเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้สามารถแก้ไขได้ทันเวลา หากการดำเนินการมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือเริ่มออกนอกทางที่วางไว้
4. Adjust ปรับปรุง
เมื่อประเมินผลดูแล้วว่าอะไรไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือ มีปัญหาอะไรบ้าง ก็ต้องทำการปรับปรุงแก้ไข แล้วดำเนินการต่อ เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ เจ้าธุรกิจจึงเป็นเสมือนผู้ถือพวงมาลัยรถยนต์ ทำหน้าที่บังคับให้รถยนต์ไปตามเส้นทาง โดยไม่ชนสิ่งกีดขวาง หากเริ่มเขวออกนอกเส้นทางก็ต้องรีบบังคับกลับมาให้อยู่ในลู่ในทาง
C : CONTINUOUS
ความต่อเนื่องในการทำงาน เป็นอีกประเด็นที่สำคัญมาก นักธุรกิจหลายคนพอเริ่มทำธุรกิจไปสักพักใหญ่ๆก็เริ่มเบื่อหน่ายกิจกรรมประจำวันทางธุรกิจ เริ่มหันเหความสนใจไปสู่เรื่องอื่นๆแทน เหมือนกับการขับรถใจลอย ทำให้หลงทาง หรือเกิดอุบัติเหตุได้
นักธุรกิจที่ขาดความต่อเนื่องในการดูแลกิจกรรมทางธุรกิจก็เช่นเดียวกัน มักจะทำให้ธุรกิจที่ทำเริ่มเกิดปัญหาตามมาโดยเฉพาะปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่พอนานวันเข้า ก็เกิดความเสียหายใหญ่ได้ เสมือนกับการพบรูสนิมเล็กๆบนผิวโลหะ หากไม่สนใจ มันก็จะกินลุกลามไปลึกและกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว
การกำกับดูแลธุรกิจก็เช่นกัน ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนระบบเข้าที่เข้าทาง มีบุคลากรที่สามารถเข้าใจและดูแลแทนได้เหมือนกับเจ้าของกิจการแล้ว เจ้าของจึงจะพักได้บ้าง แต่ก็ยังต้องดูผลประกอบการเป็นระยะๆอยู่อย่างต่อเนื่อง หากผลประกอบการเริ่มผิดปกติ ก็ต้องกลับไปดูรายละเอียดให้ใกล้ชิดขึ้น
ความต่อเนื่องที่ผมว่านั้นหมายความรวมถึง
- Everyday ทุกๆวัน
ท่านควรต้องกำกับดูแลธุรกิจเป็นประจำทุกๆวัน เพื่อติดตามดูว่าในวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง และ ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง อะไรที่ไปได้ดีแล้วบ้าง
- Step by Step ทีละขั้นทีละตอน
ความต่อเนื่องนั้นควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น อย่าเป็นไปแบบกระทันหันเกินไป เพราะอาจมีปัญหาในการปรับตัวของพนักงาน หรือ หุ้นส่วนธุรกิจได้ อีกทั้งต้องไม่ทำๆหยุดๆ หรือ ตื่นเต้นก็ทำต่อเนื่องอยู่พักใหญ่ พอหายตื่นเต้นก็หยุดซะงั้น หากเป็นแบบนี้ ธุรกิจของท่านก็จะโตๆหยุดๆ เช่นกัน
I : IMPROVEMENT
พัฒนาให้ดีขึ้น ในทุกๆทาง เพราะธุรกิจต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ คุณภาพสินค้า และบริการ ความรู้ของบุคลากร การประสานงานภายใน การติดต่อกับลูกค้า เทคโนโลยีที่ใช้ เป็นต้น
หากธุรกิจได้รับการพัฒนาเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะทำให้คู่แข่งตามท่านไม่ทัน ท่านก็จะได้ส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น มีกำไรเพิ่มขึ้น และ ธุรกิจอยู่ได้อย่างยาวนาน
บางธุรกิจที่เริ่มต้นมีคู่แข่งน้อยราย มักทำให้เจ้าของกิจการชล่าใจไม่ค่อยใส่ใจพัฒนาธุรกิจ เพราะคิดว่าเท่าที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ไม่มีใครแข่งได้ ครั้นพอเวลาผ่านไป ยุคสมัยเปลี่ยนไป มีคู่แข่งเกิดขึ้นโดยคู่แข่งทำได้ดีกว่า ในราคาที่สมเหตุสมผลกว่า ธุรกิจเดิมที่ขาดการพัฒนาก็จะถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเรื่อยๆ จนต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ธุรกิจร้านค้าปลีกยุคเก่า เมื่อถูกร้าค้าปลีกแบบแฟรนไชน์ มาแข่งก็ทำให้ร้านขายของชำยุคเก่าต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
การพัฒนา มีหลักการที่สำคัญ คือ
1. Better ทำให้ดีขึ้นกว่าเิดิม หมายความว่า การพัฒนาต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่เหมือนเดิมแต่เปลี่ยนหน้าตา เปลี่ยนเพียงผิวเผิน การเปลี่ยนควรมีนัยสำคัญเพียงพอที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจได้ จึงจะดี
2. Study More มีการศึกษาเพิ่มเติม เจ้าของธุรกิจควรที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมในความรู้ที่อาจมาช่วยสนับสนุนธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ให้ได้รับการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจ หรือ เชิงปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. See More การดูงานเพิ่มเติม คือ การรู้จักเดินทางไปต่างถิ่นเพื่่อดูกิจการประเภทเดียวกัน คล้ายกัน หรือเกี่ยวเนื่องกัน ของผู้อื่นเป็นระยะๆ เพื่อได้เรียนรู้จากของจริงว่าผู้อื่นทำอย่างไร เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจของตนเอง จะได้ไม่ต้องลองผิดลองถูกเองมากจนเกินไป
จากแนวคิด CFCI ที่กล่าวมาข้างต้น คงพอเป็นแนวทางให้นักธุรกิจหลายท่านได้ใช้ประกอบการพิจารณาเลือกธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไป