วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

CSR (Corporate Social Responsibility) จิตสำนึกแห่งคุณธรรม

ในยุคปัจจุบันนี้ การประกอบธุรกิจ ต้องมีการคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม และ สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น หาไม่แล้วธุรกิจก็จะไม่ยั่งยืน เช่น หากธุรกิจไปก่อตั้งในพื้นที่โดยไม่สนใจคนในพื้นที่ อาจทำให้ถูกต่อต้าน เกิดอุปสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ หากธุรกิจไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก่อปัญหามลภาวะ ก็จะถูกต่อต้านทั้งคนในพื้นที่ และ กฎหมาย


ถึงแม้ธุรกิจหลายธุรกิจที่ไม่สร้างปัญหาให้สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่เพียงพอในยุคปัจจุบัน เพราะสิ่งแวดล้อมโดยรวมแย่ลงทุกวันจากการประกอบการตามปกติ สังคมมีปัญหาจากการแก่งแย่งโดยธรรมชาติ ธุรกิจที่ดีจึงควรช่วยพัฒนาสัมคม และ สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย จึงจะเรียกได้ว่า ธุรกิจที่มีคุณธรรม

คำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อม” นั้น ต้องใช้งบประมาณ ต้องใช้บุคลากร ต้องใช้เวลา แต่ผลตอบแทนอาจไม่ชัดเจนและอาจไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขกำไรขาดทุนได้ จึงทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจไม่ให้ความสนใจ และ หลายคนมองไปว่าต้องรอให้ธุรกิจตั้งตัวได้มีกำไรงาม แล้วค่อยมาสนใจสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งความคิดดังกล่าวนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้ว ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น คนที่จะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ก็เริ่มแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการใช้หม้อต้มที่ไม่ได้เชื่อมด้วยตะกั่ว เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับสารตะกั่วจากการกินก๋วยเตี๋ยว อีกทั้งยังไม่ใช้ถั่วลิสงที่เก็บค้างไว้นานหลายวัน เพราะจะมีเชื้อราอัลฟาทอกซิน ก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้ เป็นต้น สำนึกในคุณธรรม พื้นฐานนี้เองที่ก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในเบื้องต้น

มีร้านอาหารแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ชื่อร้าน “รสทิพย์” อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ เจ้าของร้านเป็นคนมีคุณธรรม ชอบเข้าวัดทำบุญเป็นประจำ เมื่อมาประกอบธุรกิจร้านอาหาร ท่านก็ใช้ความดีมาทำธุรกิจ โดยอาหารทุกชนิดในร้านจะไม่ใส่ผงชูรส เพราะเจ้าของร้านเชื่อว่า ผงชูรส อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค อีกทั้งหากมีฝีมือทำอาหารจริง ไม่ต้องใส่ผงชูรสก็สามารถปรุงให้อร่อยได้ โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สด สะอาด และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เท่าที่ผมได้กิน อาหารทุกรายการที่สั่งมีรสชาติอร่อยมาก จนผมติดใจกลายเป็นลูกค้าประจำ แวะมาทาน สั่งซื้อไปทานที่บ้าน เป็นประจำ อีกทั้งผมยังบอกต่อกับคนใกล้ชิด ถึงคุณภาพและความอร่อยของอาหารที่ร้านนี้อยู่เสมอ

การใส่ในต่อผู้บริโภคอย่างยิ่งนี้เอง ที่ก่อให้เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นจากผู้บริโภค และเกิดลูกค้าประจำ อีกทั้งลูกค้าประจำยังช่วยบอกต่อ หาลูกค้ารายใหม่มาให้โดยไม่คิดค่าคอมมิชชั่นอีกด้วย ธุรกิจก็จะยั่งยืนอันเกิดจากสำนึกด้านคุณธรรม ที่เจ้าของร้านมีต่อลูกค้านี่เอง

ผมยังมีโอกาสรู้จักธุรกิจเล็กๆที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ก็คือ บริษัทรับซักผ้าจากโรงพยาบาล เจ้าของกิจการได้ตั้งบริการรับซักผ้าที่ส่งมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งกิจการก็ตั้งอยู่เชิงเขา ห่างไกลตัวเมือง หากจะไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม น้ำทิ้งที่เกิดจากการซักผ้า ก็สามารถปล่อยทิ้งสู่ที่รกร้าง หรือ ตามป่าเขาได้ โดยไม่ต้องบำบัดอะไรมากนัก แต่ที่นี่กลับลงทุนเพิ่มในการสร้างระบบบำบัดน้ำทิ้งจากการซักผ้า ผ่านขั้นตอนทุกอย่างตามมาตรฐาน จนน้ำสุดท้ายสะอาดเพียงพอที่ จะเลี้ยงปลาได้ จึงปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปเห็นด้วยตาตนเอง จึงรู้สึกได้ถึงความตั้งใจอันดีงามของเจ้าของกิจการ

ตัวอย่างเล็กๆข้างต้นคงจะพอทำให้ทุกท่านเข้าใจได้ถึงคำที่ชาวต่างชาติบัญญัติศัพท์ขึ้นอย่างสวยหรู ว่า “CSR: Corporate Social Responsibility” แล้วเราก็พึ่งจะตื่นเต้นรับเอาแนวคิดนี้มาทำกันใหญ่ บางแห่งทำกันเพียงเพื่อได้ชื่อว่าทำ คือ ทำเพียง 1-2 โครงการแล้วเลิก ขาดความต่อเนื่อง บางแห่ง ลงทุนด้าน CSR ไม่กี่แสนบาท แต่เอางบนับล้านบาทไปลงโฆษณาตัวเองว่าช่วยสังคมสิ่งแวดล้อมแล้วนะทุกท่านโปรดทราบ เพื่อหวังได้หน้าได้ตาหวังผลทางการตลาดเป็นหลัก แต่ก็เอาเถอะ ไม่ว่าจะทำด้วยเหตุผลข้อใด ก็ขอให้เริ่มต้นทำก็แล้วกัน ยังดีกว่า อีกหลายกิจการที่ไม่คิดแม้แต่จะทำ จึงขอชื่นชมยินดีในทุกความพยายามเพื่อให้สังคม และ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ไม่ว่าชาวต่างชาติจะบัญญัติศัพท์ว่าอะไรก็ตาม ผมก็ขอเรียกว่า “จิตสำนึกแห่งคุณธรรม” ที่หากทุกคนมี สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการดูแลอย่างแน่นอน จากทุกคน ด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะทำเพื่อความสบายใจ ทำเพื่อให้ได้บุญ ทำเพื่อให้อยู่สบายในสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือ จะทำเพื่ออะไร อะไร ก็ตาม ขอให้ช่วยกันทำเถะครับ เพราะ อานิสงแห่งความดีจะตกแก่ผู้ทำ คนใกล้ชิด สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างแน่นอน และเมื่อทุกๆคนช่วยกัน ประเทศชาติ และ โลกใบนี้ ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ขอยกย่องทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกธุรกิจ ที่มี “จิตสำนึกแห่งคุณธรรม”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น