วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

การผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล

      การผลิตสินค้า เป็นเรื่องสำคัญมากในกระบวนการธุรกิจ หากสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพดี ถูกใจผู้บริโภค ก็จะมีการซื้อซ้ำ และบอกต่อ อันจะทำให้มีการสั่งผลิตเพิ่มขึ้น ขยายไปเรื่อยๆจนร่ำรวยไปตามๆกัน

แต่การผลิตนั้น ไม่ใช่หวังเพียงให้ได้สินค้าสุดท้ายออกมาเท่านั้น เพราะหากผลิตได้ แต่ มีของเสียต้องคัดทิ้งเต็มไปหมด หรือ ผลิตล่าช้าไม่ทันความต้องการของลูกค้า ก็จะส่งผลต่อต้นทุน และ การสูญเสียโอกาสในการขายไปได้ แต่ถ้าผลิตไว้มากเกินไปจนขายไม่ทัน ก็จะกลายเป็นต้นทุนจม เป็นภาระเก็บรักษา ของหมดอายุ หรือ ดูเก่าลงจนไม่น่าซื้อ เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการผลิตจึงมีส่วนสำคัญ ในบทนี้ จะขอกล่าวถึงการผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพในบางขั้นตอนที่มีความสำคัญ ดังนี้


วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน

วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในการเป็นส่วนตั้งต้นของการผลิตหรือการประกอบ สำคัญมาก หากได้วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ที่ไม่ดี มีปัญหา ก็จะส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อๆมา จนถึงตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จ

ในการผลิตที่ดีนั้น จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกตั้งแต่ผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ให้แก่กิจการ โดยจะมีการไปตรวจสอบถึงแหล่งของวัตถุดิบว่า มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอย่างไร มีการแปรรูปเบื้องต้นอย่างไร มีคุณภาพได้มาตรฐานดีหรือไม่ ส่วนตัวโรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ก็จะต้องถูกประเมินก่อนว่าน่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีมาตรฐานเพียงไร อีกทั้งยังหาผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนสำรองไว้ เผื่อกรณีที่เจ้าแรกมีปัญหา ก็มีเจ้าที่สองสำรองไว้ ทำให้การผลิตของเราไม่ได้รับความกระทบมากนัก

เมื่อวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ส่งมาถึง ก็ควรที่จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสิ่งที่ส่งมาตามหลักสถิติอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ของเสียหลุดลอดเข้าสู่กระบวนการผลิตเกินกว่าค่าต่ำสุดที่ยอมรับได้ มิฉะนั้น จะทำให้เสียเวลา เสียของ ในกระบวนการผลิตโดยไม่จำเป็น ในเรื่องนี้ หากเป็นกรณีโรงงานญี่ปุ่นหลายแห่ง หากเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสำคัญและต้องใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว เขาอาจส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่โรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และ สุ่มตรวจก่อนทำการส่งมาเลย เรียกว่า ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง หากไม่ได้มาตรฐานก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายส่งมาให้ตั้งแต่แรก

ในการผลิตมีศัพท์ที่เรียกว่า Just in Time หมายถึง การกำหนดเวลาให้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนให้ส่งมาถึงโรงงานอย่างทันท่วงทีที่ต้องการใช้งาน โดยไม่ต้องนำเก็บเข้าสต๊อกก่อน เพราะการเก็บสต๊อกก็มีต้นทุนเรื่องสถานที่ และค่าดูแล หากมีการกำหนดเวลาและประสานงานกันให้ดี ต้นทุนส่วนนี้ก็จะลดลง



ชิ้นส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตหรือการประกอบ (Work In Process)

ในการผลิตสินค้าออกมา ทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดี เรียกว่า Lean Manufacturing หรือ การผลิตที่ไหลลื่น มีการไหลเวียนของชิ้นงานอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดหรือสะดุดกองกันอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นคอขวด เรื่องนี้ควรต้องมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Time and Work Study หรือ การจับเวลาที่ใช้ในการผลิตในแต่ละขั้นตอน แล้วจัดกำลังคนหรือเครื่องจักรให้เหมาะสมอันจะทำให้งานไหลไปได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนจบ เพราะงานที่กองกันอยู่ในกระบวนการผลิตก็ถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งด้วย



การตรวจสอบในกระบวนการผลิต

ในกระบวนการผลิต ชิ้นส่วนที่เสร็จในแต่ละขั้นตอน จะต้องถูกสุ่มตรวจสอบตามหลักสถิติ เพื่อให้ของเสียถูกระบุและจำแนกออกไปซ่อมแซม หรือ คัดออก ก่อนส่งไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากขั้นตอนนี้บกพร่องอาจทำให้เกิดการผลิตหรือประกอบของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกว่าจะรู้ก็กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปไปแล้ว เสียทั้งเวลา เงินทอง แรงงาน ฯลฯ จึงขอแนะนำให้เจ้าของกิจการยอมลงทุนในการจ้างคน หรือ ซื้อเครื่องมือตรวจสอบในขั้นตอนระหว่างการผลิตนี้ให้เพียงพอด้วยเช่นกัน



สินค้าสำเร็จรูป


เมื่อผ่านการผลิตทุกขั้นตอนสู่การเป็นสินค้าสำเร็จรูป การตรวจสอบขั้นสุดท้าย คือ การตรวจสอบสภาพทั่วไปด้วยสายตา (Visual Inspection) การทดสอบการทำงานตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น (Function Inspection) หากเป็นอาหารก็ต้องดูที่สีสรร รสชาติ ความสะอาด เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบความทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า เจ้าของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาว่าสินค้าเสียหาย ชำรุด ก่อนเวลาอันควร ทั้งๆที่ใช้ได้ไม่นาน ทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ อีกทั้งหากมีการรับประกันสินค้า อาจมีสินค้าส่งมาเครมประกันกันมากจนทำให้กิจการขาดทุนก็เป็นได้ ยิ่งหากเป็นอาหาร หากมีการบูดเน่า หรือ ขึ้นราก่อนกำหนดเวลาทั้งๆที่ยังอยู่ในบรรจุภัณฑ์ อาจทำให้ผู้บริโภคท้องร่วง อาเจียน เกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย ทำให้กิจการเสียชื่อเสียงกันไป

ดังนั้น สินค้าจึงต้องมีการทำการทดสอบความทนทาน หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ต้องทดสอบความคงทนต่อความแปรปรวนของระดับแรงดันไฟฟ้า ทดสอบการทำงานในอุณหภูมิที่สูง หรือ ต่ำกว่าภาวะปกติ เพราะในเวลาอุณหภูมิสูง หรือ ต่ำ เช่นในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว เครื่องอาจหยุดทำงาน หรือทำงานผิดปกติ รวมทั้งทดสอบต่อการเปิดปิด การกดปุ่มต่างๆว่ากี่ครั้งจึงจะทำให้ปุ่มกดชำรุดจนใช้งานไม่ได้ และนานมากพอที่จะอยู่ตลอดอายุใช้งานตามปกติหรือไม่

หากเป็นอาหารก็ต้องทดสอบว่าหากเก็บในที่ร้อน อยู่ได้กี่วัน ที่เย็นอยู่ได้กี่วัน ที่ชื้นอยู่ได้กี่วัน ที่แห้งแล้งเก็บได้กี่วัน เป็นต้น แล้ว อยู่อย่างปกติได้นานพอตามอายุที่ระบุไว้หรือไม่


บรรจุภัณฑ์

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า มีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นตัวดึงดูดสินค้าให้น่าซื้อหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวถนอมสินค้าข้างในไม่ให้สกปรกหรือ ชำรุด ก่อนการใช้งานอีกด้วย ขอแนะนำว่า ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ตัวอักษรชัดเจน อ่านง่าย ใช้วัสดุที่เหมาะสม มีความทนทาน ยอมลงทุนหน่อยครับ เพราะหากสินค้าเก่า หรือ ชำรุด ก่อนแกะใช้ ก็จะนำความเสียหายมาสู่ธุรกิจได้

การทนต่อความชื้นหรือการเปียกน้ำฝนก็สำคัญนะครับ หากมีน้ำกระเด็นถูกภาชนะบรรจุ ทำให้ตัวอักษรที่พิมพ์อยู่ละลายน้ำหรือไม่ หรือ ภาชนะบรรจุ มีการยุบตัวเสียรูปหรือไม่ สินค้าทนความชื้นได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกกันน้ำอีกชั้นหนึ่งเป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรลืมในการทดสอบบรรจุภัณฑ์ คือ การทนแรงกดซ้อนทับกัน หรือ การเบียดเสียดกัน เพราะในการขนส่ง พนักงานอาจมีการโยนกล่อง หรือ วางซ้อนทับกันหลายชั้น ทำให้กล่องยุบ สินค้าหลุดจากกล่องบรรจุหรือแตกหักเสียหาย ทั้งนี้รวมถึงการทดสอบการตกกระแทกพื้นจากที่สูงระดับปกติของการขนส่ง เช่น 2-4 เมตร เป็นต้น เพราะหากมีการตกกระแทก หากของในกล่องจะชำรุดหากหลุดมือ ก็ต้องมีการกำหนดการใส่วัสดุกันกระแทกเพิ่มเติม และติดป้ายเตือนบนกล่องเป็นต้น

1 ความคิดเห็น: