วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน

(โดย ศศิ คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.))



วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) และวิธีต้นทุน (Cost Approach) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการที่กำหนดไว้ ตามแนวทางและวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดขึ้นโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในบางกรณีมูลค่าที่ได้จากวิธีทั้งสองกลับสามารถลดข้อโต้แย้ง และใช้ในการเจรจาตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินได้เหมาะสมกว่าวิธีรายได้

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach)

โดยหลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด หรือตามมูลค่าตลาดนี้จะอาศัยข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดของทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกัน เป็นการกำหนดเปรียบเทียบว่าราคาตลาดของทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งถือเป็นวิธีการหลักสำหรับการประเมินราคาทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้ แต่ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้นี้ วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้หรือไม่มีการใช้กันเลยในการประเมินทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย จนทำให้ในบางครั้งเกิดความเข้าใจว่าไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวกับการประเมินราคาทรัพย์สินทางปัญญาได้

สำหรับประเทศไทยก็อาจถือได้ว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการหาราคาตลาด ข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดในการอ้างอิงเปรียบเทียบนั้น มีจำนวนน้อยรายหรืออาจเรียกได้ว่าไม่สามารถหาข้อมูลได้เลย และข้อมูลการซื้อขายหรือการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันก็มักจะไม่มีการเปิดเผย รวมถึงข้อมูลอ้างอิงทางอ้อมก็ยังไม่มีสามารถอ้างอิงได้

แต่ในข้อเท็จจริงแล้วสำหรับในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการทำธุรกิจอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา ราคาตลาดที่ปรากฏของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถหาฐานราคาอ้างอิงในการประเมินมูลค่าได้ในตลาดหลักทรัพย์ และมักจะเป็นราคาที่ปรากฏในตลาดต่อรอง OTC (Over the Counter) เช่น ตลาด NASDAQ

หุ้นของธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาด NASDAQ นี้เป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี หรือประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยส่วนใหญ่ ซึ่งอาจคำนวณจากอัตรา P/E Ratio (Price per Earning Ratio) ของธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะแบบเดียวกันหรือเทียบเคียงกัน เพื่อคำนวณหามูลค่าของธุรกิจ (Business Value) ซึ่งก็จะสามารถหามูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจในลักษณะเชิงเปรียบเทียบได้

วิธีการกำหนดมูลค่าในรูปของมูลค่าของธุรกิจแบบดังกล่าวนี้ มักถูกนำมาใช้จากนักลงทุนหรือกองทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสนใจในธุรกิจด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย โดยเสนอวงเงินต่อผู้ประกอบการในการเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะของหุ้นส่วน (Partnership) หรือการร่วมทุน (Joint Venture)

จากการขาดความเข้าใจถึงวิธีการหรือที่มาในการกำหนดมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการประเมินตามราคาตลาดในลักษณะนี้ ทำให้ในบางครั้งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่า มูลค่าการเข้าหุ้นหรือการร่วมทุนที่ต่างชาติเสนอนี้ มีที่มาจากวิธีการใดและเป็นธรรมกับตนเองหรือไม่

เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลตลาดของทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีจำนวนข้อมูลมากเพียงพอที่จะใช้อ้างอิงได้เหมือนกับข้อมูลในตลาดต่างประเทศ แต่ในอนาคตเมื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการดำเนินการแพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นและเติบโตจนสามารถดำเนินการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาด MAI หรือ SET ก็จะทำให้มีข้อมูลเพียงพอ ที่จะใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาตลาดในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาได้เช่นเดียวกันกับวิธีประเมินแบบอื่น

วิธีต้นทุน (Cost Approach)

หลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบตามวิธีต้นทุนนี้ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการประเมินราคาตามมูลค่าทดแทนสุทธิ (The Depreciated Replacement Cost Basis of Valuation) สำหรับการประเมินทรัพย์สินประเภทที่จับต้องได้ (Tangible Asset) เช่น อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับต้นทุนของสิ่งปลูกสร้าง หรือต้นทุนค่าก่อสร้างว่าต้องใช้ต้นทุนทั้งหมดเท่าใดจึงจะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งจะประกอบด้วยการประเมินหรือการคิดมูลค่าของต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ต้นทุนค่าแรงงานในการผลิต ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิต และอาจรวมผลกำไรจากการดำเนินการ จนได้ทรัพย์สินที่แล้วเสร็จสมบูรณ์

ในขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทจับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) นั้นก็สามารถประยุกต์ใช้ในหลักการเดียวกัน เพียงแต่ต้นทุนวัตถุดิบหลักและต้นทุนแรงงานการผลิตจะรวมเข้าอยู่ด้วยกัน คือต้นทุนของสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ของผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือมาจากบุคลากรในทีมผู้ประดิษฐ์หรือผู้พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น แม้ว่าอาจจะมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นที่จับต้องได้รวมอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คอมพิวเตอร์ Software ต่างๆ อยู่ด้วยก็ตามโดยหลักการทั่วไปในกรณีที่ต้องการประเมินทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีต้นทุนจะมีต้นทุนหลัก 2 ส่วนคือต้นทุนค่าแรงหรือค่าความคิดและต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น

เพื่อให้เห็นภาพในแนวทางการคิดโดยวิธีการดังกล่าว สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนซึ่งได้พัฒนาขึ้นแล้วเสร็จโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ด้วยตนเองเพียงผู้เดียว เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการดังกล่าวใช้วิธีต้นทุนในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนชิ้นนี้ จะมีรายละเอียดที่ปรากฏในการกำหนดต้นทุนต่างๆในลักษณะตัวอย่างการคำนวณดังนี้คือ

ต้นทุนค่าความคิดหรือค่าแรง

จะเป็นการคิดตามอัตราค่าจ้าง ค่าแรงงาน ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยการคิดค่าแรงจะคิดจากจำนวนบุคลากร x อัตราค่าแรงงานที่กำหนด x จำนวนเวลาที่ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สมมติว่าผู้ประกอบการคิดค่าแรงหรือค่าความคิดของตนในอัตรา 100,000 บาทต่อเดือน เวลาทำงานเฉลี่ย 25 วันต่อเดือน โดยเวลาทำงานเฉลี่ยแต่ละวันเท่ากับ 8 ชั่วโมง

ดังนั้นอัตราค่าแรงงานที่ใช้ต่อชั่วโมงของผู้ประกอบการรายนี้จึงเท่ากับ 100,000 / 25 / 8 หรือเท่ากับ 500 บาทต่อชั่วโมง โดยจากเริ่มต้นจนพัฒนาแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 2 ปี เท่ากับ 4,800 ชั่วโมง และพัฒนาด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียวไม่มีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

(การคิดในเรื่องจำนวนเวลาจะคิดเป็นเดือนหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ แต่การคิดเป็นค่าแรงงานต่อชั่วโมงหรือเป็น Man/Hour จะง่ายและชัดเจนกว่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา มักจะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเหมือนงานประจำ รวมถึงในกรณีมีผู้อื่นเข้ามาพัฒนาหรือมีการจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการพัฒนาต่อก็จะสามารถคิดต้นทุนได้ง่ายกว่า รวมถึงสามารถแบ่งมูลค่างานออกตามจำนวนชั่วโมงที่บุคคลนั้นรับผิดชอบได้)

ดังนั้นค่าแรงงานหรือค่าความคิดของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงมีมูลค่าเท่ากับ 4,800 x 500 เท่ากับ 2,400,000 บาท

ต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนา

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถแยกออกได้เป็นหลายส่วน เช่น ต้นทุนค่าสถานที่ในการพัฒนา ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง ต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาเหล่านี้ควรแยกออกให้ละเอียดที่สุดเท่าที่เป็นได้ ตัวอย่างเช่น

• ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่

สมมติว่าใช้สถานที่ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตนในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร โดยประมาณการว่าค่าเช่าพื้นที่ดังกล่าวมีราคาค่าเช่าประมาณ 100 บาท/ตารางเมตรต่อเดือน (แม้ว่าจะใช้พื้นที่บ้านของตนในการพัฒนาก็ตาม เพราะถือว่าในข้อท็จจริงแล้วถ้าผู้ประกอบการไม่มีพื้นที่อยู่เดิม ก็มีความจำเป็นต้องไปเช่าพื้นที่ภายนอกในการดำเนินการ) เป็นเวลา 2 ปี ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่จึงเท่ากับ 2 x 50 x 100 x 12 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา

สมมติว่าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ราคา 30,000 บาท พร้อม Application Software คือ Microsoft Office ราคา 12,000 บาท AutoCAD ราคา 300,000 บาท พรินเตอร์ Laser Color 1 เครื่อง ราคา 18,000 บาท โดยมีใบเสร็จรับเงินการซื้ออุปกรณ์ และ Software ทั้งหมดครบถ้วน โดยคิดว่าเครื่องมือและ Software ในการพัฒนาดังกล่าวมีอายุ 3 ปี และถือว่าเครื่องมือทั้งหมดนี้มีมูลค่าซากเท่ากับ 0 ดังนั้นต้นทุนของเครื่องมือในการพัฒนานี้เท่ากับ (30,000 + 12,000 + 300,000 + 18,000) x 2/3 เท่ากับ 240,000 บาท (การคำนวณใช้เพียง 2 ปีจากอายุเต็มการใช้งาน 3 ปี เนื่องจากถือเป็นต้นทุนเฉพาะที่นำมาใช้เฉพาะกับทรัพย์สินทางปัญญานี้เท่านั้น)

• ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา

สมมติว่าได้มีการลงทุนซื้อเครื่องมือด้านโลหะสำหรับการพัฒนาต้นแบบ พร้อมกับวัตถุดิบโลหะและวัตถุดิบเกี่ยวข้องต่างๆทั้งหมด โดยมีใบเสร็จรับเงินของอุปกรณ์หรือวัตถุดิบตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ เท่ากับ 500,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนาเท่ากับ 500,000 บาท

• ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ โทรสาร โดยเฉลี่ยทั้ง 2 ปี ในส่วนของการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เท่ากับ 2 x 12 x 10,000 เท่ากับ 240,000 บาท

• ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการชำระเงินค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆที่เกิดขึ้นและได้เก็บใบเสร็จรับเงินไว้ครบถ้วน อันได้แก่ ค่าเครื่องเขียน แบบพิมพ์ หมึกพิมพ์ เป็นต้น เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้นต้นทุนวัสดุสิ้นเปลืองเท่ากับ 2 x 12 x 5,000 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนดำเนินการต่างๆ ระหว่างการพัฒนา

สมมติว่าในระหว่างการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ายานพาหนะ ค่าดำเนินการติดต่อ หรือค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยผู้ประกอบการประมาณการว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเกิดขึ้น เท่ากับ 1,500 บาท ต่อเดือน ดังนั้นต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา เท่ากับ 2 x 12 x 1,500 บาท เท่ากับ 36,000 บาท

• ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ

โดยผู้ประกอบการตั้งใจจะนำทรัพย์สินทางปัญญญาของตนมาดำเนินธุรกิจ จึงได้นำทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และได้ดำเนินการติดต่อที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่ปรึกษา ทนายความ เพื่อจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดตั้งบริษัท จัดทำแผนธุรกิจ โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามเอกสารสัญญา ประมาณ 100,000 บาท ดังนั้นต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจจากทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงเท่ากับ 100,000 บาท

ดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ จึงมีผลลัพธ์ในมูลค่าตามวิธีต้นทุนจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เท่ากับ 2,400,000 + 120,000 + 240,000 + 500,000 + 240,000 + 120,000 + 36,000 + 100,000 เท่ากับ 3,756,000 บาท หรือประมาณ 3,800,000 บาท

จากราคาประเมินดังกล่าวหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน อาจจะยอมรับมูลค่าในทุกๆรายการหรืออาจเพียงบางรายการก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าผู้ประกอบการมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือก็มักจะไม่เกิดข้อโต้แย้งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการได้จ่ายไปแล้วจริงและมีหลักฐานอ้างอิงที่ยอมรับได้

ตามที่กล่าวมาในตอนที่แล้วว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพอใจ เกี่ยวกับมูลค่าราคาทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากวิธีต้นทุน เพราะมีความแตกต่างของมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าที่คิดตามวิธีรายได้มาก เช่น ตามวิธีต้นทุนมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาอาจอยู่ระดับ 3-4 ล้านบาท แต่มูลค่าตามวิธีรายได้อาจอยู่ถึงหลายสิบล้านบาทหรือหลักร้อยล้านบาท อันเนื่องจากประมาณการรายได้ที่สูงเกินไป

ในขณะที่กำหนดอัตราคิดลดกระแสเงินสด (Discount Rate) ที่ต่ำจนเกินไป ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาตามวิธีรายได้มีมูลค่าสูงจนอาจถึงสูงเกินจริง ทำให้ผู้ประกอบการมักจะขอเลือกใช้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของตนจากวิธีรายได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการลงทุนไปจริงในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้นก็อยู่ที่ 3-4 ล้านบาท หรืออาจจะน้อยกว่าจากมูลค่าตามที่คำนวณตามวิธีต้นทุนเสียอีก

และวีธีต้นทุนดังกล่าวนี้จะเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือง่ายต่อการตีมูลค่าเป็นทุนของธุรกิจ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแท้จริงของธุรกิจอันได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญานั้น ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น เอกสารใบเสร็จรับเงิน เอกสารสัญญา เอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะทำให้มีความน่าเชื่อถือในที่มาของต้นทุนที่กำหนดได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในส่วนที่ขาดก็ยังอาจสามารถเปรียบเทียบจากข้อมูลหรือแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายได้โดยง่าย ยกเว้นส่วนของค่าแรงหรือค่าความคิด ซึ่งบางครั้งพบว่าผู้ประกอบการบางรายกำหนดขึ้นจนเกินจริงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ เช่น บอกว่าอัตราค่าแรงจากค่าความคิดของตนเท่ากับเดือนละ 500,000 บาท หรือบอกว่าตนเองพัฒนามาแล้วเป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี จึงขอคิดค่าแรงเดือนละ 500,000 บาทนี้ เป็นเวลา 10 ปี หรือเท่ากับ 60 ล้านบาท ทำให้ยากที่จะเป็นที่ยอมรับได้ต่อบุคคลภายนอก

เกี่ยวกับประมาณการหรือสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วค่าแรงหรือค่าความคิดควรใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างในตลาด รวมถึงเวลาในการพัฒนาที่ยอมรับโดยทั่วไปที่ใช้ จะอยู่ไม่เกินประมาณ 3 ปี แต่ก็อาจอนุโลมได้ถึง 5 ปี ถ้าทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อน แต่ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นที่น่าเชื่อถือด้วย

จะเห็นได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีต้นทุน จึงเหมาะสมกว่าการกำหนดมูลค่าด้วยวิธีรายได้ เพราะสะดวกต่อการบันทึกบัญชีเป็นทุนของธุรกิจในส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เนื่องจากสามารถสอบย้อนข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนที่จ่ายไป และถ้าผู้ประกอบการหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการเก็บหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของมูลค่าหรือต้นทุนการได้มา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตของธุรกิจสามารถลงนามรับรองงบการเงินของธุรกิจ ในเรื่องของการนำมาใช้เพื่อเป็นทุนของธุรกิจ และยังขจัดข้อโต้แย้งระหว่างตัวผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตามควรมีการใช้ราคาประเมินตามวิธีรายได้ประกอบการพิจารณาด้วย เพราะส่งผลในการพิจารณาให้ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (Premium) หรือการพิจารณาในการเพิ่มข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ในกรณีที่มีประมาณการรายได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตามวิธีรายได้ เช่น ในเรื่องของมูลค่าหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน หรือการเพิ่มวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน ถ้าทรัพย์สินนั้นสามารถสร้างรายได้ตามประมาณการที่กำหนด โดยผู้ประกอบการอาจขอให้มีการพิจารณาในการสนับสนุนหรือมีการประเมินราคาทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นรายปี เพื่อพิจารณาว่ามูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนนั้นในแต่ละปีมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด

แต่มิใช่เป็นการยืนยันตั้งแต่เริ่มต้นของผู้ประกอบการที่จะต้องให้ใช้ราคาประเมินตามวิธีรายได้ที่กำหนดตั้งแต่แรกป็นหลักสำคัญ ในการกำหนดวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหนือสถาบันการเงิน เพราะประมาณการดังกล่าวก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คาดเดาเอา จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจไม่เป็นไปไปตามที่คาดหวังและเป็นความเสี่ยงสำคัญของทางหน่วยงานหรือสถาบันการเงินในการพิจารณา จนทำให้เกิดปัญหาในการสนับสนุนทางการเงินจากทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากับการทำธุรกิจ จะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ว่าควรมีการดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา และสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจเป็นนักเขียน

ความรู้ที่น่าสนใจ นำมาฝากผู้อ่าน Blog
(ขอขอบคุณข้อมูลความรู้จาก  บรรณาธิการ สำนักพิมพ์แจ่มใส)

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจเป็นนักเขียน

สาเหตุหลัก ที่ทำให้คนอยากเป็นนักเขียน ก็คือ "อ่านมาก" คนเราพอได้อ่านหนังสือไปมากๆ ก็มักอยากระบายออกมา บ้าง บางคนกลายเป็นนักพูด (นักพูดที่ดีมักเป็นนักอ่านตัวยงด้วยแทบทั้งสิ้น) เพราะชอบพูด ในขณะที่บางคนจะรู้สึกคันไม้ คันมืออยากจะเขียนมากกว่า ผมว่ามันก็มีส่วนคล้ายกับสัญชาติญาณการสืบพันธุ์ของคนเรากลายๆ แต่มันคือสัญชาตญาณ ของการสืบทอดทางภูมิปัญญา จิตวิญญาณ อารมณ์ วัฒนธรรม และวิทยาการของมนุษย์นั่นเอง อาการนี้ก็เป็นกันมาตั้งแต่ โบราณ ถือเป็นสิ่งปกติของปัญญาชน แรงขับดันอันนี้จึงก่อให้เกิดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และการถ่ายทอดทางภูมิปัญญา สืบสานต่อเนื่องเรื่อยมาจวบจนปัจจุบันนี้


งานเขียน ถือเป็นศิลปะอันล้ำลึกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ผู้เขียนอยากจะสื่อสารแก่ผู้อ่าน บางคนถนัดที่จะใช้วิธีบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา (พวกตำราวิชาการจะใช้วิธีนี้แทบทั้งหมด) บางคนชอบใช้การอุปมา อุปไมย โดยใช้บุคคลหรือสัญญลักษณ์ บางคนใช้คำบอกเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ในขณะที่บางคนชอบใช้ สำนวนที่แปลกออกไปหรือบอกเล่าอย่างคลุมเครือแทน ทว่าสิ่งที่แสดงออกในงานเขียนของแต่ละคน มักสะท้อนถึงความรู้สึก นึกคิด นิสัยใจคอ ตลอดถึงความเชื่อและทัศนคติ ของผู้เขียนเรื่องนั้นๆ ได้ว่าเป็นคนลักษณะเช่นใด

ปัจจุบันนี้ คนไทยนิยมการอ่านหนังสือกันมากขึ้น ทำให้ตลาดของธุรกิจหนังสือในบ้านเราโตขึ้นทุกปี ทั้งกลุ่มของหนังสือ วิชาการและหนังสือวรรณกรรม ท่านที่เคยไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะเห็นว่ามีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมามากมายราวกับ ดอกเห็ดหน้าฝนเลยนะครับ มีตัวเลขเฉลี่ยว่าในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยของเรามีผู้ผลิตหนังสือออกสู่ท้องตลาด ประมาณวันละ 20 ปก หากเราคิดเสียว่าพิมพ์กันปกละ 500 เล่ม ก็จะมีหนังสือเกิดขึ้นวันละ 10,000 เล่ม คงจะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เลย แต่สัดส่วนของสำนักพิมพ์และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ คือได้รับการยอมรับจากตลาดนักอ่านมีอยู่ไม่ถึง 20 % นั่น หมายความว่าสำนักพิมพ์ที่ก่อตั้งขึ้น 100 แห่ง จะรอดปากเหยี่ยว ปากกามาได้ราว 10 กว่าแห่งเท่านั้นเอง ผมขอข้ามเรื่องของ ธุรกิจสำนักพิมพ์ไปก่อน โดยจะขอพูดถึงแต่เฉพาะมุมของ "นักเขียน" เท่านั้น

"นักเขียน" คือ ปัจจัยสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าสำนักพิมพ์จะอยู่รอดหรือไม่ ดังนั้นทุกสำนักพิมพ์จึงให้ความสำคัญกับนัก เขียนมาก หากเขาไม่มั่นใจเต็มร้อยกับผลงานของคุณ เขาคงไม่กล้าเสี่ยงแน่ นอกจากคุณจะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเขา แต่สำนักพิมพ์ประเภทที่ว่านี้มักไปไม่รอด กล่าวคือเจ้าของสำนักพิมพ์ก็เป็นนักเขียนเอง และเพื่อนฝูงที่สนิทสนมก็อยากเป็น นักเขียนกันแทบทั้งนั้น พอหาเงินทุนได้ก้อนหนึ่งก็นำมาเปิดเป็นสำนักพิมพ์ แล้ววาดฝันว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างล้น หลามจากวงการหนังสือ พอเปิดตัวเข้าจริง กลับไม่เป็นไปตามที่คิด เงินทุนก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวเองไปในที่สุด ในวงการหนังสือจะมีสำนักพิมพ์ประเภทนี้เกิดขึ้นและดับไปอยู่แทบจะตลอดเวลา คล้ายกับนักลงทุนกลุ่ม "แมงเม่า" ใน ตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ปาน สิ่งเหล่านี้ยืนยันให้เห็นถึงมนตร์ขลังของ "หนังสือ" ได้ว่าเปี่ยมด้วยเสน่ห์เพียงใด

อุปสรรคของการเป็นนักเขียนให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

1. ความเชื่อมั่นในตัวเอง

คนจำนวนไม่น้อยที่มีพรสวรรค์ด้านการเขียนมาแต่กำเนิด แต่ไม่ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนเต็มตัวเสียที สาเหตุมาจาก "ความอาย" ไม่กล้าเอางานที่ตัวเองเขียนไปเสนอตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้ายเลยต้องแจกให้เพื่อนอ่านเล่นเท่านั้น ลอง ถามตัวเองว่า "กลัวอะไร" กลัวเขาจะปฏิเสธเหรอ หรือกลัวเสียฟอร์ม ถ้ายังไม่เคยลองดูเลยสักครั้ง ก็ไม่น่าปล่อยให้ความวิตก กังวลมาเป็นอุปสรรคจนต้องล้มเลิกความตั้งใจเลยนะครับ ลองดูเถอะ นึกเสียว่าซื้อล็อตเตอรี่ก็แล้วกัน เผื่อจะมีโชคกับเขาบ้าง ว่าแต่คุณเชื่อมั่นในผลงานของตัวเองหรือยังว่ามันดีพอ ถ้าคิดว่ายังก็รีบปรับปรุงต้นฉบับเสียใหม่ให้ดียิ่งขึ้น พอจะบอกตัวเอง ได้ไหมว่า "คุณคือนักเขียนที่มีความสามารถสูง" ถ้าตัวคุณเองยังไม่เชื่อเลยว่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ แล้วจะให้แมวที่ไหนมา เชื่อเล่าครับ มีสุภาษิตจีนเขาบอกว่า "หมื่นลี้ ก็ต้องมีก้าวแรก" ตราบใดที่คุณยังไม่กล้าที่จะก้าวเท้าออกมาเป็นก้าวแรก การ เดินทางหมื่นลี้ก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้หรอกครับ

2. ความตั้งใจจริง

หลายคนที่เคยเสนองานให้สำนักพิมพ์พิจารณาสัก 1-2 แห่ง เมื่อเขาไม่สนใจผลงานของตน ก็เป็นอันพับความฝันเสีย แล้ว แสดงว่าเขาไม่เชื่อคำพูดที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น" งานเขียนเป็นงานที่แสดงถึงความตั้งใจ จริงของผู้เขียนได้ดี ว่ามีความพิถีพิถันต่อคุณภาพของงานของตนเองเพียงใด ผมเคยอ่านนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง ต้นเรื่องพระเอก เขามีชื่อหนึ่ง สมมติว่าชื่อ "สุรชัย" ก็แล้วกัน แต่พอมาถึงกลางเรื่องเขากลายเป็น "สุรพล" ผมก็งงว่านายสุรพลนี่คือใคร ตัว ละครใหม่เหรอ ครั้นพอมาถึงท้ายเรื่องเจ้าหมอนี่กลับมาชื่อ "สุรชัย" อีกครั้ง แสดงให้เห็นว่างานชิ้นนี้ "สุกเอา เผากิน" ขนาดหนักเลยทีเดียว อย่าลืมนะครับ อย่าให้ความล้มเหลวชั่วขณะ มาบั่นทอนสมาธิและความมุ่งมั่นในการทำงานของคุณได้ เชื่อเถอะครับว่า "ความสำเร็จรออยู่ สำหรับทุกคนที่ทำงานด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น และไม่ย่อท้อ" หากคิดจะทำงานเพียงเพื่อเงิน ทองและชื่อเสียง คุณจะเหมือนดอกไม้ไฟ ที่เปล่งประกายได้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่จะดับวูบไปตลอดกาล

3. การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

แม้แต่นักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังต้องเจออุปสรรคข้อนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่ายิ่งดังก็ยิ่งกดดันว่ายังงั้นเถอะ ลองนึกถึง หัวอกของ J.K. Rowling ผู้เขียนเรื่อง Harry Potter ดูเถอะครับ ว่าเธอต้องแบกรับความคาดหวังจากแฟนทั่วโลก ที่เฝ้ารอ คอยตอนใหม่ของ Harry Potter อยู่อย่างใจจดใจจ่อ ถ้าผลงานของเธอลดลงไปจากที่เคยสร้างไว้ เธอถูกแฟนๆ สับเละเป็นโจ๊ก โดนระเบิดแน่ แม้ว่าคุณจะเพียงเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ที่อาจจะไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับผลงานของคุณมากนักก็ตาม แต่คุณก็ยังจำเป็นต้องสร้างเสริมนิสัยในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเอาไว้ด้วย เพราะนี่คือลักษณะของผู้เป็นมืออาชีพของ ทุกวงการ ในการที่จะรักษาความสำเร็จที่ได้รับให้คงไว้ และพัฒนาสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงยิ่งขึ้นต่อไปอีก

ทำอย่างไรจึงจะได้งานเขียนที่มีคุณภาพ

1. ศึกษาและสังเกต

นักเขียนที่ดีต้องอ่านให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะในแนวที่คุณสนใจอยากจะเขียน หากคุณตั้งเป้าอยากเป็นนักเขียน เรื่องสยองขวัญ เพราะชอบอ่านเรื่องของ "ใบหนาด" แต่คุณไม่เคยอ่านเรื่องของ Stephen King บ้างเลย เรื่องที่คุณเขียน ออกมา ก็จะมีกลิ่นอายของคุณลุง "ใบหนาด" มาอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย เพราะคุณได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของท่าน มาเต็มๆ อ่านเยอะยังไม่พอ ต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า จุดเด่นของนักเขียนผู้นี้เป็นอย่างไร เมื่อตั้งข้อสังเกตบ่อยๆ แล้วคุณจะ พบว่าฝีมือในการเขียนของคุณจะพัฒนาไปได้เรื่อยๆ เพราะคุณก็จะเริ่มตั้งข้อสังเกตกับผลงานของคุณเองด้วยเช่นกัน

2. ฝึกฝนและทดลอง

ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่หรอกครับ การฝึกฝนจะทำให้เราเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการทดลอง จะนำมาซึ่งความแปลกใหม่ในผลงานของเรา โดยเฉพาะนักเขียนที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว บางคนไม่กล้าขยับตัวออกไปจาก กรอบความคิดของผลงานเดิมๆ ที่เคยทำไว้ กลัวพลาด อย่างนี้เขาเรียกว่า "ตัน" เหมือนเวลาเราเข้าซอยตัน ก็ต้องหันหลัง เดินกลับทางเก่าที่เคยผ่านมา นักเขียนหลายคนที่ไม่ยอม "ตัน" ทางความคิด เขาไม่ยอมจำเจ หรือจมอยู่กับความสำเร็จ เดิมๆ เป็นอันขาด ระหว่างที่นักเขียนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยชื่อเสียงเดิม กับผลงานที่ย่ำอยู่กับที่ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้อ่านจะไล่ลง จากเวที คุณเล่าครับจะเลือกเดินแบบไหนดี

3. ค้นหาตัวเองให้พบ

ในงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี จิตรกรรม ฯลฯ รวมถึงงานด้านการประพันธ์ด้วย สิ่งหนึ่งที่เหล่าศิลปิน เขาถือนักถือหนาคือ "การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง" หากใครที่ยังไม่สามารถสร้างแนวทางเฉพาะตนขึ้นมาได้ เขายังถือ เสมือนเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ เพราะยังต้องเที่ยวเลียนแบบรูปแบบงานของคนอื่นอยู่เรื่อยไป ทักษะและประสบการณ์ ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาเป็นรูปแบบของตนเองได้ ใครก็ตามที่ได้ "ศึกษาและสังเกต" รวมไปถึง "ฝึกฝนและทดลอง" มาอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะค้นพบรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ในที่สุด สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์สูงแล้ว กลิ่นอาย และสำนวนของผลงาน สามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเป็นใคร โดยแทบไม่ต้องดูชื่อผู้เขียนเลยด้วยซ้ำ

4. เปิดใจรับคำวิจารณ์

การเปิดเผยผลงานออกสู่สาธารณะ ควรต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะจะมีคนวิจารณ์อยู่เสมอ บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่า ห่วย ลองเปิดใจกว้างๆ แล้วรับฟังเหตุผลของเขาดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคำตำหนิที่มีเหตุมีผล เราก็ควรถือเอาคำตำหนิ เหล่านี้มาเป็นครูของเรา แต่ถ้าเป็นคำตำหนิที่ไม่เป็นจริงตามที่เขาพูด เราก็ปล่อยมันลอยลมไป ก็เท่านั้นเอง อย่าถือตัว ตนว่าเราเก่งแล้ว ไม่ต้องการคำแนะนำจากใครอีกแล้ว มิเช่นนั้นในไม่ช้าไม่นานเราก็จะกลายสภาพเป็น "กบที่อยู่ใน กะลาครอบ" ไปเท่านั้นเอง

5. พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง

ในโลกของการทำงานนั้น ไม่มีคำว่า "ดีที่สุด" หรือ "เก่งที่สุด" สิ่งที่ว่าดีแล้ว ย่อมทำให้ดีกว่าเดิมได้อยู่เสมอ คนที่ว่า เก่งแล้ว ก็ต้องมีคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า "ผมเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยหยุดเดิน หรือเดินถอยหลัง" นอก จากพรสวรรค์แล้ว คนที่รู้จักหาพรแสวงใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะเดินก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าจะเร็วหรือช้า นั้น นั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง งานเขียนหนังสือก็ควรมีการพัฒนารูปแบบของการเขียนอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เราจะ สังเกตเห็นว่านักเขียนชั้นนำที่สามารถรักษาชื่อเสียงได้อย่างยาวนาน มักจะผลิตงานเขียนได้อย่างคงเส้นคงวา และมี รูปแบบแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์อรรถรสให้แก่ผู้อ่านอยู่เสมอ

6. อดทน

บางทีความสำเร็จมันแวะไปเที่ยวอยู่กับคนอื่น ต้องรออีกหน่อยมันถึงจะมีเวลาแวะมาเยี่ยมเราบ้าง โดยเฉพาะงานรูป แบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับใคร มักจะโดนด่าเละก่อนเป็นธรรมดา คิดเสียว่าเขายังไม่คุ้นก็แล้วกัน อย่าเพิ่งท้อถอย อย่าเพิ่ง ล้มเลิก ทำมันต่อไปเถิด หากเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้ววันหนึ่งคนอื่นเขาก็จะเข้าใจเอง ลองย้อนมองดูนักเขียน ชั้นนำ ทั้งของไทยและต่างประเทศเถอะครับ มีใครบ้างที่ประสบความสำเร็จได้โดยทันที โดยไม่ต้องเรียนรู้คำว่า "อดทน"

ทำอย่างไรงานเขียนของคุณจึงได้รับการยอมรับจากสำนักพิมพ์

1. รู้เขา รู้เรา

อันดับแรกคุณต้องรู้จักตัวคุณเองอย่างดีพอเสียก่อน ไม่ใช่เขาถามว่า "ถนัดเขียนแนวไหน" แล้วคุณตอบเขาไปว่า "ถนัดทุกแนว" เป็นอันจบเห่ ไม่มีใครเชื่อหรอกครับว่าคุณจะมีอัจฉริยภาพถึงขนาดนั้น ระบุออกมาให้ละเอียดที่สุดเลย ว่าเรื่องของคุณเป็นแนวไหน เช่น "แนวคอมพิวเตอร์" มันก็ยังเป็นคำตอบที่กว้างมากเกินไป ควรระบุให้ชัดเจนไปเลย เช่น "การใช้งาน CAD/CAM ในวงการอุตสาหกรรม" นอกจากจะรู้ข้อมูลของตนเองแล้ว คุณยังควรทราบข้อมูลของสำนัก พิมพ์ที่คุณสนใจจะไปเสนองานเขาด้วยว่า เขามีนโยบายในการตีพิมพ์งานประเภทใดบ้าง หากคุณทะเร่อทะร่าเอางาน เขียน "การเขียนโปรแกรมภาษาซี" ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ธรรมสภา ซึ่งเขาพิมพ์แต่หนังสือธรรมะ หรือเอานิยาย "ผัว ดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" ไปเสนอกับบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น ไม่ว่างานเขียนของคุณจะเลิศเลอเพียงใด มันก็ต้องลงไปอยู่ ในตะกร้าขยะของบรรณาธิการอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนเสนองานกับใคร คุณควรรู้จักกับเขาบ้างพอสมควร

สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใสนั้น แนวหนังสือที่เรารับพิจารณา คือ "อ่านสนุก ปลุกกำลังใจ ให้ความรู้" ซึ่งฟังดูกว้างมาก เหลือเกิน ถ้าคุณไม่แน่ใจก็อีเมล์หรือโทรศัพท์มาคุยกันก่อนได้ ไม่ต้องเกรงใจเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยี บันเทิง ท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ถ้ากรณีอย่างนิยาย "ผัวดิฉันและเมียน้อยทั้งเจ็ด" นี่เราไม่รับ ทั้งที่ผู้ เขียนอาจแย้งได้ว่า "มันอ่านสนุกนะ" แต่บังเอิญเราไม่รู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียน เกี่ยวกับนิยายฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี งามของสังคมทำนองนี้ หรือตำราวิชาการ "การผ่าตัดหัวใจเทียมด้วยเทคนิคใหม่ล่าสุด" อันนี้ถือเป็นการ "ให้ความรู้" ก็จริง แต่เราคงรับไม่ได้ เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั่วประเทศไทยมีไม่ถึง 20 คน เป็นต้น

2. รู้จักสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงาน

ก่อนเริ่มงานเขียน คุณควรสำรวจท้องตลาดเสียก่อนว่า แนวที่คุณกำลังสนใจจะเขียนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีคน เขียนเอาไว้เยอะหรือยัง คุณต้องสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของงานเขียนของคุณขึ้นมาให้ได้ เช่น คุณอยากจะ เขียนสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับจังหวัดอยุธยา เพราะคุณมีข้อมูลดิบเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนี้พร้อมแล้ว แต่ในร้านหนังสือตอนนี้ มีเรื่องของคู่มือเที่ยวอยุธยาอยู่แล้ว 5 เล่ม ทุกเล่มก็พาเที่ยวพระราชวังบางปะอินเหมือน กันหมด อย่างนี้คุณต้องทำการบ้านให้ชัดเจนมาก่อนว่า งานของคุณโดดเด่นและแตกต่างจากเล่มอื่นอย่างไรบ้าง ถ้าพาเที่ยวบางปะอินอีกละก็ โน่น ลงตะกร้าแน่นอน (เดี๋ยวนี้นักเขียนรุ่นใหม่นิยมส่งต้นฉบับทางอีเมล์ ก็ต้องเปลี่ยน จากตะกร้าเป็น Recycle Bin แทนครับ)

ทราบมั้ยครับ ว่าบรรณาธิการของบางสำนักพิมพ์ (รวมถึงแจ่มใสด้วย) เขาให้ความสำคัญตรงจุดนี้สูงมาก มากกว่า ถ้วยรางวัลเกียรติยศที่พ่วงมากับงานเขียนของคุณเสียอีก ไม่เป็นความจริงเลย ที่ว่าเมื่อคุณเขียนหนังสือที่มีบรรยากาศ คล้ายคลึงกับเรื่องของทมยันตี แล้วหนังสือของคุณจะขายดีเหมือนของทมยันตี ตรงจุดนี้พาให้นักเขียนและสำนักพิมพ์ กอดคอกันเจ๊งมานักต่อนักแล้วครับ บางคนก็ชอบอ้างว่า "คุณบอกอนี่ตาไม่ถึง ขนาดคุณทมยันตี เค้ายังเคยวิจารณ์ งานชิ้นนี้ว่าน่าสนใจมากเลย" ถามจริงๆ เถอะ คุณทมยันตีเขาสามารถพูดความจริงด้วยคำว่า "ห่วยแตก" ออกมาได้ ด้วยหรือครับ

3. ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่พบบ่อยอีกข้อหนึ่งของนักเขียนส่วนใหญ่ ที่ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาก็คือ "โดนดองเรื่อง" คือตอนที่เสนองานไม่ค่อยกล้าสอบถามให้เรียบร้อยเสียก่อน ว่าทางสำนักพิมพ์ใช้เวลาพิจารณานานไหม สามารถ ติดตามความคืบหน้าได้จากใคร ถือเสียว่าส่งเรื่องแล้วก็แล้วกันไป บางรายโดนดองเรื่องเอาไว้เป็นปี พอเอาเรื่อง ไปให้สำนักพิมพ์อื่นเขาพิจารณา แล้วเกิดผ่าน กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ ก็เกิดเหตุการณ์รถไฟชนกัน คือสำนัก พิมพ์ที่เคยดองเรื่องเอาไว้ทีแรก เกิดอยากจะตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้เช่นกัน กรณีเช่นนี้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือ ตัวนักเขียนเอง เพราะจะเสียเครดิต เพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ ทางนักเขียนควรตกลงกับสำนักพิมพ์ให้แน่ชัดใน ตอนต้นว่า จะต้องใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด และเมื่อครบกำหนดเวลาก็ต้องติดต่อสอบถามว่าผ่านการพิจารณา หรือไม่ ถ้าต้องการไปเสนอให้สำนักพิมพ์อื่นพิจารณา ควรแจ้งแก่สำนักพิมพ์เดิมให้เรียบร้อยว่าขอถอนเรื่องแล้ว

ความจริงแล้ว เหล่าบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ทั้งหลายนั้น ท่านมิได้มีเจตนาเตะถ่วงเรื่องแต่อย่างใด เพียง แต่นิสัยแบบไทยๆ เราก็คือเป็นคนขี้เกรงใจ กลัวว่าถ้าบอกออกไปว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" แล้ว จะเป็นการทำร้ายจิตใจของนักเขียนผู้นั้นจนเกินไป จึงแอบเอาผลงานหย่อนลงถังขยะไปเงียบๆ แบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ทางที่ดีควรคุยกันในตอนแรกให้เรียบร้อย เช่น ต้องใช้เวลาพิจารณา 3 เดือน พอครบกำหนด 3 เดือน คุณก็ลองติดต่อไปดูอีกทีว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ถ้ายังไม่มีอะไรคืบหน้า คิดว่าไม่มีหวังแล้ว ก็ทำเรื่องขอต้นฉบับคืน (แค่ทำเรื่องเฉยๆ เพราะต้นฉบับจริงของคุณอาจกลายเป็นปุ๋ยไปแล้ว) เท่านี้ก็จบลงด้วยดีกันทุกฝ่าย คุณก็ไม่ต้อง เลือกระหว่างโดนดองเรื่องไปเรื่อยๆ หรือต้องทนฟังคำว่า "เรื่องของคุณไม่ผ่านการพิจารณา" เมื่อถอนเรื่องเรียบ ร้อยแล้ว คุณก็สามารถเอาผลงานไปเสนอที่อื่นต่อไปได้อย่างสบายใจ เผื่ออนาคตคุณเกิดมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา ผลงานเก่าๆ ที่อยู่ตามถังขยะของสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็อาจจะกลับมีค่าขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้

4. สรุปผลชัดเจน

ไม่ว่าเรื่องของคุณจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ก็ตาม คุณควรได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง เป็นต้นว่า สาเหตุที่งานของคุณไม่ผ่านการพิจารณานั้นเพราะเหตุใด สำนวนไม่ดี หรือพล็อตเรื่องไม่รัดกุม ฯลฯ ถ้าผลงานคุณ ไม่ดีจริงๆ (ไม่ค่อยมีใครเขากล้าบอกคุณตรงๆ หรอกว่าผลงานคุณห่วยแตก ต้องคิดดูเอาเองด้วยใจที่ไม่อคติเกิน ไปนัก) ขืนเอาไปเสนอที่อื่น เขาก็คงไม่รับอีกนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า สู้เอากลับไปขัดเกลาเรื่องเสียใหม่ดีกว่า ใส่ตะกร้าล้างน้ำซะ ถือว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของเรา ในทำนองกลับกันถ้าเรื่องของคุณผ่านการพิจารณาก็อย่าเพิ่ง ดีใจจนเกินไป บางที 3 ปีผ่านไปแล้วยังไม่ได้รับการตีพิมพ์เลย อันนี้แสบกว่าไม่ผ่านการพิจารณาเสียอีก คุณจึง ต้องสอบถามจากสำนักพิมพ์ให้ชัดเจนว่าผลงานของคุณจะได้รับการตีพิมพ์เมื่อใด และรายละเอียดของการจัดทำ สัญญา ซึ่งมีการระบุค่าตอบแทนที่คุณจะได้รับไว้อย่างชัดเจน (อย่ากลัวว่าใครเขาจะหาว่าคุณงกเลย โดยเฉพาะ ถ้าคุณไม่ได้ทำอาชีพอื่นใด นอกจากเขียนหนังสือ ก็คุณกินอากาศแทนข้าวได้เสียเมื่อไหร่เล่า)

แนวทางภาคปฏิบัติในการผลิตงานเขียน

A. กรณีที่เป็นหนังสือซึ่งคุณเขียนขึ้นเอง


1. กำหนดเรื่องที่จะเขียน

คุณควรวางแผนเสียก่อนว่า อยากจะเขียนหนังสืออะไร รูปแบบการนำเสนอเป็นอย่างไร กลุ่มคนอ่านคือคนกลุ่ม ไหน กำหนดระยะเวลาคร่าวๆ ขึ้นมา ว่าจะเริ่มเขียนเมื่อไหร่ และควรจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

2. กำหนดเค้าโครงเรื่อง

เริ่มลงรายละเอียดในแผนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเป็นหนังสือแนววรรณกรรมหรือนวนิยาย ก็ควรเริ่มวางพลอต เรื่องและตัวละครต่างๆ เอาไว้คร่าวๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือสารคดีหรือหนังสือวิชาการ ก็ควรกำหนดเนื้อหาของหนังสือว่า จะมีกี่บท แต่ละบทจะกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง ถึงขั้นตอนนี้คุณน่าจะพอมองเห็นว่าหนังสือของคุณมีความยาวประมาณ เท่าใดแล้ว

3. หาข้อมูล/วัตถุดิบ

จากแผนงานที่คุณวางไว้ คุณควรทราบแล้วว่า คุณต้องการข้อมูลหรือวัตถุดิบ เช่น ภาพถ่ายหรือเอกสารประกอบ อะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าใดจึงจะพอสำหรับงานเขียนของคุณ หรือถ้าหากจะต้องมีการสัมภาษณ์บุคคล หรืองานภาค สนามต่างๆ ก็เริ่มกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนเลยว่าจะทำเมื่อใด หรือจะต้องนัดหมายประสานงานกับใครบ้าง

4. ลงมือเขียน

เริ่มลงมือเขียนเลย อย่าลืมให้ความสำคัญกับการจัดการเวลา เช่น สิ้นเดือนนี้จะต้องเขียนเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ จะปิดเล่มได้เมื่อไหร่ ระหว่างนี้ถ้าคุณจะเริ่มติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อเสนอตัวอย่างผลงานบางส่วนก่อนก็สามารถทำได้ เลย อ้อ เวลาเขียนหนังสืออย่าลืมหาพจนานุกรมติดตัวเอาไว้ด้วย หนังสือของคุณจะได้ไม่มีภาษาวิบัติ

5. ขัดเกลาสำนวน

เมื่อเขียนจนเสร็จบริบูรณ์แล้ว ควรหาเวลานั่งอ่านต้นฉบับรวดเดียวให้จบเลย จะอ่านด้วยตัวเองหรือวานเพื่อน ฝูงมาช่วยอ่านก็ตามสบาย นอกจากตรวจสอบคำสะกดต่างๆ ให้ถูกต้องแล้ว ควรมีการขัดเกลาสำนวนในบางจุดที่คุณ ยังไม่พอใจ ให้มีความสละสลวยทางภาษามากยิ่งขึ้น

6. เสนองาน

นำต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์แล้วของคุณ ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ที่คุณคิดว่าเหมาะสม แล้วสอบถามให้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เวลาในการพิจารณางานของคุณนานเท่าใด หากต้องการทราบความคืบหน้าให้สอบถามจากใคร ตำแหน่ง อะไร

ถ้าคุณต้องการเสนอผลงานให้ทางสำนักพิมพ์แจ่มใสพิจารณา การส่งต้นฉบับอาจส่งโดยทางอีเมล์ editor@jamsai.com ก็น่าจะสะดวกดีกับทุกฝ่าย ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยต้นฉบับควรเป็นไฟล์เอกสาร ของไมโครซอฟต์เวิร์ด (95 หรือ 97 ก็ได้) และถ้ามีภาพประกอบก็ควรเป็นไฟล์นามสกุล .TIF หรือ .EPS (ที่ความละเอียด 150-300 DPI) อย่าใช้ภาพกราฟฟิคนามสกุล JPEG หรือ GIF เพราะภาพอาจมีความละเอียดต่ำ เกินกว่าจะนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์

7. ติดตามผล

การติดตามผลงาน อย่าลืมระวังเรื่องของกาละเทศะด้วย นักเขียนบางคนนั้น จะด้วยความตื่นเต้นหรืออย่าง ไรก็ไม่ทราบ โทรศัพท์วันละหลายครั้งเพื่อสอบถามความคืบหน้า จนถึงขนาดสร้างความรำคาญและบรรยากาศ ที่ไม่ดี ระหว่างตัวนักเขียนกับเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ที่ไปเสนองาน ส่วนบางคนนั้น หลังจาก ที่เสนองานให้ไปพิจารณาแล้ว กลับไม่กล้าติดต่อไปหาอีกเลย เพราะเกรงว่าจะไปกวนใจเขา หลายเดือนผ่าน ไปปรากฏว่าเขาลืมไปแล้ว พอไปถาม เขาเพิ่งหยิบเรื่องออกมา แล้วให้ร้องเพลงรอต่อไป

8. ประชาสัมพันธ์

เมื่อคุณหาสำนักพิมพ์ที่จะรองรับงานของคุณได้แล้ว อยากแนะนำให้คุณประชาสัมพันธ์หนังสือของคุณเอง ด้วยอีกแรงหนึ่ง จะดีกว่าการไปรอให้สำนักพิมพ์เขาจัดการให้อย่างเดียว คำว่า "ประชาสัมพันธ์" มาจาก ประชา + สัมพันธ์ ดังนั้นในฐานะนักเขียน คุณควรสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านเขาให้มาก กรณีนี้พวกดาราหรือคน ดังเขาจะได้เปรียบ เพราะเวลาเปิดตัวหนังสือคนดัง สื่อต่างๆ ก็มักจะให้ความสนใจ แต่ถ้าคุณเป็นลูกชาวบ้าน ธรรมดาก็ไม่เป็นไร ทำเท่าที่กำลังของคุณจะอำนวย อย่าฝืนทำจนเกินตัว เกินกำลังไป จะกลายเป็นผลเสีย มากกว่าผลดี

B. กรณีที่เป็นหนังสือซึ่งแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ

1. เสนอเรื่อง

ถ้าคุณเป็นนักอ่านหนังสือต่างประเทศอยู่เป็นประจำ หากคุณพบหนังสือที่มีเนื้อหาสาระดี น่าแปลออกมา เป็นหนังสือภาษาไทย คุณสามารถแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักพิมพ์ที่คุณสนใจจะร่วมงาน เพื่อให้เขาติดต่อ ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือนั้นมาเพื่อพิมพ์จำหน่ายเป็นภาษาไทย

สำหรับสำนักพิมพ์แจ่มใส คุณสามารถส่งเรื่องมาที่ editor@jamsai.com โดยระบุชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ต่างประเทศ และเนื้อเรื่องโดยย่อของหนังสือเล่มนั้น ตลอดจนจุดเด่นที่คุณคิดว่าน่าสนใจ

2. ติดต่อลิขสิทธิ์

ควรให้สำนักพิมพ์ที่คุณติดต่อ เป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ อย่าเพิ่งรีบ แปลโดยเด็ดขาด จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้บางครั้งใช้ เวลาค่อนข้างนาน คงต้องอดทนรอคอยไปก่อน เมื่อติดต่อลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยเจรจาในราย ละเอียดกับสำนักพิมพ์นั้นอีกครั้ง ว่าคุณจะได้ค่าเหนื่อยเท่าใด

3. เริ่มลงมือแปล

ในการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศไทยเป็นภาษาไทยนั้น ถ้าพอมีเวลา ผมอยากแนะนำให้คุณอ่าน หนังสือที่ต้องการแปล ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างน้อย 2-3 รอบ พยายามสรุปเนื้อความและบรรยากาศ ตลอดถึง อารมณ์ที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดมาสู่ผู้อ่านให้เข้าใจเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มลงมือแปล งานแปลของคุณ ก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นการแปลแบบคำต่อคำ ซึ่งบางทีเมื่อเรียงเป็นประโยคแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ยังอาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางตอนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของนักอ่านชาวไทยด้วย แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่การดัดแปลงไปจากเดิมมากจนเกินไป

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

การผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน : มงคล ตันติสุขุมาล

      การผลิตสินค้า เป็นเรื่องสำคัญมากในกระบวนการธุรกิจ หากสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพดี ถูกใจผู้บริโภค ก็จะมีการซื้อซ้ำ และบอกต่อ อันจะทำให้มีการสั่งผลิตเพิ่มขึ้น ขยายไปเรื่อยๆจนร่ำรวยไปตามๆกัน

แต่การผลิตนั้น ไม่ใช่หวังเพียงให้ได้สินค้าสุดท้ายออกมาเท่านั้น เพราะหากผลิตได้ แต่ มีของเสียต้องคัดทิ้งเต็มไปหมด หรือ ผลิตล่าช้าไม่ทันความต้องการของลูกค้า ก็จะส่งผลต่อต้นทุน และ การสูญเสียโอกาสในการขายไปได้ แต่ถ้าผลิตไว้มากเกินไปจนขายไม่ทัน ก็จะกลายเป็นต้นทุนจม เป็นภาระเก็บรักษา ของหมดอายุ หรือ ดูเก่าลงจนไม่น่าซื้อ เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการผลิตจึงมีส่วนสำคัญ ในบทนี้ จะขอกล่าวถึงการผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพในบางขั้นตอนที่มีความสำคัญ ดังนี้


วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน

วัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในการเป็นส่วนตั้งต้นของการผลิตหรือการประกอบ สำคัญมาก หากได้วัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ที่ไม่ดี มีปัญหา ก็จะส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อๆมา จนถึงตัวสินค้าที่ผลิตเสร็จ

ในการผลิตที่ดีนั้น จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดเลือกตั้งแต่ผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ให้แก่กิจการ โดยจะมีการไปตรวจสอบถึงแหล่งของวัตถุดิบว่า มีกระบวนการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอย่างไร มีการแปรรูปเบื้องต้นอย่างไร มีคุณภาพได้มาตรฐานดีหรือไม่ ส่วนตัวโรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน ก็จะต้องถูกประเมินก่อนว่าน่าเชื่อถือได้หรือไม่ มีมาตรฐานเพียงไร อีกทั้งยังหาผู้ป้อนวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วนสำรองไว้ เผื่อกรณีที่เจ้าแรกมีปัญหา ก็มีเจ้าที่สองสำรองไว้ ทำให้การผลิตของเราไม่ได้รับความกระทบมากนัก

เมื่อวัตถุดิบ หรือ ชิ้นส่วน ส่งมาถึง ก็ควรที่จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสิ่งที่ส่งมาตามหลักสถิติอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ของเสียหลุดลอดเข้าสู่กระบวนการผลิตเกินกว่าค่าต่ำสุดที่ยอมรับได้ มิฉะนั้น จะทำให้เสียเวลา เสียของ ในกระบวนการผลิตโดยไม่จำเป็น ในเรื่องนี้ หากเป็นกรณีโรงงานญี่ปุ่นหลายแห่ง หากเป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสำคัญและต้องใช้อย่างต่อเนื่องแล้ว เขาอาจส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่โรงงานของผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการผลิต และ สุ่มตรวจก่อนทำการส่งมาเลย เรียกว่า ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง หากไม่ได้มาตรฐานก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายส่งมาให้ตั้งแต่แรก

ในการผลิตมีศัพท์ที่เรียกว่า Just in Time หมายถึง การกำหนดเวลาให้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนให้ส่งมาถึงโรงงานอย่างทันท่วงทีที่ต้องการใช้งาน โดยไม่ต้องนำเก็บเข้าสต๊อกก่อน เพราะการเก็บสต๊อกก็มีต้นทุนเรื่องสถานที่ และค่าดูแล หากมีการกำหนดเวลาและประสานงานกันให้ดี ต้นทุนส่วนนี้ก็จะลดลง



ชิ้นส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตหรือการประกอบ (Work In Process)

ในการผลิตสินค้าออกมา ทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดี เรียกว่า Lean Manufacturing หรือ การผลิตที่ไหลลื่น มีการไหลเวียนของชิ้นงานอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดหรือสะดุดกองกันอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นคอขวด เรื่องนี้ควรต้องมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Time and Work Study หรือ การจับเวลาที่ใช้ในการผลิตในแต่ละขั้นตอน แล้วจัดกำลังคนหรือเครื่องจักรให้เหมาะสมอันจะทำให้งานไหลไปได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางจนจบ เพราะงานที่กองกันอยู่ในกระบวนการผลิตก็ถือเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งด้วย



การตรวจสอบในกระบวนการผลิต

ในกระบวนการผลิต ชิ้นส่วนที่เสร็จในแต่ละขั้นตอน จะต้องถูกสุ่มตรวจสอบตามหลักสถิติ เพื่อให้ของเสียถูกระบุและจำแนกออกไปซ่อมแซม หรือ คัดออก ก่อนส่งไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากขั้นตอนนี้บกพร่องอาจทำให้เกิดการผลิตหรือประกอบของเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกว่าจะรู้ก็กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปไปแล้ว เสียทั้งเวลา เงินทอง แรงงาน ฯลฯ จึงขอแนะนำให้เจ้าของกิจการยอมลงทุนในการจ้างคน หรือ ซื้อเครื่องมือตรวจสอบในขั้นตอนระหว่างการผลิตนี้ให้เพียงพอด้วยเช่นกัน



สินค้าสำเร็จรูป


เมื่อผ่านการผลิตทุกขั้นตอนสู่การเป็นสินค้าสำเร็จรูป การตรวจสอบขั้นสุดท้าย คือ การตรวจสอบสภาพทั่วไปด้วยสายตา (Visual Inspection) การทดสอบการทำงานตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น (Function Inspection) หากเป็นอาหารก็ต้องดูที่สีสรร รสชาติ ความสะอาด เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งคือการตรวจสอบความทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า เจ้าของธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำกัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาว่าสินค้าเสียหาย ชำรุด ก่อนเวลาอันควร ทั้งๆที่ใช้ได้ไม่นาน ทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือ อีกทั้งหากมีการรับประกันสินค้า อาจมีสินค้าส่งมาเครมประกันกันมากจนทำให้กิจการขาดทุนก็เป็นได้ ยิ่งหากเป็นอาหาร หากมีการบูดเน่า หรือ ขึ้นราก่อนกำหนดเวลาทั้งๆที่ยังอยู่ในบรรจุภัณฑ์ อาจทำให้ผู้บริโภคท้องร่วง อาเจียน เกิดการฟ้องร้องตามมามากมาย ทำให้กิจการเสียชื่อเสียงกันไป

ดังนั้น สินค้าจึงต้องมีการทำการทดสอบความทนทาน หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ต้องทดสอบความคงทนต่อความแปรปรวนของระดับแรงดันไฟฟ้า ทดสอบการทำงานในอุณหภูมิที่สูง หรือ ต่ำกว่าภาวะปกติ เพราะในเวลาอุณหภูมิสูง หรือ ต่ำ เช่นในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว เครื่องอาจหยุดทำงาน หรือทำงานผิดปกติ รวมทั้งทดสอบต่อการเปิดปิด การกดปุ่มต่างๆว่ากี่ครั้งจึงจะทำให้ปุ่มกดชำรุดจนใช้งานไม่ได้ และนานมากพอที่จะอยู่ตลอดอายุใช้งานตามปกติหรือไม่

หากเป็นอาหารก็ต้องทดสอบว่าหากเก็บในที่ร้อน อยู่ได้กี่วัน ที่เย็นอยู่ได้กี่วัน ที่ชื้นอยู่ได้กี่วัน ที่แห้งแล้งเก็บได้กี่วัน เป็นต้น แล้ว อยู่อย่างปกติได้นานพอตามอายุที่ระบุไว้หรือไม่


บรรจุภัณฑ์

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุที่ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า มีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นตัวดึงดูดสินค้าให้น่าซื้อหรือไม่แล้ว ยังเป็นตัวถนอมสินค้าข้างในไม่ให้สกปรกหรือ ชำรุด ก่อนการใช้งานอีกด้วย ขอแนะนำว่า ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ตัวอักษรชัดเจน อ่านง่าย ใช้วัสดุที่เหมาะสม มีความทนทาน ยอมลงทุนหน่อยครับ เพราะหากสินค้าเก่า หรือ ชำรุด ก่อนแกะใช้ ก็จะนำความเสียหายมาสู่ธุรกิจได้

การทนต่อความชื้นหรือการเปียกน้ำฝนก็สำคัญนะครับ หากมีน้ำกระเด็นถูกภาชนะบรรจุ ทำให้ตัวอักษรที่พิมพ์อยู่ละลายน้ำหรือไม่ หรือ ภาชนะบรรจุ มีการยุบตัวเสียรูปหรือไม่ สินค้าทนความชื้นได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกกันน้ำอีกชั้นหนึ่งเป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรลืมในการทดสอบบรรจุภัณฑ์ คือ การทนแรงกดซ้อนทับกัน หรือ การเบียดเสียดกัน เพราะในการขนส่ง พนักงานอาจมีการโยนกล่อง หรือ วางซ้อนทับกันหลายชั้น ทำให้กล่องยุบ สินค้าหลุดจากกล่องบรรจุหรือแตกหักเสียหาย ทั้งนี้รวมถึงการทดสอบการตกกระแทกพื้นจากที่สูงระดับปกติของการขนส่ง เช่น 2-4 เมตร เป็นต้น เพราะหากมีการตกกระแทก หากของในกล่องจะชำรุดหากหลุดมือ ก็ต้องมีการกำหนดการใส่วัสดุกันกระแทกเพิ่มเติม และติดป้ายเตือนบนกล่องเป็นต้น