วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การคัดเลือกพนักงานมาร่วมงาน

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล

      หลายธุรกิจไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเจ้าของกิจการเองคนเดียว จำเป็นต้องมีพนักงานมาช่วยทำงาน ถ้าได้คนดีมีความสามารถมาร่วมงานก็จะทำให้กิจการก้าวหน้าไปด้วยดี แต่ถ้าเลือกผิดก็ต้องกลุ้มใจ จนกว่าจะให้ออกหรือลาออกกันไป การคัดเลือกพนักงานจึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ

หลักการคัดเลือกพนักงานนั้นอาศัยเพียงคนรู้จักกันแนะนำกันมาแบบที่ทำกันอยู่ในหลายกิจการจึงอาจไม่เพียงพอ ข้อแนะนำของผมคือ ควรมีการประกาศให้คนมาสมัคร จะฝากคนรู้จักบอกต่อๆกัน หรือ จะทาบทามคนรู้จักกันให้มาลองสมัครงานดูก็ได้ แต่ต้องมีการกรอกประวัติ มีการแนบหลักฐานให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่รับๆกันมาแต่ไม่มีประวัติหรือหลักฐานที่ครบถ้วน มิฉะนั้นหากเกิดปัญหาแล้วหายตัวไปก็ไม่รู้ว่าจะไปตามตัวได้ที่ไหนอย่างไร

ในหลายกรณี เจ้าของกิจการก็มักจะชวนญาติ ชวนเพื่อน ที่รู้จักกัน เคยสนินสนมกันมาร่วมงาน ก็ดีครับเพราะคุ้นเคยกันมาก่อน แต่ควรแน่ใจว่าเคยเห็นฝีมือหรือผลงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมาก่อนจึงจะดีนะครับ ไม่ใช่เพียงแค่เคยกินเคยเที่ยวด้วยกัน แล้วคิดว่าจะชวนมาทำงานได้ดีตามไปด้วย ผมเจอเพื่อนหรือญาติที่มาทะเละกันเสียเพื่อนเสียญาติกันเพราะชวนกันมาทำงานด้วยกันหลายรายแล้ว

หลักการคัดเลือกพนักงานที่ดีมีความสามารถควรทำต่อไปนี้ครับ

1. มีความรู้และประสบการณ์ที่ตรงกับความสามารถที่งานนั้นๆต้องการ แม้ว่าจะไม่ตรง 100 % แต่ใกล้เคียงที่สุดก็ยังดี เพราะการเอาคนที่ไม่รู้เรื่องไม่มีประสบการณ์ หรือแม้แต่ความรู้พื้นฐานเลยมาฝึกใหม่ แบบนี้เหนื่อยฟรีครับ ฝึกเป็นปีๆกว่าจะเป็น พอเป็นแล้วลาออกไปอยู่ที่อื่นยิ่งน่าเจ็บใจใหญ่ครับ

2. มีผลงานที่อ้างอิงได้ หลายคนเคยทำงานมามีความรู้มีประสบการณ์แต่เป็นประสบการณ์ของความล้มเหลวมาตลอด จึงมาสมัครงานใหม่ หากรับเข้ามาก็มีโอกาสทำงานล้มเหลวสูง การสัมภาษณ์งานจึงควรให้ผู้สมัครงานอ้างอิงถึงผลงานแห่งความสำเร็จของตนเองอย่างชัดเจนและละเอียดได้จะดีที่สุด หากเป็นนักศึกษาจบใหม่ ก็ควรมีผลงานวิจัยสมัยเรียน หรือ กิจกรรมที่ทำสมัยเรียนมาอ้างอิงได้จึงจะดีครับ

3. มีการสอบข้อเขียน เพื่อให้เป็นข้อมูลไว้ โดยเฉพาะเรื่องภาษาต่างประเทศ และ คอมพิวเตอร์ ถ้างานที่ทำจำเป็นต้องมีความรู้สองด้านนี้ เพราะดูเพียงประวัติในใบสมัครงานบอกไม่ได้ว่ารู้ภาษา และคอมพิวเตอร์ดีจริงแค่ไหน การสอบจึงจะบอกได้ดีกว่า หลอกกันไม่ได้ด้วย

4. มีการทดสอบทัศนคติ และรับเฉพาะผู้ที่มีทัศนคติบวกเข้ามาทำงาน เนื่องจากคนที่ทำงานนั้นไม่ว่าจะเก่งเพียงไร แต่หากเป็นคนมีทัศนคติลบกับงาน กับคน กับตนเอง ก็จะทำงานกับผู้อื่นไม่ค่อยราบรื่น สุดท้ายก็ทำให้งานเสียหายเปล่าๆ เรื่องนี้ผมให้เป็นความสำคัญมากเลยทีเดียว ในธุรกิจส่วนใหญ่มักไม่มีเรื่องการทดสอบทัศนคติของพนักงาน พอรับเข้ามาทำงาน ก็มีแต่ปัญหา มีการนินทากันไปมา มุ่งร้ายกันไปมา สร้างการเมืองในสำนักงาน จนงานเสียหายอยู่เสมอๆ หากไม่อยากเจอปัญหาเหล่านี้มากในอนาคต การรับคนเข้าทำงานต้องหาคนที่มีทัศนคติที่ดีเข้ามาทำงานเสมอ คนแบบนี้อาจหายาก อย่างน้อยก็มีทัศนคติกลางๆก็ยังดี หากเป็นคนทัศนคติลบ มองโลกในแง่ร้าย มองคนในแง่ร้าย มองชีวิตในแง่ร้าย อย่ารับเด็ดขาดครับ อันตรายมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น