วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

ทำธุรกิจ จะหาแหล่งเงินทุน ลงทุนเอง หรือ หาหุ้นส่วนดี

ผู้เขียน: มงคล ตันติสุขุมาล
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ โทร 0817168711 email: mingbiz@gmail.com

      การหาแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องที่สำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจ หลังจากที่ได้จัดทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการจนมั่นใจแล้วว่า “คุ้มค่า น่าทำ และจะทำ” แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนแล้วว่าจะเองเงินจากไหนมาทำ โครงการธุรกิจในฝันของคุณ

หากมีเงินทุนเพียงพอ การจะเริ่มต้นประกอบธุรกิจก็จะสะดวกขึ้น หากมีมากพอ หรือ สายป่านยาวพอ ก็อยู่ได้นาน แต่จะเติบโตหรือยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆที่เหลือ

การหาแหล่งเงินทุน มีมากมายหลายวิธี เช่น

1. เงินทุนของตนเอง

เงินทุนจากเงินเก็บส่วนตัว หรือ มรดกที่ได้รับมา ถือว่าเป็นแหล่งทุนที่ดีที่สุด และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด เพราะถือเป็น “เงินเย็น” คือ เงินที่ไม่ต้องไปเป็นหนี้ใคร แม้ทำธุรกิจผิดพลาดประการใดก็ไม่ถึงกับมีหนี้ล้นพ้นตัว

แต่เงินทุนของตนเองมีข้อจำกัด คือ หากไม่ใช่เศรษฐีแล้ว คนส่วนใหญ่ มีเงินที่จำกัด ในหลายโครงการธุรกิจนั้นเงินทุนส่วนตัวอาจไม่เพียงพอต่อการเริ่มต้นธุรกิจได้ ก็จำเป็นต้องหาเงินทุนจากแหล่งอื่นๆมาเพิ่มเติม


2. เงินทุนของญาติสนิท มิตรสหาย

เงินทุนของญาติสนิท มิตรสหาย เป็นแหล่งเงินทุนแหล่งที่สองที่มีความเสี่ยงต่ำรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากญาติคนนั้นเป็นคนที่เขารักคุณที่สุด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ในครอบครัว หรือ เพื่อรักกัน ถ้าหากเขาเชื่อมั่นในตัวคุณ เชื่อมั่นในโครงการของคุณ เขาก็อาจให้เงินคุณมาลงทุนได้ ซึ่งนักธุรกิจหลายคนก็เริ่มต้นจากตรงนี้ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนที่ผูกพันกันตาม “ความรู้สึกเชื่อถือในตัวคุณ” เป็นหลัก

จริงอยู่ที่ว่าเงินลงทุนจากแหล่งนี้เป็นเงินลงทุนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องต่ำ แต่จะมีความเสี่ยงอื่นมาแทนที่ นั่นคือ ความ “เสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือ และความผิดหวังของคนใกล้ชิด หากคุณทำพลาด” เพราะเขาไว้วางใจคุณ เชื่อใจคุณ เชื่อในโครงการของคุณ และรักคุณ เขาจึงยอมเสี่ยงด้วย แต่ความเสี่ยงนี้คุณต้องแบกรับความรับผิดชอบด้วยเกียรติภูมิทั้งหมดในชีวิตของคุณ หาไม่แล้วคุณจะกลายเป็นตัวแทนแห่งความล้มเหลวและความผิดหวังของคนในครอบครัว หรือ ของเพื่อนรักของคุณเอง ภาระนี้ใหญ่หลวงนัก เมื่อรับเงินลงทุนมา ก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงไว้เต็มบ่าด้วยนะครับ


3. เงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ

เงินลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน เป็นเงินลงทุนที่ผูกพันกัน “ตามกฎหมาย” ระหว่างผู้ขอกู้ กับผู้ให้กู้ เป็นหลัก การจะไปกู้เงิน คุณก็ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็น อาคารที่ดิน เครื่องจักร สิทธิบัตร ฯลฯ เป็นต้น อีกทั้งอาจต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” หากสถาบันการเงินต้องการ

เงินกู้จากแหล่งนี้ มีขั้นตอนการพิจารณาที่เป็นระบบเป็นขั้นตอน ใช้ข้อมูล ความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจ ฐานะการเงิน ความน่าเชื่อถือของผู้กู้ และหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นหลักในการพิจารณาให้เงินกู้ และมักไม่ให้เต็มวงเงินหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกัน เพราะเขาต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการด้อยค่าลงในอนาคตของหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน

การกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น คุณเองก็ต้องมีเงินทุนของตนเองอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เขาจึงจะเชื่อว่าคุณพร้อมเสี่ยงเงินของคุณเองในธุรกิจด้วย ไม่ใช่เอาเงินเขามาเสี่ยงทั้งหมด

สำหรับเงินจากบัตรเครดิต ผมไม่แนะนำให้ใช้ในการลงทุนในธุรกิจนะครับ เพราะเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้น แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก

เงินกู้แบ่งเป็น ระยะสั้น กับระยะยาว ระยะสั้นหมายถึงต้องใช้คืนภายใน 1 ปี ส่วนระยะยาวนั้นผ่อนใช้คืนได้หลายปี แล้วแต่ว่าทำสัญญากันกี่ปี

หากลงทุนในอาคาร หรือ อสังหาริมทรัพย์ หรือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ ควรใช้แหล่งเงินกู้ระยะยาว แต่ถ้าเป็นการหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบ ซื้อมาผลิตแล้วขายไป ได้เงินกลับมาในเวลาอันสั้น ก็ควรใช้เงินกู้ระยะสั้น ต้องใช้ให้เหมาะกับประเภทนะครับ เพราะอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน และระยะเวลาใช้คืนเงินกู้ก็แตกต่างกันครับ

เงินกู้จากสถาบันการเงินนั้น ส่วนตัวแล้วผมมักแนะนำว่าอย่าใช้มากโดยไม่จำเป็น และหากใช้ ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เพราะหากคุณไม่สามารถนำเงินไปใช้คืนเขาได้ เขาก็ต้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันของคุณขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ หากไม่ครบมูลหนี้ คุณและผู้ค้ำประกันก็ยังต้องตามใช้หนี้ที่เหลือต่อไปอีก ถ้าคุณใช้เงินก้อนนี้ผิดพลาด คุณและครอบครัวอาจไม่มีบ้านจะอยู่ในอนาคตก็เป็นไปได้


4. เงินทุนจากการส่งเสริมของรัฐบาล

เงินลงทุนจากแหล่งอื่นที่แนะนำก็คือ เงินทุนจากสถาบันส่งเสริมธุรกิจต่างๆที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ เช่น

ธนาคารเพื่อการส่งออก (EXIM Bank) สำหรับธุรกิจส่งออก
ธนาคารเพื่อการเกษตร สำหรับธุรกิจด้านการเกษตร
ศูนย์ส่งเสริม SMEs สำหรับ ธุรกิจ SMEs

ซึ่งสถาบันเหล่านี้ ส่วนหนึ่งบริหารงานแบบเอกชน แต่มีรัฐบาลให้การสนับสนุน ทำให้คุณได้วงเงินเพิ่มเติม หรือ ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินเอกชนทั่วไป


5. เงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป

เงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วไป ได้แก่ บรรดาเศรษฐีทั้งหลาย ที่มีเงินเย็นเก็บไว้ แต่ก็ไม่อยากทำธุรกิจเอง แต่อยากนำเงินเก็บของตนเองไปลงทุน หรือ ร่วมทุน กับผู้อื่น ในธุรกิจที่น่าสนใจ โดยต้องการเงินปันผล หรือ กำไรจากการขายหุ้นออกไปในอนาคต โดยเงินทุนจากแหล่งนี้ มีทั้งจากนอกตลาดหลักทรัพย์ และในตลาดหลักทรัพย์

ผมจะไม่พูดถึงเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ แม้แต่ MAI นั้นต้องเป็นกิจการขนาดใหญ่ หรือกลางที่เปิดมานานและมีผลประกอบการที่ดีมากเป็นฐานเดิมมาก่อน จึงไม่ใช่แหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจเปิดใหม่

เงินทุนจากบุคคลทั่วไป หรือ บรรดาเศรษฐีนักลงทุนนั้น อาจเป็นคนที่คุณรู้จัก หรือไม่รู้จักมาก่อนก็เป็นไปได้ หากแต่คุณมีโครงการธุรกิจที่ดีน่าสนใจ และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้สนใจลงทุนเหล่านี้ แล้วมีบางคนเกิดสนใจอย่างร่วมลงทุนกับคุณขึ้นมา โดยอาจขอถือหุ้นในบริษัทร่วมกับคุณ แต่ให้คุณบริหารทั้งหมด หรือ มาร่วมบริหาร หรือ ส่งคนมาร่วมบริหารก็ตามที บางคนอาจให้เงินกู้แก่คุณในอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เป็นไปได้

เงินลงทุนจากแหล่งนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย แต่อาจจะหายากอยู่สักหน่อยหากว่าคุณไม่ใช่คนที่กว้างขวางและชอบสังคม หรือ เป็นคนน่าเชื่อถือในหมู่นักลงทุนเหล่านี้ ดังนั้น ข้อแนะนำคือ หากคิดจะทำธุรกิจ จงทำตัวให้เป็นคนชอบสังคม และ มีความน่าเชื่อถือ


การหาหุ้นส่วน

การที่มีคนร่วมแนวคิด ร่วมอุดมการณ์ ทางธุรกิจกับคุณก็เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะหากเขาต้องการเป็นหุ้นส่วน โดยร่วมลงทุน ร่วมบริหาร ร่วมทำธุรกิจ อันจะทำให้คุณไม่ต้องเหนื่อยคนเดียว แต่การจะหาหุ้นส่วนที่ดีนั้นยากนัก ผมเห็นหลายธุรกิจเริ่มต้นเหมือนจะดี มีหุ้นส่วนที่สนใจและมีความหวังในธุรกิจเดียวกัน ทำไปทำมาสักพัก หุ้นส่วนเริ่มทะเลาะกัน หนักเข้า ก็ถอนหุ้นแยกทางออกไป หนักกว่านั้นหุ้นส่วนหลายราย แตกคอกันจนบริษัทต้องปิดกิจการ หรือ ขายทิ้งไป ก็มีให้เห็นมาก แล้วก็โทษกันไปมา จนหลายคนเข็ดขยาดกับการทำธุรกิจแบบมีหุ้นส่วน

ในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าหากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดเพียงคนเดียว ย่อมง่ายต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่มีใครคอยขัดคอ หรือแสดงความเห็นแย้ง แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจตัดสินใจผิดพลาดโดยไม่มีใครท้วงติงหรือเสนอแนะ การมีหุ้นส่วนมาร่วมกันก็ดีในแง่ที่มีผู้ช่วยคิดช่วยทำ ถ้าหากเลือกหุ้นส่วนที่ดี โดยหลักการพิจาณาหุ้นส่วนที่ดี ผมอยากแนะนำอย่างนี้ครับ

1. หาหุ้นส่วนที่มีจุดแข็งในเรื่องที่คุณไม่มี มาเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่หาแต่คนที่มีความสามารถเหมือนๆกันหมดมาเป็นหุ้นส่วน เพราะจะไม่มีใครมาปิดจุดอ่อนคุณ เพื่อให้มีการชดเชยทักษะที่คุณไม่มี คุณควรหาคนที่ที่ทักษะด้านที่คุณขาดไปมาเป็นหุ้นส่วน เช่น สมมติคุณจะเปิดร้านขายคอมพิวเตอร์ และคุณรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี แต่ไม่รู้เรื่องบัญชี เรื่องการตลาด ก็หาหุ้นส่วนที่รู้สองเรื่องนี้มาร่วมงานกัน

2. หาหุ้นส่วนที่มีอุปนิสัยเข้ากันได้กับคุณ โดยเฉพาะ “ค่านิยมพื้นฐาน” ผู้ที่จะมาเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ หรือเป็นกรรมการร่วมบริหาร เพราะค่านิยมและความเชื่อพื้นฐาน จะเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานไปในแนวทางเดียวกัน และไม่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เช่น หากคุณมีค่านิยมพื้นฐานที่ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ ก็ไม่ควรหาหุ้นส่วนที่เคยรู้ว่ามีพฤติกรรมที่ชอบใช้ช่องว่างของกฎหมายในการหาประโยชน์เข้าตัวโดยมิชอบ มิฉะนั้น ในขณะที่คุณต้องการจะเสียภาษีอย่างถูกต้อง หุ้นส่วนของคุณอาจจะอยากโกงภาษี ในขณะที่คุณอยากร่วมประมูลอย่างตรงไปตรงมา หุ้นส่วนคุณอาจจะอยากจ่ายใต้โต๊ะ หรือ ล๊อกสเป็ก เป็นต้น ทำงานกันได้ไม่นานก็ต้องทะเลาะกันและเลิกรากันไปแน่นอน

หากค่านิยมและความเชื่อของคุณคือ การทำธุรกิจเพื่อสังคม และต้องคืนประโยชน์สู่สังคมจากกำไรส่วนหนึ่งที่ได้ในทุกปี ในขณะที่หุ้นส่วนรายใหญ่ของคุณต้องการเพียงกำไรสูงสุด ไม่ต้องการให้กระเด็นไปสู่สังคมแม้แต่น้อย ก็ต้องทะเลาะกันอีกเหมือนกัน

หากค่านิยมและความเชื่อของคุณคือ การทำงานเพื่อครอบครัว และทั้งสองสิ่งต้องสมดุลกัน คุณจึงปฏิบัติตนอย่างสมดุล และ ให้โอกาสพนักงานมีวันหยุดอยู่กับครอบครัวด้วยความเต็มใจ ในขณะที่หุ้นส่วนรายใหญ่ของคุณเป็นคนบ้างาน ทั้งชีวิตต้องทุ่มให้งานเท่านั้น และต้องการให้พนักงานทำเช่นนี้ด้วย คุณกับเขาก็จะทะเลาะกัน

นี่คือเหตุผลที่ผมแนะนำว่า การหาหุ้นส่วนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้นิสัยและความคิดของเขามาก่อนที่จะมาร่วมธุรกิจกัน โดยเฉพาะหุ้นส่วนที่ต้องมาเป็นกรรมการบริหารงานร่วมกับคุณยิ่งมีความสำคัญมาก

3. หาหุ้นส่วนที่มองโลกในแง่ดี มีทัศนคติบวกต่อชีวิตตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อธุรกิจที่ทำ จากประสบการณ์ของผม บอกได้อย่างมั่นอกมั่นใจว่า ผู้มองโลกในแง่ดี มีทัศนคติบวก เท่านั้นจึงจะทำให้ธุรกิจก้าวหน้าในระยะยาว ผู้มองโลกในแง่ร้าย มีทัศนคติลบ มักจะสร้างปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น อันเนื่องมาจากมีทัศนคติที่ไม่ดี คอยผลิตผลลัพธ์ที่ไม่ดีออกมาได้เรื่อยๆนั่นเอง

พูดถึงเรื่องนี้ ต้องแยกให้ออกนะครับ ว่าผู้มีทัศนคติดี มองโลกในแง่ดี ไม่ใช่ โง่เขลา เชื่อคนง่าย ให้เขาหลอกง่ายๆ นะครับ คนละความหมายกัน คนมองโลกในแง่ดี จะมองหาโอกาสในอุปสรรค์ มองหาข้อดีในข้อเสีย จะคิดบวกได้ในสถานการณ์ที่เป็นลบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เพราะมองหาแต่ข้อดีของคนในทีมที่จะนำมาเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ แต่การทำธุรกรรมต่างๆ ก็รอบคอบและเป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมาย มีขั้นมีตอน ไม่ขี้ระแวงแต่ก็ไม่ถูกหลอก เพราะความเป็นคนรอบคอบ

ในขณะที่ผู้มองโลกในแง่ร้ายมักมีอุปนิสัยที่ มองเห็นแต่ปัญหาในทุกเรื่อง มองหาข้อเสียในสิ่งดี คิดแต่เรื่องลบๆแม้ในสถานการณ์ที่เป็นบวก ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ค่อยได้ เพราะจะคอยมองหาแต่ข้อเสียของผู้อื่นมาตำหนิทำให้ทีมขาดความสามัคคี พฤติกรรมก็จะเป็นคนขี้ระแวง ชอบจับผิด ในขณะที่คนแบบนี้มักมองตนเองเป็นฝ่ายถูกเสมอในทุกเรื่องไม่ค่อยยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น เพราะเห็นว่าผู้อื่นไม่มีดีเท่าตนเอง ทำให้ขาดความรอบคอบ ขาดที่ปรึกษาที่ดี และมักทำงานผิดพลาด ถูกหลอกเพราะความไม่รู้และไม่ฟังผู้หวังดีที่ทักท้วงตักเตือน

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงให้ความสำคัญกับการหาคนที่มีทัศนคติที่ดีมาร่วมธุรกิจมากกว่า จึงจะทำให้ธุรกิจราบรื่น หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรมีทัศนคติที่เป็นกลาง ไม่ลบมากเกินไป ก็ยังดี

4. หาหุ้นส่วนที่มีความฉลาด ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัย แก้ปัญหาได้ดี เพราะผู้ที่มีความฉลาดมักจะมีความเห็นดีๆ มีวิธีการดีๆ มีการแก้ปัญหาที่ดีมีประสิทธิภาพ เมื่อบวกกับความขยันขันแข็งก็ยิ่งทำให้ธุรกิจมีความก้าวหน้ารวดเร็ว แต่ถ้ามีหุ้นส่วนร่วมบริหารที่ “โง่เขลา แต่ขยัน” อาจเจอแต่ปัญหาเพราะเขาอาจ “ขยันทำแต่เรื่องโง่ๆ” ก็ได้

เรื่องของความซื่อสัตย์ ก็สำคัญมาก เพราะผู้ที่ซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นๆเชื่อถือ ทำให้พนักงานเชื่อถือ ทำให้คู่ค้าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้าเชื่อถือ แล้วกิจการก็จะมีเครดิตที่ดี ถ้ามีหุ้นส่วนใหญ่ที่ไม่ซื่อสัตย์ คุณจะพบแต่ปัญหาในระยะยาว เพราะเขาจะตุกติก หมดเม็ด ซ่อนเร้น เปลี่ยนแปลงบัญชี หรืออื่นๆ ที่ทำให้บริษัทต้องมีอันเป็นไปในระยะยาว

ความมีระเบียบวินัย เป็นเรื่องของผู้ที่ไม่ทำงานแบบมักง่าย แต่ต้องการความประณีต สมบูรณ์ของงาน ทำให้งานออกมาดี ความมีระเบียบวินัยทำให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สึกนับถือ และ การงานมีระเบียบ

โดยสรุปแล้วการหาหุ้นส่วนใหญ่ หรือ ผู้ร่วมบริหารงานที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องมีคุณสมบัติที่ดีก่อน แล้วค่อยไปหาคนอื่นที่ดี มิฉะนั้น เขาดีแต่คุณไม่ดี เขาก็ทำงานร่วมกับคุณไม่ได้เหมือนกัน

แต่อยากจะบอกว่า การหาหุ้นส่วนใหญ่หรือผู้ร่วมบริหาร ไม่ใช่ดูจากเพื่อนที่เคยสนิทในสมัยเรียน หรือจากญาติพี่น้องเป็นหลัก จริงอยู่ที่คนในกลุ่มที่ว่านี้คุณจะรู้จักเขามาก่อน รู้อุปนิสัยของเขามาก่อน แต่บางครั้งคุณคบหาเขาเพียงผิวเผิน เฉพาะตอนกินเล่นเต้นเที่ยว เคยทำงานกิจกรรมหรือรายงานสมัยเรียนร่วมกันบ้างแต่น้อยมาก ยังตัดสินไม่ได้ว่าเขาจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีหรือไม่ ถ้าคุณสมบัติเขาไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญๆ ก็ตัดใจอย่านำมาร่วมงานกันนะครับ เพราะหลายกรณีผมเคยพบเพื่อนที่ชวนเพื่อนมาทำธุรกิจด้วยกัน แต่มีนิสัยและค่านิยมที่ต่างกันมาก สุดท้ายก็ทะเลาะกันเป็นศัตรูกันไป เช่น คนหนึ่งขี้เกียจ คนหนึ่งขยันเป็นเพื่อนกันจึงชวนกันมาเข้าหุ้นทำธุรกิจด้วยกัน คนขยันก็ทำงานทั้งวันทั้งคืน คนขี้เกียจเข้าบริษัทเดี๋ยวเดียวก็โดดงานไปเที่ยว ไปตีก๊อล์ฟ มีปัญหาก็ไม่ช่วยแก้ไข พอสิ้นปีกลับต้องการส่วนแบ่งกำไรมากๆ สุดท้ายคนที่ขยันก็รู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบ มีอันต้องทะเลาะกันแล้วเลิกรากันไป

บางคนรับญาติมาร่วมหุ้นกัน บริหารงานร่วมกัน เมื่อญาติทำผิดก็ไม่ค่อยกล้าตำหนิ เนื่องจากเป็นเป็นญาติกลัวเสียสายสัมพันธ์ เกรงใจกันไปกันมา ธุรกิจก็พังกันไปหมด

ดังนั้น การเลือกหุ้นส่วนธุรกิจ ที่จะมาร่วมกันบริหารงานด้วย ควรจะต้องดูที่ “คุณสมบัติที่เหมาะสม” มากกว่า “สายสัมพันธ์” นะครับ แต่ถ้ามีคุณสมบัติที่เหมาะสม และมีสายสัมพันธ์กันมาก่อนก็ยิ่งดี โดยต้องแยกแยะออกว่า เรื่องงานส่วนงาน มีอะไรผิดพลาดต้องตำหนิติติง สั่งสอนกันได้ มีปัญหาช่วยกันแก้ไขไม่กล่าวโทษกันไปมา แบบนี้สายสัมพันธ์ที่ดีจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ

เขียนบทความโดย มงคล ตันติสุขุมาล
วิทยากรฝึกอบรม ติดต่อ โทร 0817168711 email: mingbiz@gmail.com

4 ความคิดเห็น:

  1. ผมเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้เรียนสูงอะไรมากฟายเหมือนกับคนอื่นเค้า
    แต่ผมก็อยากที่จะทำธุรกิจผมเป็นคนที่แปลกอย่างคือผมอยากทำอะไรที่ไม่เคย
    ทำไม่ถนัดที่จะทำไม่รู้สิผมคิดว่าการได้ทำอะไรใหม่มันก็เหมือนกับคุณ
    ได้เปิดอ่านหนังสือเล่มใหม่ใคร่ที่ว่าอย่าเลยทำไม่ได้หลอกมันยาก
    ไม่เคยทำแล้วถ้าคุณไม่คิดที่จะอ่านไม่คิดแม้แต่จะกล้าอ่านหนังสือ
    เล่มนี้แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าคุณทำไม่ได้มันก็ต่างกับหนังสือจริงที่ว่า
    ถ้าคุณเริ่มอ่านแล้วคุณห้ามเลิกห้ามหยุดผมเป็นคนแบแนี้นะแต่ถ้าผมอ่านมันจบเมื่อไหร่หรือประสบณ์ผลสำเร็จเมื่อไหร่ผมไม่อ่านซ้ำนะผมก็อยากหาหนัง
    สือเล่มต่อไปมาอ่านทันทีบางคนชอบว่าผมว่าบ้ามันเสี่ยงนะ
    ผมไม่ใช้คนชอบเสี่ยงเกลียดเลยแหละพวกการพนันเนี่ยผมแค่
    อยากทำอะไรที่ผมชอบที่ผมรักแต่ผมไม่เคยทำที่ว่าอยากทำธุรกิจที่
    ไม่เคยทำทำไม่เป็นถ้าผมไม่รักและไม่ชอบผมไม่ทำเลยนะผมรู้สึก
    ว่าทำไปมันไม่มีความหวังเหมือนระบายมากกว่าแสดงความคิดเห็นเลย
    นะ55ต้องขอโทษด้วยนะครับสุดท้ายอยากทำธุรกิจจริงจิงครับ

    ตอบลบ
  2. จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนแต่ไม่มีเงินทุนไม่รู้จะทำงัยดีเฮ้อ...........
    ท้อแท้เหลือเกิน..

    ตอบลบ
  3. ผมต้องการผู้สนับสนุน ทุน ทำโครงการปั่นจักรยานรอบโลกครับ
    ตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ประชาสัมพันธ์โครงการฯให้แล้ว
    เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 (ฉบับเช้านะครับ)
    หากจะมีผู้จะเมตตาติดต่อได้ที่
    E-mail:mr.heroajathanish01@gmail.com
    mr.ajathanish

    ตอบลบ
  4. ผมต้องการหาทุน วิจัย โครงการต่างๆๆ แต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น พลังงานทดแทน การเกษตรแบบยั่งยืน การวิจัยระบบจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่ค่อนข้างจะใช้ทุนสูง คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วครับ....

    ถ้ามีผู้ใหญ่ใจดีสนุบสนุน ติดต่อมาได้ครับ youwut@gmail.com

    ตอบลบ